กองทุนหุ้นกับการซื้อราคา par 10 บาท

กองทุนหุ้นกับการซื้อราคา par 10 บาท

By…เสกสรร โตวิวัฒน์ CFP

ปัจจุบันมีความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจ ในแวดวงกองทุนรวมอยู่ 2 ประเด็น นั่นคือ ความผันผวนของตลาดหุ้นทั่วโลก และกองทุนออกใหม่ตามเทรนด์ที่น่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็น กองทุนหุ้นกิจการโดดเด่นในอนาคต กองทุนหุ้นเทคโนโลยี หุ้น AI หรือกองทุนที่เลือกสรรหุ้นในกิจการที่ได้ประโยชน์จากการเติบโตของประชากรในเอเซีย

เมื่อทั้ง 2 ประเด็นเกิดขึ้นพร้อมกัน ก็เกิดคำถามและความกังวลเกิดขึ้นตามมา

หากสนใจกองทุนออกใหม่เหล่านั้น ควรจะซื้อที่ราคา IPO 10 บาทเลย  หรือรอวันที่ราคาตกลงต่ำกว่า 10 บาทก่อนค่อยซื้อ

เพราะตลาดผันผวนเหลือเกิน ที่ผ่านมา กองทุนออกใหม่โดยเฉพาะกองทุนหุ้น มักจะมีราคาต่ำกว่า 10 บาท ให้ได้เห็นกันเสมอ

อย่างแรกที่อยากทำความเข้าใจ คือ การซื้อ IPO 10 บาท นั่นคือการเริ่มต้นลงทุนกับกองทุนนั้นๆ ตั้งแต่วันแรกและเมื่อมีการคำนวณราคา NAV แต่ละวัน ราคา NAV ก็จะเคลื่อนไหวขึ้นลงตามราคาและสัดส่วนของหุ้นและสินทรัพย์ในพอร์ต

ถ้าคาดหวังว่าจะซื้อที่ราคา 10 บาท แล้วราคาจะต้องไม่ลดลงเลย แปลความได้ว่า ต้องการให้วันที่เริ่มต้นลงทุนของกองทุนนั้นคือวันที่ราคาหุ้นในพอร์ตที่ลงทุนต่ำที่สุด จากนี้ไปมีแต่ราคาเพิ่มขึ้น หรือคือการทำนายล่วงหน้าว่าหลังจากวันจดทะเบียนกองทุนนั้นหุ้นในพอร์ตจะเพิ่มขึ้นเท่านั้น ห้ามลดต่ำลงกว่าวันจดทะเบียน ซึ่งในโลกของการลงทุนไม่มีใครรู้ว่าวันนั้นคือวันไหน

เรื่องนี้ต้องย้อนกลับไปที่วัตถุประสงค์ของการลงทุน ผ่านกองทุนรวม

  1. กองทุนหุ้นย่อมมีความผันผวน
  2. การลงทุนกองทุนหุ้นควรเป็นการลงทุนระยะยาว
  3. เชื่อว่าการลงทุนระยะยาวจะช่วยลดความผันผวนระหว่างทางและสร้างกำไรให้กับการลงทุนนั้นได้

อย่าลืมว่านี่คือแก่นแท้ พื้นฐานของการลงทุนในกองทุนหุ้นครับ

กลับมาเรื่องการซื้อที่ IPO ดี หรือ หลัง IPO ตอนที่ราคาต่ำกว่า 10 บาท แบบไหนดีกว่ากัน

จะเลือกแบบไหนก็ทำได้ทั้งนั้น แต่สำคัญควรเลือกให้เหมาะกับตนเอง และยอมรับในสิ่งที่เลือก

ถ้าเป็นผู้ลงทุนตามหลักการอยู่แล้ว คือ ลงทุนยาวๆ หรือเลือกลงทุนแบบถัวเฉลี่ย เลือกกองทุนเพื่อเชื่อมั่นว่าจะสร้างผลตอบแทนที่ดีให้ได้ในอนาคต  ก็สามารถซื้อลงทุนตั้งแต่ IPO ไปได้เลย

มีข้อดี คือ ไม่ต้องไปกังวลกับราคารายวัน เป้าหมายคือเรื่องอนาคตข้างหน้ามากกว่า  ไม่ต้องเสียเวลาคอยเฝ้า ติดตามตลาด นั่งดูราคารายวัน

อีกปัญหาของการเฝ้าราคารายวันคือ แล้วราคาไหนกันแน่ คือราคาที่เหมาะสมในการซื้อ

เหตุการณ์สมมุติ…..

