ยานยนต์ไทยจะถูกกระทบแค่ไหน หากทรัมป์เตรียมขึ้นภาษีนำเข้า ?

ยานยนต์ไทยจะถูกกระทบแค่ไหน หากทรัมป์เตรียมขึ้นภาษีนำเข้า ?

รมณ ไชยวรรณ

Macro Analyst

Fund Management Group

BF Economic Research

  • การกีดกันทางการค้าโลกกำลังเป็นประเด็นร้อนแรง ล่าสุด สหรัฐฯ อยู่ระหว่างการพิจารณาขึ้นภาษีนำเข้าสินค้ายานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์จากประเทศคู่ค้า โดยมีกำหนดแถลงในวันที่ 19-20 ก.ค. นี้
  • สหรัฐฯ เป็นตลาดส่งออกยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์อันดับ 8 ของไทย ด้วยสัดส่วน 3.8% ของการส่งออกยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ไทยทั้งหมด หากสหรัฐฯ ประกาศเรียกเก็บภาษีนำเข้ายานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์จากประเทศคู่ค้ารวมถึงไทยในอัตรา 20-25% จะมีผลให้ภาษีนำเข้าเพิ่มขึ้นอย่างน้อยคิดเป็นมูลค่าในกรอบประมาณ 196.9-247.6 ล้านดอลลาร์ฯ ตามลำดับ หรือคิดเป็น 0.7-0.9% ของการส่งออกไทยไปยังสหรัฐฯ ทั้งหมด
  • การกีดกันการนำเข้าของสหรัฐฯ อาจทำให้เกิดผลกระทบต่ออุตสาหกรรมยานยนต์โลกเป็นวงกว้าง เนื่องจากสายการผลิตรถยนต์เชื่อมโยงกันเป็นห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain)

สถานการณ์การกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน นับเป็นประเด็นร้อนแรงที่มีผลต่อสถานการณ์การค้าโลกในขณะนี้ หลังจากที่สหรัฐฯ ได้ ประกาศเรียกเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากประเทศคู่ค้า (Safeguard) เพิ่มขึ้นในสินค้ากลุ่มเครื่องซักผ้า (สูงสุด 50%) และแผงโซล่าเซลล์ (30%) ตามมาด้วยการปรับเพิ่มภาษีสินค้าเหล็ก (25%) และอลูมิเนียม (10%)

นอกจากนี้ มาตราการดังกล่าว ยังได้บานปลายไปยังการเก็บภาษีนำเข้าเหล็กและอะลูมิเนียมจากประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะสหภาพยุโรป (EU) แคนาดา และเม็กซิโก จึงไม่เป็นที่น่าประหลาดใจที่กลุ่มประเทศดังกล่าวจะออกมาตอบโต้ด้วยการประกาศเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ เช่นกัน นำมาซึ่งแนวโน้มที่ปัญหาการกีดกันทางการค้าที่จะยืดเยื้อออกไป

สถานการณ์ล่าสุดดูเหมือนจะยิ่งตึงเครียด เมื่อสหรัฐฯ ได้ประกาศให้การเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนในอัตรา 25% รอบแรก วงเงินรวม 3.4 หมื่นล้านดอลลาร์ฯ ในสินค้าไฮเทค มีผลบังคับใช้แล้วเมื่อวันที่ 6 ก.ค. ที่ผ่านมา ขณะที่ รอบสองอีก 1.6 หมื่นล้านดอลลาร์ฯ ในสินค้าเคมีภัณฑ์และรถยนต์ ยังไม่มีกำหนดเวลาที่ชัดเจน สำหรับจีนนั้น เตรียมพร้อมตอบโต้ด้วยการจะขึ้นภาษีในมูลค่าเท่ากันที่ 3.4 หมื่นล้านดอลลาร์ฯ ในสินค้าเกษตร และรอบสองอีก 1.6 หมื่นล้านดอลลาร์ฯ ในสินค้าพลังงาน

