เริ่มต้นลงทุน จะว่ายากก็ยาก จะว่าง่ายก็ง่าย

เริ่มต้นลงทุน จะว่ายากก็ยาก จะว่าง่ายก็ง่าย

By…เสกสรร โตวิวัฒน์ CFP®

BF Knowledge Center    

เดี๋ยวนี้คนไทยเปิดกว้างและยอมรับเรื่องการจัดสรรเงินออมและบริหารเงินลงทุนมากขึ้น จากเดิมที่หลายๆ คนเลือกแต่การฝากเงินกับธนาคารเพราะเป็นทางเลือกเดียวที่รู้จัก คุ้นเคยเมื่อเดินเข้าธนาคาร แต่ในวันนี้เมื่อธนาคารมีผลิตภัณฑ์ทางการเงินใหม่ๆ มาเสนอขายจึงเริ่มสนใจ และพบว่านอกจากเงินฝากธนาคารแล้ว ยังมีช่องทางการลงทุนอีกมากมาย ที่ไม่เคยรู้มาก่อน

เงินฝากแคมเปญพิเศษ กองทุนรวม ประกันชีวิตแบบออมทรัพย์ ตั๋วแลกเงน หุ้นกู้ กองทุนอสังหาริมทรัพย์ บริการเปิดพอร์ตซื้อขายหุ้น สิ่งต่างๆ เหล่านี้ปัจจุบันสามารถหาได้จากสาขาธนาคารทุกสาขาในเมืองไทย

มีทางเลือกมากมาย แต่ทำไมหลายคนยังไม่เริ่มลงทุน ทั้งที่รู้ว่ามันดีกว่าการฝากเงินทั้งหมดไว้ที่บัญชีธนาคารเพียงอย่างเดียว

ไม่รู้จะเริ่มต้นตรงไหน  นี่คือคำตอบของคนส่วนใหญ่

การเริ่มต้นลงทุนก็ไม่ต่างกับการที่คุณจะเริ่มต้นทำอะไรสักอย่าง

มันขึ้นกับวิธีการ เช่น จะลดน้ำหนัก บางคนเริ่มทันที คุมอาหาร อดข้าวเย็น ทำอยู่ 3วันแล้วก็ทนไม่ไหว กลับมากินเหมือนเดิม บางคนศึกษาหาข้อมูลเลือกเปรียบเทียบข้อดีข้อเสีย หาวิธีที่ดีที่สุดที่เขาว่ากัน ค้นในเว็บไซต์ หาอยู่นานไม่ได้เริ่มสักทีเพราะตัดสินใจเลือกสิ่งที่คิดว่าดีที่สุดไม่ได้

การลงทุนที่ได้ประโยชน์มากที่สุด ก็คือ การลงทุนที่เกิดจากการวางแผนการเงินที่ถูกต้อง มีการประเมินความต้องการของตนเอง กำหนดวัตถุประสงค์ แบ่งเป็นระยะสั้น กลาง ยาว ประเมินข้อจำกัดของตนเอง ครอบครัว กระแสเงินสดที่หาได้ และค่าใช้จ่ายต่างๆ ประเมินความเสี่ยงที่ยอมรับได้ เลือกวิธีการ ประเภทผลิตภัณฑ์ และกระจายการลงทุนไปอย่างเหมาะสม สำหรับคนที่ต้องการเริ่มต้น เจอแบบนี้เข้าไปหลายคนที่อยากเริ่มต้น ก็พับแผนกลับไปฝากเงินอย่างเดิม เพราะรู้ว่าต้องทำอะไร แต่ไม่รู้ว่าต้องทำอย่างไร เริ่มต้นตรงไหน และปรึกษาใครดี

วิธีการเริ่มต้นลงทุนที่ง่ายและเหมาะสมที่สุดสำหรับคนที่อยากเริ่มต้น แต่ยังไม่เคยลงทุน ก็คือ การทยอยลงทุนแบบค่อยเป็นค่อยไป แม้จะไม่ใช่สิ่งที่ดีที่สุด แต่ก็ทำให้เกิดการเริ่มต้น

