เกษียณสุข ทำอย่างไร (ตอนที่ 1)

เกษียณสุข ทำอย่างไร (ตอนที่ 1)

By…สุดารัตน์ ทิพยเทอดธนา

กองทุนบัวหลวง

ความคิดในครั้งแรกที่เขียนบทความเกี่ยวกับวัยเกษียณ ดิฉันรู้สึกว่ามันเป็นเรื่องที่ค่อนข้างไกลตัว หากเทียบกับอายุปัจจุบันของดิฉันและจะเขียนได้ดีและมีประโยชน์ไหม แต่พอได้มีเวลาทบทวนหัวข้อใหม่อีกครั้ง ก็พบว่าหัวข้อนี้เป็นเรื่องใกล้ตัวมากและสิ่งที่ดิฉันวางแผนและทำในปัจจุบัน แท้จริงแล้วมันก็เป็นการเตรียมพร้อมรับวัยเกษียณแบบกลายๆ นี่เอง ประกอบกับได้ค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมจากแหล่งต่างๆ รวมถึงคุณพ่อคุณแม่ของดิฉันเองซึ่งก็อยู่ในวัยเกษียณเช่นเดียวกัน จึงรวบรวมสิ่งต่างๆ เพื่อมาแบ่งปันรูปแบบการเตรียมพร้อมและใช้ชีวิตอย่างมีสุขในยามเกษียณ ซึ่งอาจจะพูดได้ว่าไม่มีสูตรสำเร็จตายตัว เพราะขึ้นอยู่กับ Lifestyle ของแต่ละบุคคล ซึ่งคงต้องไปปรับใช้ให้เหมาะสม

สังคมไทยทุกวันนี้ คนหนุ่มสาวมักจะแต่งงานช้าลง แต่งงานน้อยลง ทำให้มีลูกช้าลงไปด้วย ในขณะที่อีกหลายครอบครัวยุคใหม่ก็ไม่ต้องการมีลูก การที่จะมาหวังพึ่งพาให้ลูกหลานเลี้ยงดูยามแก่เฒ่าจึงเรื่องยากกว่าเมื่ออดีต ชะดีชะร้ายยามเกษียณแล้ว ลูกๆ อาจจะยังต้องพึ่งพาเราอยู่ด้วยซ้ำ

สภาพัฒน์ฯ คาดการณ์ว่าปริมาณประชากรไทยที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปในปี 2025 จะมีสัดส่วนเพิ่มเป็นร้อยละ 20 ของประชากรไทยเทียบกับปี 2000 ที่มีสัดส่วนเพียงร้อยละ 9.4  ซึ่งก็หมายความว่า ประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ(Aging Society) โดยสมบูรณ์แบบนั่นเอง

มาถึงตรงนี้บางคนอาจจะสงสัยนิยามของ “สังคมผู้สูงอายุ” ว่าเป็นอย่างไร

ตามนิยามของสหประชาชาติ เมื่อประเทศใดมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปเป็นสัดส่วนเกินร้อยละ10 หรืออายุ  65 ปีขึ้นไปเกินร้อยละ 7 ให้ถือว่าประเทศนั้นได้ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ และจะเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์เมื่อสัดส่วนดังกล่าวเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ20 และ 14 ตามลำดับ (สำหรับประเทศไทยเกณฑ์การเกษียณอายุโดยทั่วไปคือ 60 ปี และใน พ.ร.บ.ผู้สูงอายุ พ.ศ. 2546 ก็ให้คำนิยามไว้ว่าผู้สูงอายุคือผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป)

จากแนวโน้มโครงสร้างประชากรไทยดังกล่าว ทำให้หน่วยงานราชการต่างๆ รวมทั้งสื่อมวลชนต่างพากันออกมาแสดงความกังวลกันอย่างแพร่หลาย ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ดี เพราะเป็นการกระตุ้นเตือนและเตรียมพร้อมรับสิ่งที่จะเกิดขึ้นแน่ๆ ในอนาคต  และในฐานะที่ดิฉันและอีกหลายๆ ท่านที่กำลังอ่านบทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทย ก็ต้องคิดว่า “จะทำอย่างไรที่จะไม่ให้ตัวเราเป็นหนึ่งในภาระของสังคมและภาระของลูกหลานเราในอนาคตได้”  