ทั้งนี้ สิ่งที่เป็นประเด็นที่ควรจับตาในระยะต่อไปคือ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ อยู่ระหว่างกระบวนการไต่สวนตามมาตรา 232 ของกฎหมาย Trade Expansion Act ปี 1962 ที่ระบุว่า การนำเข้ายานยนต์อาจส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมภายในซึ่งเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคง และหากผลการไต่สวนมีมูลก็อาจทำให้ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ตัดสินใจขึ้นภาษีนำเข้าสินค้ายานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์จากประเทศคู่ค้าต่างๆ ไม่เพียงจีนเท่านั้น ซึ่งนับว่าเป็นประเด็นที่จะมีผลกระทบต่ออุตสาหกรรมยานยนต์โลกเป็นวงกว้าง เนื่องจากสหรัฐฯ นำเข้าสินค้ายานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์มากเป็นอันดับหนึ่งของโลก ด้วยสัดส่วนการนำเข้ากว่า 20.2% ของการนำเข้าสินค้ายานยนต์โลกทั้งหมด และด้วยสายการผลิตรถยนต์ที่เชื่อมโยงกันเป็นห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ก็น่าจะส่งผลให้ผลดังกล่าวกระทบไปยังอุตสาหกรรมยานยนต์โลกเป็นวงกว้าง  

ไทยในฐานะผู้ผลิตยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์อาจได้รับผลกระทบจากมาตรการเรียกเก็บภาษีนำเข้ารถยนต์จากสหรัฐฯ

ปัจจุบันไทยเป็นผู้ส่งออกยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์เป็นอันดับที่ 14 ของโลก โดยยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์เป็นสินค้าส่งออกสำคัญอันดับสาม มีสัดส่วนประมาณ 12% ของการส่งออกทั้งหมดของไทย ซึ่งในระยะ 10 ปี ที่ผ่านมา (2008-2017) ขยายตัวเฉลี่ยที่ 6.2% ต่อปี

นอกจากนี้ ใน 5 เดือนแรกของปี 2018 ยังขยายตัวอย่างโดดเด่นกว่า 17.6% กระทั่งเป็นแรงหนุนสำคัญให้การส่งออกของไทยในช่วงเวลาดังกล่าวขยายตัวที่ร้อยละ 11.6% สอดคล้องกับจากการขยายตัวของดัชนีอุตสาหกรรมยานยนต์ 5 เดือนแรกของปี 2018 ที่ขยายตัวสูงถึง 10.8% เหนือดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ที่ขยายตัว 3.8% สะท้อนภาพความสำคัญของอุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ได้เป็นอย่างดี

ทั้งนี้ เนื่องมาจากการสนับสนุนของภาครัฐเพื่อดึงดูดการลงทุนอุตสาหกรรมรถยนต์จากต่างประเทศเป็นระยะเวลายาวนาน ที่นอกจากจะส่งผลให้เกิดการเข้ามาขยายการลงทุนของบริษัทรถยนต์ต่างชาติโดยเฉพาะบริษัทรถยนต์สัญชาติญี่ปุ่นแล้ว ยังส่งผลให้อุตสาหกรรมสนับสนุนในห่วงโซ่การผลิตอย่างอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ขยายตัว นำมาซึ่งความเข้มแข็งของอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ของไทยที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยเป็นอย่างมาก

สำหรับประเด็นสหรัฐฯ อาจเรียกเก็บภาษีนำเข้ายานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์จากประเทศคู่ค้านั้น ไทยน่าจะได้รับผลกระทบจากการที่สหรัฐฯ เป็นตลาดส่งออกยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์อันดับ 8 (เป็นมูลค่า 1,038.2 ล้านดอลาร์ฯ คิดเป็น 3.8% ของการส่งออกยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ทั้งหมดของไทย หรือมีสัดส่วน 3.9% ของการส่งออกของไทยไปสหรัฐฯ) หากสหรัฐฯ ประกาศเรียกเก็บภาษีนำเข้ายานยนต์จากประเทศคู่ค้ารวมถึงไทย จะส่งผลให้ไทยต้องเสียภาษีนำเข้าในอัตรา 20-25% จากเดิมที่เสียภาษีในอัตรา 0-25% ตามสิทธิ์ GSP ซึ่งขึ้นกับพิกัดสินค้าที่ไทยได้รับ โดยจะมีผลให้ภาษีนำเข้าที่เพิ่มขึ้นคิดเป็นมูลค่าอย่างน้อยอยู่ในกรอบประมาณ 196.9-247.6 ล้านดอลลาร์ฯ ตามลำดับ คิดเป็น 0.7-0.9% ของมูลค่าที่ไทยส่งออกไปยังสหรัฐฯ ทั้งหมด

