Green Building: Office แนวใหม่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม

Green Building: Office แนวใหม่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม

 By…วนาลี ตรีสัมพันธ์

Portfolio Management

ไม่ว่าคุณจะคิดว่า การทำงานในอาคารที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมนั้นเป็นสิ่งจำเป็นหรือไม่ แต่การทำงานในสถานที่ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมนั้น จะช่วยสร้างบรรยากาศและสุขภาพพลานามัยที่ดีระหว่างทำงานอย่างไม่ต้องสงสัย

ข้อมูลจาก The Green Business Bureau website อ้างว่า บริษัทที่สนับสนุนสำนักงานสีเขียว (green office) นั้น จะทำให้จำนวนพนักงานที่ลาป่วยลดลงร้อยละ 20 และนอกจากช่วยให้พนักงานทำงานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้นแล้ว บริษัทยังสามารถประหยัดค่าใช้จ่าย medical benefits มากขึ้นด้วย Green Office คือ การเปลี่ยนพฤติกรรมในสำนักงานให้ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด ผ่านการใช้พลังงานอย่างรู้คุณค่า มีแนวทางกำจัดของเสียอย่างมีประสิทธิภาพ จัดการสิ่งแวดล้อมภายในและนอกอาคารในด้านอากาศ ฝุ่นละออง สารเคมี เชื้อโรคต่างๆ แสง เสียง กำหนดพื้นที่ใช้งานและพักผ่อนอย่างเหมาะสม รวมไปถึงการเลือกใช้วัสดุ อุปกรณ์ เครื่องใช้สำนักงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมด้วย

จากแนวคิดเหล่านี้เราจึงเห็น office developers ก้าวไปอีกขั้น ด้วยการสร้างอาคารรูปแบบใหม่ ที่สร้างขึ้นโดยใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพและคุ้มค่า มีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมตลอดวัฏจักรชีวิตของตัวอาคาร เริ่มตั้งแต่ขั้นตอนการเลือกพื้นที่ทำเล การออกแบบและก่อสร้าง การดูแลและซ่อมบำรุง  ไปจนถึงการทำลายตัวอาคาร ซึ่งแนวคิด “อาคารสีเขียว” (Green Building) นี้กำลังได้รับความนิยมมากขึ้นในประเทศไทย

ล่าสุดในปลายปี 2017 บริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (MQDC) ได้เปิดให้บริการศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน (Research & Innovation for Sustainability) หรือที่เรียกว่า RISC แห่งแรกในภูมิภาคอาเซียน ตั้งเป้ายกระดับวงการอสังหาริมทรัพย์ ให้เน้นการพัฒนาโครงการที่เป็นมิตรต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง และเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้อยู่อาศัยอย่างยั่งยืน

ปัจจุบันมาตรฐานในการประเมินอาคารสีเขียวที่ได้รับการยอบรับอย่างแพร่หลายคือ มาตรฐานของสภาอาคารเขียวแห่งสหรัฐอเมริกา (US Green Building Council) หรือที่เรียกกันว่า มาตรฐานแบบประเมินอาคาร LEED (Leadership in Energy & Environmental Design) ของไทยเองก็มีมาตรฐานที่ชื่อว่า TREES (Thai’s Rating of Energy and Environmental Sustainability) เช่นกัน ขณะที่มาตรฐาน WELL (The Well Building Standard) ก็เป็นอีกมาตรฐานหนึ่งที่ถูกเปิดตัวเมื่อปี 2016 โดยเป็นมาตรฐานที่ให้คะแนนอาคารเหมือนกับ LEED  แต่ WELL จะมุ่งเน้นไปที่สุขภาพและบรรยากาศที่ดีของผู้ใช้อาคาร โดยที่มาตรฐานใหม่นี้ถูกออกแบบให้สามารถใช้ร่วมกับมาตรฐาน LEED ได้ในอาคารเดียวกัน

อาคารสีเขียวที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน LEED ระดับ Platinum แห่งแรกในประเทศไทย คือ อาคาร “Park Ventures – The Ecoplex” โดยคุณสมบัติที่แตกต่างจากอาคารทั่วไป คือ มีพื้นที่สีเขียวขนาดใหญ่ คิดเป็นร้อยละ 25 ของพื้นที่ทั้งหมด ทำเลที่ตั้งโครงการเชื่อมตรงจากรถไฟฟ้า เพื่อช่วยลดปริมาณการใช้รถยนต์ของผู้ใช้อาคาร ติดตั้งกระจกอนุรักษ์พลังงาน เพื่อช่วยลดปริมาณเสียง แสงแดด และความร้อนเข้าสู่ตัวอาคาร ตลอดจนระบบควมคุมคุณภาพอากาศและอุณหภูมิ เป็นต้น

อีกหนึ่งโครงการตัวอย่างที่กำลังก่อสร้างและคาดว่าจะเปิดให้บริการต้นปี 2020 คือ โครงการ “The PARQ” ซึ่งตั้งเป้าที่จะเป็นโครงการอสังหาริมทรัพย์แห่งแรกที่ได้รับมาตรฐานอาคาร LEED Gold และ WELL Gold โดยอาคารจะมุ่งเน้นสุขภาพและบรรยากาศที่ดีของผู้ใช้อาคารเพิ่มขึ้น ด้วยการเพิ่มพื้นที่พักผ่อนและออกกำลังกาย

รวมถึงวัสดุที่ใช้ในการก่อสร้างและตกแต่งจะต้องปราศจากสารเคมีที่เป็นอันตรายอีกด้วย เราจะเห็นว่าอาคารสำนักงานที่เปิดตัวในช่วงหลัง ล้วนแต่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น โครงการ “One Bangkok” ที่ตั้งอยู่ใจกลางกรุงเทพ หรือ “The Forestia” ที่ตั้งอยู่บริเวณบางนา-ตราดก็ตาม

แนวคิด ”อาคารสีเขียว” อาจเป็นเรื่องใหม่สำหรับคนส่วนมาก และบางครั้งมีการเข้าใจผิดคิดว่าอาคารสีเขียวคือ อาคารอัจฉริยะ ที่มีการนำเอาระบบการทำงานของคอมพิวเตอร์มาเป็นสมองส่วนกลางควบคุมระบบต่างๆ ภายในอาคารให้เป็นไปอย่างอัตโนมัติ ซึ่งจะมีค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างสูง ในทางกลับกัน การสร้างอาคารสีเขียวกลับมีค่าใช้จ่ายต่ำกว่าการสร้างอาคารปกติด้วยซ้ำ เมื่อคำนึงถึงผลประโยชน์ต่าง ๆ และคุณสมบัติที่จะเสริมสร้างความยั่งยืนในระยะยาว

ดังนั้น อาคารสีเขียว จึงเป็นนวัตกรรมใหม่ที่ส่งผลบวกต่อทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นเจ้าของอาคารที่สามารถตั้งราคาค่าเช่าได้สูงกว่าอาคารแบบเดิม ผู้เช่าอาคารที่ยอมจ่ายค่าเช่าสูงขึ้น แต่ไปประหยัดค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าสวัสดิการทางการแพทย์ และค่าใช้จ่ายส่วนกลางบางส่วนแทน รวมถึงพนักงานบริษัทก็จะมีร่างกายและสุขภาพจิตดีขึ้น สามารถทำงานได้เต็มประสิทธิภาพมากขึ้น นี่เป็นเพียงการยกตัวอย่างผลประโยชน์บางส่วนเพียงเท่านั้น ซึ่งในความเป็นจริง อาคารสีเขียว ยังมีประโยชน์ต่อทุกฝ่ายมากกว่านี้อีกมาก