นั่นสิ แล้วจะทำยังไงล่ะ คำตอบก็คือ “เตรียมพร้อม” 

แต่คำว่าเตรียมพร้อมน่ะ พูดง่าย ทำยาก รึเปล่า มาดูกันค่ะ

1. เตรียมใจ ในการเข้าสู่วัยเกษียณ คนมักจะเหงา เครียดและกังวล เพราะจากคนที่ต้องตื่นเช้าแต่งตัวไปทำงานทุกวัน พอเกษียณแล้วจะเหมือนไม่มีค่า ไม่มีอะไรทำ แต่ถ้าคิดแบบนั้นก็จะยิ่งทำให้เราไม่มีความสุขเข้าไปใหญ่ ทำไมเราไม่เปลี่ยนมุมมองใหม่ล่ะคะ เพราะพอเราเกษียณก็จะมีเวลามากขึ้นไม่ต้องเร่งรีบ ได้ทำในสิ่งที่อยากทำในช่วงยังทำงานอยู่แต่ไม่มีเวลา เช่น อ่านหนังสือกองโตที่ซื้อมาในช่วงก่อนเกษียณแต่ไม่มีเวลาอ่าน เดินทางท่องเที่ยว ได้เข้าเรียนอะไรที่ไม่เคยเรียน อย่างเช่น ดนตรี ศิลปะ วาดภาพ หรือจะอาสาเป็นตัวแทนลูกบ้านในหมู่บ้านที่เราอยู่เพื่อร่วมพัฒนาชุมชน เป็นต้น

แค่นี้ก็แทบไม่มีเวลาเหงาแล้วค่ะ ดีเสียอีกพอเกษียณก็ได้มีเวลาอยู่กับลูกหลานมากขึ้น แต่กรณีที่ผู้เกษียณอยู่โดดเดี่ยวไม่ได้แต่งงาน หรืออยู่กันตามลำพังสองตา-ยาย ก็จะยิ่งสบาย เพราะไม่มีภาระให้ต้องคิด ก็จะได้ทำในสิ่งที่อยากทำได้เต็มที่เลยค่ะ

2. เตรียมกาย เราต้องรักษาสุขภาพตั้งแต่เนิ่นๆ เพราะค่าใช้จ่ายทางสุขภาพจะมากขึ้นตามวัย เป็นเงินที่มากเอาการในช่วงที่เราเกษียณแล้ว แต่ปัญหานี้จะหมดไป ถ้าเราเตรียมพร้อมด้วยการดูแลสุขภาพ และทำประกันสุขภาพไว้ตั้งแต่เนิ่นๆ

เรื่องนี้ รศ.นพ.ปัญญา ไข่มุก นายกสมาคมวิทยาศาสตร์การกีฬาแห่งประเทศไทย กล่าวไว้ ดิฉันอ่านเจอแล้วชอบมากเลยค่ะ ท่านพูดไว้ว่า “ร่างกายที่แข็งแรงจะต้องเคลื่อนไหว จิตใจที่แข็งแกร่งจะต้องนิ่ง การขยับออกกำลังกายทุกระบบจะทำให้คนที่มีอายุมากแข็งแรงได้ ส่วนเรื่องจิตใจ ถ้าเราคิดโน่นคิดนี่สับสนวุ่นวายตลอดเวลา จะทำให้จิตใจไม่มีพลังพอที่จะครองตนให้สุขุม ให้มีสติ คิดตัดสินอะไรไม่ค่อยได้ เวลาเจอปัญหา เจอความน้อยใจ จะทำให้จิตใจเราตกลง พลอยทำให้ร่างกายเราเสียหายเจ็บป่วยไปด้วยอีก” ดังนั้น การเตรียมใจและเตรียมกายจะต้องสัมพันธ์กัน แยกจากกันไม่ได้ค่ะ

ทั้งนี้ การเตรียมพร้อมยังมีเรื่องอื่นๆ ที่ต้องเตรียมอีก นอกเหนือจากนี้ ส่วนจะเป็นเรื่องอะไรบ้าง รอติดตามได้ในครั้งต่อไปค่ะ