ง่ายที่สุดคือการค่อยๆ ปรับเปลี่ยนจากสิ่งที่คุ้นเคยมายังการลงทุนที่ใกล้เคียงกัน ลงมือทำพร้อมทั้งค่อยๆ ศึกษา ใช้เงินเริ่มต้นที่ละน้อยเพื่อเรียนรู้ อะไรที่เข้าใจแล้วก็ค่อยๆ เพิ่มเงินลงทุน

จากเงินฝากกระแสรายวัน ออมทรัพย์ – กองทุนบริหารสภาพคล่อง เช่น บัวหลวงธนทวี บัวหลวงตราสารหนี้ภาครัฐ ที่ความเสี่ยงต่ำมาก สภาพคล่องสูงซื้อขายได้ทุกวันทำการของธนาคาร ต่างกันเพียงเมื่อต้องการใช้เงินให้ขายคืนก่อน 1 วันทำการ ผลตอบแทนแม้จะไม่มากเหมือนกองทุนหุ้นแต่โดยรวมก็ดีกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์

จากเงินฝากประจำ – กองทุนตราสารหนี้แบบมีกำหนดระยะเวลา (Term Fund) เช่น บัวหลวงธนสารพลัส อายุประมาณ 6 เดือน หรือ 1 ปี ซึ่งจะคาดการณ์ผลตอบแทนล่วงหน้า และเปิดเผยให้ผู้ลงทุนทราบเป็นแนวทาง

ซื้อทองเก็บ – กองทุนทองคำ เช่น บัวหลวงโกลด์ฟันด์ สำหรับคนไทยที่คุ้นเคยกับการซื้อทองคำ ทยอยเก็บสะสม แต่ทุกวันนี้ ทองคำ 1 สลึง 1 บาท แพงมากเกินกว่าระดับการทยอยสะสม  กองทุนทองคำที่ให้ผลตอบแทนเสมือนการซื้อทองคำแท่ง ซื้อง่ายขายคล่องผ่านธนาคาร จึงเป็นทางเลือกที่สามารถทดแทนกันได้

อยากซื้อหุ้น อยากเล่นหุ้น – กองทุนหุ้น ที่มีให้เลือกมากมาย แต่ถ้าไม่รู้จะเลือกแบบไหน ก็ขอแนะนำให้เลือกกองทุนที่มีนโยบายลงทุนแบบพื้นฐาน ไว้ก่อน ถ้าอยากได้รับเงินปันผลระหว่างทาง เพื่อความสบายใจ ให้รู้สึกว่าลงทุนแล้วได้อะไรกลับคืนมา ก็เลือกกองที่มีนโยบายจ่ายเงินปันผล (แนะนำให้เลือกหัก ณ ที่จ่าย 10%ไว้ก่อน) แต่ถ้ารับเงินแล้วไม่รู้จะทำอะไร อยากเก็บออมระยะยาวให้ลูก หรือให้ตัวเอง ก็เลือกแบบไม่มีนโยบายจ่ายปันผล ให้ผลตอบแทนพอกพูนอยู่ในกองทุนไปเรื่อยๆ

สุดท้าย เมื่อต้องการเริ่มต้น กองทุนตราสารหนี้เพื่อบริหารสภาพคล่องข้างต้น ไม่ต้องหาจังหวะซื้อขายสามารถเข้าลงทุนได้ทันที ตามเงินที่อยากลอง เพราะซื้อง่าย เข้าใจง่าย ส่วนทองคำและหุ้น ที่กังวลกับความผันผวน ข่าวคราวต่างๆ ที่เกิดขึ้นในปีนี้ ซื้อไปก็กลัวติดดอย  แนะนำให้ทยอยซื้อ อย่ารอ เริ่มทีละน้อยไปก่อน เพราะเงิน 500 บาท ก็เริ่มต้นลงทุนกับกองทุนบัวหลวงได้แล้ว

ถ้ารอก็จะไม่ได้เริ่มต้นกันสักที