Economic Note : เทคโนโลยี AI … กุญแจของการเติบโตในโลกอนาคต

Economic Note : เทคโนโลยี AI … กุญแจของการเติบโตในโลกอนาคต

BF Economic Research

ฐนิตา ตุมราศวิน และ รมณ ไชยวรรณ
Macro Analyst
Fund Management Group

  • การแข่งขันที่รุนแรงขึ้นในเวทีโลก ทำให้เกิดการนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI มาใช้ในการดำเนินธุรกิจ เพื่อแก้ปัญหาผลิตภาพ (Productivity) ที่อยู่ในระดับต่ำ และปัญหาสังคมผู้สูงอายุ โดย AI จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจ
  • นอกจากการดำเนินธุรกิจแล้ว การใช้ AI จะนำมาซึ่งไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนไป ทั้งด้านการทำงาน ความบันเทิง และการเรียนรู้ (Work Play Learn) ที่พลิกโฉมไปจากเดิม โดยความสามารถในการจดจำและประมวลผลข้อมูลต่างๆ ของ AI จะช่วยตอบสนองความต้องการที่เฉพาะเจาะจงของมนุษย์ได้ดียิ่งขึ้น
  • ประเทศต่างๆ ทั่วโลกต่างกำหนดให้นวัตกรรมเป็นยุทธศาสตร์สำคัญในการขับเคลื่อนประเทศ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน โดยจากการศึกษาของ PWC ในปีที่ผ่านมา ระบุว่า AI จะทำให้จีดีพีของโลกเติบโตมากขึ้นถึง 14% ในปี 2030 ยิ่งตอกย้ำให้เห็นว่า AI จะนำมาซึ่งโอกาสทางธุรกิจอย่างมหาศาล และเป็นเทรนด์การลงทุนที่มองข้ามไม่ได้

ทะลุขีดจำกัดของมนุษย์ด้วยเทคโนโลยี AI

ด้วยการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นในเวทีโลก ทำให้การนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI (Artificial Intelligence) และหุ่นยนต์มาใช้ในการดำเนินธุรกิจจึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เพื่อแก้ปัญหาผลิตภาพ (Productivity) ที่อยู่ในระดับต่ำ รวมถึงปัญหาสังคมผู้สูงอายุ จากความก้าวหน้าด้านการแพทย์ที่ทำให้มนุษย์มีอายุยืน และแนวโน้มการอยู่เป็นโสดมากขึ้น โดยข้อมูลจาก สหประชาชาติ (UN) ระบุไว้ว่า ในปี 2050 จำนวนผู้ที่มีอายุสูง 60 ปีขึ้นไปทั่วโลกจะมีจำนวนถึง 2.1 พันล้านคน คิดเป็นสัดส่วนกว่า 21% ของประชากรทั้งหมด และเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวเมื่อเทียบกับปี 2017 ซึ่งมีสัดส่วน 13%

ในระยะข้างหน้า AI จะกลายเป็นกุญแจสำคัญของโครงสร้างพื้นฐานทางด้านเทคโนโลยี โดย AI เกิดจากการพัฒนาระบบคอมพิวเตอร์ เพื่อให้สามารถคิดหาเหตุผลได้และเรียนรู้ได้ กระทั่งมีลักษณะการทำงานใกล้เคียงกับระบบการประมวลผล และการตอบสนองของมนุษย์ อาทิ การมีประสาทสัมผัสคล้ายมนุษย์ด้วยการมีเซ็นเซอร์ (Sensors) การมีความสามารถในการปฏิสัมพันธ์ด้วยระบบประมวลผลภาษา Natural Language Processing และระบบรู้ จำและสังเคราะห์เสียงพูด (Speech Recognition and Synthesis) การมีความสามารถในการเรียนรู้ ประมวลผล และตัดสินใจด้วยการมี Machine Learning Deep Learning และ Big Data Platforms เพื่อเชื่อมโยงกับข้อมูลมหาศาลผ่าน Cloud Computing เป็นต้น

ด้วยความสามารถที่ใช้หลักการเดียวกับสมองของมนุษย์ แต่มีขอบเขตการทำงานที่ไร้ขีดจำกัดกว่า AI จึงจะนำมาซึ่งประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจ ทั้งจากการประหยัดต้นทุนในการดำเนินงานและจากการสร้างโอกาสใหม่ๆ ทางธุรกิจ ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างกำไรที่เพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ ความอัจฉริยะของ AI จะเข้ามาเติมเต็มการให้บริการในยุคที่การแข่งขันทางธุรกิจเข้มข้นได้เป็นอย่างดี กล่าวคือ AI มีความสามารถประมวลผลข้อมูลจำนวนมากในเวลาอันรวดเร็ว ส่งผลให้สามารถแก้ปัญหาต่างๆ เพื่อหาคำตอบที่ถูกต้องและเหมาะสมอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ ความสามารถในการคิดค้นกระบวนการใหม่ๆ ที่มากกว่าขีดความสามารถของสมองมนุษย์ บวกกับการที่ AI สามารถทำงานในรูปแบบเดิมซ้ำๆ โดยไม่เบื่อหน่ายและไม่นำอารมณ์เข้ามามีส่วนตัดสินใจในการทำงาน จึงนำมาซึ่งการให้บริการที่เหนือกว่า และทำให้ผู้บริโภคพึงพอใจมากขึ้น ดังนั้น จากความฉลาดและความสามารถที่กล่าวมาทั้งหมดนั้น จึงปฏิเสธไม่ได้เลยว่าอีกไม่นาน AI จะก้าวเข้ามามีบทบาทบาทต่อระบบเศรษฐกิจโลกอย่างแน่นอน ทั้งนี้ เรามองว่า ธุรกิจที่จะนำเอา AI เข้ามาใช้ในการดำเนินการประเภทแรกๆ ได้แก่ ธุรกิจการเงิน อุตสาหกรรมการผลิต ค้าปลีก และธุรกิจด้านสุขภาพ