สินค้าที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือ รถจักรยานยนต์ (HS 871120 871130 871140 และ 871150) ชิ้นส่วนรถยนต์อื่นๆ (HS 870899) และรถยนต์นั่ง (HS 870322) ที่นอกจากจะเป็นสินค้าส่งออกหลักด้วยสัดส่วนกว่า 26.1% 17.2% และ 17.1% ตามลำดับแล้ว ปัจจุบันยังได้สิทธิพิเศษฯ GSP โดยได้รับการยกเว้นภาษีนำเข้าสหรัฐฯ (เหลือ 0%-2.4%, 0% และ 2.5% ตามลำดับ) ซึ่งหากสหรัฐฯ ประกาศมาตรการเก็บภาษีนำเข้ายานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์จากไทย จะทำให้ไทยต้องเสียภาษีนำเข้าเพิ่มสูงขึ้นที่ 17.5-20% หรือ 22.5-25% ขณะที่ สินค้ารถยนต์บรรทุก (HS 870432) จะได้รับผลประทบไม่มากนัก เนื่องจากปัจจุบันต้องเสียภาษีนำเข้าในอัตรา 25% อยู่แล้ว อีกทั้งมีสัดส่วนเพียง 1.8 % ของสินค้ายานยนต์ที่ส่งไปยังสหรัฐฯ ทั้งหมด

นอกจากนี้ การกีดกันการนำเข้าของสหรัฐฯ อาจทำให้เกิดผลกระทบต่ออุตสาหกรรมยานยนต์โลก ที่ส่งผลสืบเนื่องมายังอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทย โดยเฉพาะหากสหรัฐฯ ประกาศใช้มาตรการกับประเทศที่มีการส่งออกยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ไปยังสหรัฐฯ ในสัดส่วนที่สูง และประเทศดังกล่าวมีห่วงโซ่การผลิตรถยนต์เชื่อมโยงกับไทยอย่าง ทั้งนี้ ปัจจุบันไทยส่งออกชิ้นส่วนรถยนต์ (HS 8708) ไปยังญี่ปุ่นคิดเป็นมูลค่า 753.8 ล้านดอลลาร์ต่อปี คิดเป็นสัดส่วน 9.8% ของการส่งออกชิ้นส่วนรถยนต์ของไทยทั้งหมด

อีกทั้ง ในกรณีร้ายแรงหากสหรัฐฯ ประกาศเรียกเก็บภาษียานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์จากประเทศคู่ค้าทุกประเทศ ก็น่าจะยิ่งส่งผลให้ความเสียหายเพิ่มขึ้นไปอีก กระทั่งทำให้โครงสร้างอุตสาหกรรมยานยนต์ของโลกเปลี่ยนแปลงไปจากปัจจุบัน กระทั่งอาจทำให้ธุรกิจยานยนต์ต้องเปลี่ยนโมเดลทางธุรกิจหรือกระทั่งตัดสินใจย้ายฐานการผลิต ซึ่งเป็นที่แน่นอนว่าผลกระทบนี้จะสะท้อนไปยังอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยในระยะข้างหน้า จำเป็นต้องติดตามกระบวนการไต่สวนตามมาตรา 232 ของกฎหมายการขยายการค้าของสหรัฐฯ ซึ่งน่าจะเห็นข้อสรุปในช่วงวันที่ 19-20 ก.ค. ที่จะถึงนี้

อย่างไรก็ดี ประเทศคู่ค้ารายใหญ่ของสหรัฐฯ รวมทั้งสหภาพยุโรป (EU) จีน และญี่ปุ่น ได้พร้อมใจกันร้องเรียนต่อองค์กรการค้าโลก (WTO) ในประเด็นดังกล่าว ดังนั้น จึงอาจมีการเจรจาต่อรองทางการค้าเกิดขึ้น เพื่อป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับทุกฝ่ายก็เป็นได้

ทั้งนี้ ยังต้องติดตามมาตรการกีดกันทางการค้าอื่นๆ ของสหรัฐฯ ที่อาจทยอยออกมาอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากคะแนนความนิยมของนายโดนัล ทรัมป์ภายหลังสหรัฐฯ ประกาศเรียกเก็บภาษีสินค้าเหล็กและอะลูมิเนียม 25% จากทุกประเทศนั้นได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งตลาดหุ้นสหรัฐฯ ก็ยังเติบโต โดย กองทุนบัวหลวง มองว่า ในระยะข้างหน้ามีความเป็นไปได้ที่สหรัฐฯ จะยังเดินหน้าใช้มาตรการกีดกันทางการค้าอย่างต่อเนื่อง ไปจนถึงการเลือกตั้งกลางเทอมของสหรัฐฯ (6 พ.ย.) เนื่องจากสาเหตุในการเรียกเก็บภาษีนำเข้า ส่วนหนึ่งเป็นไปเพื่อการเรียกคะแนนเสียงก่อนหน้าการเลือกตั้ง