ผู้บริโภคมือเติบในยุคเทคโนโลยี The Series ตอนที่ 7

ผู้บริโภคมือเติบในยุคเทคโนโลยี The Series ตอนที่ 7

แม้ว่าสงครามการค้าระหว่างประธานาธิบดีทรัมป์และจีนกำลังดำเนินไปอย่างถึงพริกถึงขิง บริษัท เทสล่า ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าไฮเอนด์ของสหรัฐกลับมีแผนที่จะลงทุนตั้งโรงงานผลิตรถยนต์เทสล่าด้วยกำลังการผลิต 500,000 คันต่อปี ที่เซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน

มันเป็นเรื่องที่ชัดเจนว่า เทสล่า ซึ่งมีนายอีลอน มัสก์เป็นซีอีโอและผู้ก่อตั้งเล็งเห็นว่าตลาดรถยนต์ของจีนเป็นอนาคตของตลาดรถยนต์โลก เนื่องจากจีนมีโครงสร้างพื้นฐานที่เพียบพร้อมในการรองรับการผลิตรถยนต์ ไม่ว่าจะเป็นซับพลายเออร์ หรืออุตสาหกรรมที่สนับสนุน รวมทั้งระบบโลจิสติกส์ที่สมบูรณ์แบบ แต่ที่สำคัญที่สุด ตลาดรถยนต์จีนมีผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อมากที่สุดในโลก ในขณะที่อุตสาหกรรมรถยนต์กำลังเข้าสู่ช่วงของการเปลี่ยนถ่ายจากรถยนต์เติมน้ำมันเชื้อเพลิงไปสู่รถยนต์ไฟฟ้าที่เทสล่าเป็นผู้นำ และรถยนต์ไร้คนขับในอนาคต

ด้วยเหตุนี้ ทางเทสล่าจึงไม่ได้ให้ความสำคัญต่อนโยบายที่จะทำให้สหรัฐกลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง (Make America Great Again) ของประธานาธิบดีทรัมป์ ทรัมป์ต้องการดึงดูดให้บริษัทอเมริกันหันกลับมาลงทุนในบ้านตัวเอง เพื่อการจ้างงาน และลดการขาดดุลการค้ามโหฬาร เขาได้ลดภาษีนิติบุคคลเพื่อสร้างแรงจูงใจ และก่อสงครามการค้าไปพร้อมๆ กันกับทุกประเทศที่ได้เปรียบดุลการค้ากับสหรัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับจีนที่ได้เปรียบดุลการค้ากับสหรัฐถึง 375,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2017

ทรัมป์ขึ้นภาษีศุลากร 25% กับสินค้านำเข้าจากจีนมูลค่ารวม 34,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีผลบังคับใช้ในวันที่ 6 ก.ค. ที่ผ่านมา และจีนได้ตอบโต้อย่างทันควันด้วยมาตรการภาษีที่เทียบเท่ากัน ทรัมป์ออกอาการโทษะด้วยการขู่ว่าจะเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนในปริมาณ 500,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำให้บรรยากาศของการค้าโลกหมองลงอย่างถนัดตา เพราะว่ายังไม่มีใครรู้ว่าจุดจบของสงครามการค้าของทรัมป์คืออะไร จะเอากันให้ตายไปข้างหนึ่ง หรือเมื่อถึงจุดหนึ่งแล้วจะมีการประนีประนอมกัน

นักการเมืองจะดำเนินนโยบายหาเสียงเพื่อโชว์พาวเวอร์ก็ว่ากันไป แต่ธุรกิจก็ต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจนของตัวเองและต้องเดินหน้าต่อไป ในแง่นี้ เทสล่ามองเห็นว่าสงครามการค้าเป็นเรื่องระยะสั้น และเทสล่าเองไม่อาจที่จะมองข้ามจีนได้ เพราะว่าจีนเป็นประเทศที่มีความสามารถในการแข่งขันมากที่สุดในด้านการผลิตเพราะว่ามีเศรษฐกิจของขนาด (economy of scale) และมีผู้บริโภคที่ใหญ่ที่สุดในโลก ยิ่งจีนมีนโยบายสนับสนุนอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าแล้วเพื่อลดมลภาวะ และลดการใช้จ่ายด้านการนำเข้าน้ำมัน เทสล่ายิ่งไม่อาจที่จะพลาดในการปักธงในตลาดจีน

หุ้นของเทสล่าทะยานขึ้นกว่า 2% หลังจากสำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า เทสล่าเตรียมเซ็นเอ็มโอยูกับรัฐบาลท้องถิ่นของเซี่ยงไฮ้เพื่อลงทุนตั้งโรงงานผลิตรถยนต์เทสล่า หลังจากที่การเจรจาดำเนินอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่เดือน ต.ค. ปีที่แล้ว นายมัสก์เคยกล่าวว่า เขาต้องการให้โรงงานเทสล่าที่จีนเริ่มการผลิตในปี 2020

อย่างไรก็ตาม เทสล่าจำต้องขึ้นราคารถยนต์เทสล่ารุ่น Model S และรุ่น Model Xอีกมากกว่า 20,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อคัน เนื่องจากผลพวงของกำแพงภาษีที่ทั้งสหรัฐและจีนกำลังละเลงกันอยู่

เทสล่ายังคงประสบภาวะขาดทุน โดยในไตรมาสที่ 2 นี้ ขาดทุน 2.76 ดอลลาร์สหรัฐต่อหุ้นจากรายได้รวม 4.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หุ้นเทสล่าขึ้นไปแล้ว 7% ในปีนี้ โดยล่าสุดยืนอยู่ที่ระดับ 325 ดอลลาร์สหรัฐ

ยังไม่เห็นปฏิกิริยาของทรัมป์ผ่านทวิทเตอร์ว่าเขาจะว่าอย่างไร เมื่อได้ทราบข่าวแผนการลงทุนของเทสล่าในจีน ซึ่งสวนทางกับสิ่งที่ทรัมป์ต้องการ แต่มันค่อนข้างชัดเจนว่า เทสล่าไม่สามารถทำธุรกิจตามนโยบายการเมืองของทรัมป์ได้