ผู้บริโภคมือเติบในยุคเทคโนโลยี The Series ตอนที่ 14

ผู้บริโภคมือเติบในยุคเทคโนโลยี The Series ตอนที่ 14

เนื่องจากคนในยุคมิลเลนเนียลเติบโตขึ้นมาพร้อมกับอินเทอร์เน็ต โซเชียลมีเดีย และสมาร์ทโฟน พวกเขามีอิทธิพลสูงต่อนักการตลาดที่จำต้องปรับกลยุทธ์เพื่อที่จะเข้าถึงผู้บริโภคสมัยใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้บริโภคในตลาดอาเซียน

ในเศรษฐกิจอาเซียนที่ใหญ่ที่สุด6ประเทศ คือสิงคโปร์ มาเลเซีย ไทย อินโดนีเซีย เวียดนาม และฟิลิปปินส์ ประชาชนที่มีอายุระหว่าง 20-39 ปีมีจำนวน32% หรือ180ล้านคนในปี2015 เทียบกับ26%ในปี1975

คนวัยหนุ่มเป็นลักษณะเด่นของเศรษฐกิจเกิดใหม่อย่างอินเดีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ รวมทั้งเศรษฐกิจที่กำลังตั้งลำไม่ว่าจะเป็นบังคลาเทศ กัมพูชา ลาว เมียนมา ปากีสถาน ด้วยประชากร2,100ล้านคนรวมกัน กลุ่มประเทศเหล่านี้สามารถที่จะใช้ประชากรส่วนที่อยู่ในวัยหนุ่มสาวในการขับเคลื่อนความต้องการภายในประเทศ และผลักดันให้เศรษฐกิจมีการเจริญเติบโต

Hakuhodo Institute of Life and Living Asean (HILL-Asean) ได้ทำการศึกษาพฤติกรรมของคนยุคมิลเลนเนียลในอาเซียน โดยทำสำรวจ 8,100คนในภูมิภาคนี้ เพื่อเรียนรู้ทัศนคติและพฤติกรรมการบริโภคของพวกเขา โดยแบ่งพวกมิลเลนเนียลออกเป็น2กลุ่ม คือกลุ่มที่เกิดในทศวรรษ1980 และกลุ่มที่เกิดในทศวรรษ1990เพื่อศึกษาว่าพวกเขามีความแตกต่างกันอย่างไร

Hill-Aseanพบว่า กลุ่มคนที่เกิดในยุค1980ใช้อินเทอร์เน็ตในการช้อปปิ้ง แต่พวกเขาแคร์เกี่ยวกับประสบการณ์จริงของการช้อปปิ้ง ด้วยการกลับไปเช็คดูของจริงในร้านค้า หรือเปรียบเทียบราคาสินค้าออฟไลน์ ส่วนคนที่เกิดในยุค1990ช้อปผ่านออนไลน์อย่างเป็นธรรมชาติมาก แต่พวกเขาแคร์ต่อประสบการณ์หลังการช้อปไปแล้ว ด้วยการโพสต์ข้อความเกี่ยวกับสินค้าในโลกโซเชียล เพราะว่าพวกเขาต้องการเห็นโลกโซเชียลมีข้อมูลที่เป็นจริง

คนในยุค1980ใช้จ่ายเงินอย่างรอบคอบมากกว่าคนในยุค1990ในการช้อปออนไลน์ เพราะว่าพวกเขามีประสบการณ์ของความลำบากทางวิกฤติเศรษฐกิจ หลายคนกำลังเรียนชั้นมัธยมเมื่อพิษต้มยำกุ้งทำให้เศรษฐกิจของอาเซียนต้องตกต่ำเป็นอย่างมาก ในขณะที่คนที่เกิดในยุค1990ไม่ได้ผ่านวิกฤติโดยตรง เพราว่าพวกเขายังเล็กมากเมื่อวิกฤติต้มยำกุ้งเกิดขึ้นในปี1997-1998

เป็นที่น่าสนใจที่งานวิจัยของHill-Aseanพบว่า คนที่เกิดยุค1980ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจจะตั้งความหวังสูงในอนาคต ส่วนคนที่เกิดในยุค1990จะโฟกัสแต่ในภาวะปัจจุบัน หรือภาวะปัจจุบันที่สร้างความหวังสำหรับอนาคต

คนในยุค1980เข้าใจในศักยภาพของเทคโนโลยีโดยมองว่าโซเชียลมีเดีย หรือสมาร์ทโฟนเป็นอนาคต ส่วนคนที่เกิดในยุค1990เห็นเทคโนโลยีเป็นของที่ได้มาง่ายๆ หรือมีอยู่แล้ว โดยมองว่าดิจิทัลและโลกาภิวัฒน์จะเป็นพลังขับเคลื่อนอนาคตของพวกเขา เนื่องจากคนในยุค1990เป็นยุคแรกที่ใช้ภาษาดิจิทัล พวกเขาจึงมีความผูกพันกับอินเทอร์เน็ต หรือสมาร์ทโฟนมากกว่าคนยุค1980 โดยที่พวกเขาเห็นโลกเวอร์ชวลเป็นอีกโลกหนึ่งที่แยกออกจากโลกแห่งความเป็นจริง

การศึกษาของHill-Aseanทำให้เราเห็นคนที่เกิดในยุคมิลเลนเนียลที่สามารถแบ่งซอยออกเป็น2ช่วงว่า พวกเขามีความแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัดแม้ว่าช่วงจะอายุห่างกันประมาณ5-10ปี เนื่องจากคนในยุค1990เป็นคนที่ใช้ภาษาดิจิทัลเป็นยุคแรก ทำให้อิทธิพลของอินเทอร์เน็ต โซเชียลมีเดีย หรือสมาร์ทโฟนมีอิทธิพลต่อทัศนคติ หรือพฤติกรรมของพวกเขามากกว่าคนมิลเลนเนียลในยุค1980