ประกาศ NAV วันแรก   9.9871  วันถัดมาจะซื้อหรือไม่ หรือรอให้ต่ำกว่านี้ก่อน ไหนจะค่าธรรมเนียมการซื้อซึ่งส่วนใหญ่อยู่ประมาณ 1%ขึ้นไปอีก

วันถัดมา NAV 10.0011 รอต่อไป

วันถัดมา NAV 9.8554  วันถัดมา จะซื้อหรือรอก่อน เพราะคิดแล้วก็พอๆ กับ IPO เพราะมีค่าธรรมเนียมด้วย

ถ้า NAV วันถัดๆ มา ขึ้นๆ ลงๆ เช่น 9.8100, 9.8944, 9.7510, 9.7111………..

ปัญหากับนักลงทุนที่เลือกรอซื้อหลัง IPO จะเกิดขั้นทันที นั่นคือ ความกังวลว่าพรุ่งนี้ ราคาจะเป็นอย่างไร ซื้อได้หรือยัง ซื้อได้เมื่อไร ซึ่งก็ย้อนกลับไปวังวนเดิม นั่นคือ การรอราคาให้ต่ำกว่า 10 บาท คือการนำเรื่อง market timing มาปนกับการลงทุนระยะยาว ซึ่งเป็นสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยงเป็นอย่างยิ่ง ถ้าหากเราไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญ หรือเกาะติดกับตลาดนั้นๆ อย่างแท้จริง  และในที่สุดมักจะไม่เกิดการลงทุนจริงกับผู้ลงทุนกลุ่มนี้ หลังการรอคอยไปเรื่อยๆ

โดยเฉพาะกองทุนต่างประเทศใหม่ๆ ที่ถูกออกแบบมาให้ลงทุนในหุ้นบางกลุ่มเฉพาะ ซึ่งยากต่อการติดตามราคารายวัน ไม่นับว่ากองทุนต่างประเทศหลายกองทุน จะประกาศราคา NAV ตามหลัง 1-2 วัน ซึ่งทำให้การคาดการณ์ราคา NAV ทำได้ยากมาก

แล้วถ้าอยากจะรอคอยจริงๆ ทำได้ไหม ควรทำไหม

ทำได้ เพราะเงินเป็นของเรา การตัดสินใจซื้อกองทุนเป็นของเรา

แต่ผู้ลงทุนควรกำหนดการตัดสินใจของตนเองให้ชัดเจน เพื่อไม่ให้พลาดการลงทุนในกองทุนนั้น  เช่น

ทางเลือกที่ 1 

เลือกลงทุนในช่วง IPO ก่อนส่วนหนึ่ง เช่นลงทุนประมาณ 40% ของเงินที่ตั้งใจลงทุน อีก 60% ค่อยแบ่งเป็น 3 ก้อน แล้วทยอยลงทุนใน 3 เดือนข้างหน้า เดือนละ 20% ในราคาที่เห็นว่าเหมาะสม ถ้าอยากเลือกเอง เป็นการกระจายความเสี่ยง ซึ่งหากผ่านไปจนสิ้นเดือนแล้ว ยังไม่ได้ลงทุน บังคับตนเองลงทุนในวันทำการสุดท้ายของเดือนเสีย ไม่ว่าราคาจะเป็นเท่าไร เพื่อไม่ให้พลาดโอกาสลงทุน

ทางเลือกที่ 2

เลือกลงทุนในช่วง IPO ก่อนส่วนหนึ่ง เช่นครึ่งหนึ่งของเงินที่ตั้งใจ ส่วนอีก 50% กำหนดราคาเป้าหมายให้ชัด เช่น จะลงทุนอีก 25% หากราคา NAV ลดลงมาแตะ 9.50 บาท ในเวลารอคอยที่กำหนด เช่นภายใน 1 เดือน ถ้าไม่ลงมาแตะ 9.50บาท ก็ต้องลงทุนในวันทำการสุดท้ายไม่ว่าราคาจะเป็นเท่าไรเพื่อไม่ให้พลาดโอกาสการลงทุน  ส่วนอีก 25% จะลงทุนเมื่อราคาลงมาแตะ 9 บาท และเช่นกันหากราคาไม่ลงมาแตะ 9 บาท ในช่วงที่กำหนด ก็ให้ซื้อทันทีทีในวันทำการสุดท้ายของช่วงที่กำหนดเช่นกัน

การกำหนดเป้าหมายลงทุนเช่นนี้ เป็นการผสมผสานรูปแบบการลงทุนสำหรับคนที่ต้องการใช้ market timing ผสมผสานในเวลาลงทุน และต้องมีวินัยสูง ไม่เปลี่ยนแผน ไม่เลื่อนเป้าหมายโดยไม่มีเหตุผลอันควร

แต่ถ้าใครที่ไม่ได้มีเวลาติดตามราคาหน่วยลงทุน สภาวะตลาด หรือไม่มีความชำนาญ การลงทุนระยะยาว โดยลงทุนตั้งแต่ช่วง IPO ไปเลย ก็เป็นทางออกที่ดี และไม่วุ่นวายครับ