ทั้งนี้ ประเด็นที่ว่า AI จะเข้ามาแย่งงานมนุษย์หรือไม่นั้น คำตอบคือ ขึ้นอยู่กับว่าเป็นงานประเภทใด โดยงานที่ต้องใช้ทักษะเฉพาะทาง และไม่ได้ทำเป็นรูปแบบซ้ำๆ ตายตัวนั้น โอกาสที่ AI จะเข้ามาแทนที่ก็เป็นไปได้ยาก เช่น นักออกแบบ และนักจิตวิทยา เป็นต้น ขณะที่ อาชีพที่ทำงานซ้ำๆ เป็นรูปแบบที่ไม่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมาก ก็มีโอกาสสูงที่จะถูกแย่งงาน อาทิ แคชเชียร์ และคนงานคัดแยกสินค้าในโรงงาน เป็นต้น อย่างไรก็ดี ยังต้องใช้เวลาอีกมากกว่าที่ AI จะมีเสถียรภาพพอที่จะมาทำงานแทนที่มนุษย์ได้ทั้งหมด บวกกับการปรับตัวของทั้งผู้ประกอบการและแรงงาน ก็จะสามารถทำให้มนุษย์สามารถทำงานร่วมกับ AI ได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด

สะดวกสบายกับไลฟ์สไตล์ยุคดิจิทัล

เทคโนโลยีไม่เพียงแต่เข้ามาเปลี่ยนแปลงวิธีการดำเนินธุรกิจเท่านั้น ยังเข้ามามีบทบาทต่อวิถีชีวิตของเราด้วย การใช้ AI จะนำมาซึ่งไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนไป ทั้งด้านการทำงาน ความบันเทิง และการเรียนรู้ (Work Play Learn) ที่พลิกโฉมไปจากเดิม ทั้งนี้ โลกปัจจุบันมีการเชื่อมโยงกันอย่างมากผ่านอินเทอร์เน็ต มุมมองจากทั่วทุกมุมโลกที่เปิดกว้างถึงกัน ส่งผลให้เกิดการเปิดรับสิ่งใหม่และยอมรับในความแตกต่าง สะท้อนต่อไปยังไลฟ์สไตล์ของผู้คนในยุคนี้ให้เปลี่ยนแปลงไปโดยมีความเฉพาะเจาะจง และแสดงถึงความเป็นตัวตนมากยิ่งขึ้น นำมาซึ่งความต้องการที่หลากหลายของผู้บริโภค ซึ่ง AI เองก็สามารถตอบสนองความต้องการที่เฉพาะบุคคลได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ในระยะข้างหน้า เทคโนโลยี AI จะก้าวเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันอย่างมาก จากนวัตกรรมการเชื่อมโยงสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ภายในบ้านกับเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ที่จะช่วยอำนวยความสะดวกให้กับผู้อยู่อาศัยยุคใหม่เพียงส่งคำสั่งจากแพลตฟอร์ม (Platform) ภายในบ้าน หรือจากสมาร์ทโฟน (Smartphone) ก็จะทำให้สามารถจัดการชีวิตประจำวันได้จากทุกที่ ทุกเวลา อาทิ การส่งคำสั่งไปยังเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านผ่านสมาร์ทโฟนเมื่ออยู่นอกบ้าน การจัดการระบบรักษาความปลอดภัย และระบบพลังงานภายในบ้าน เป็นต้น และด้วยขีดความสามารถที่เพิ่มขึ้นได้อยู่เสมอของ AI จะนำมาซึ่งการจดจำและประมวลผลข้อมูลต่างๆ ทำให้เปรียบเสมือนผู้ช่วยในการจัดการความเรียบร้อยภายในบ้าน อาทิ การแจ้งเตือนซื้อข้าวของเครื่องใช้เมื่อจำเป็น

นอกจากนี้ เทคโนโลยียังจะช่วยให้การทำงานของผู้คนทั่วโลกพึ่งพาระบบที่อิงกับศูนย์กลางน้อยลง โดยสามารถปรับเปลี่ยนสถานที่ทำงานได้อย่างอิสระ และยืดหยุ่นกว่าที่เคย แนวโน้มการทำงานที่บ้านจะเพิ่มสูงขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพ ผ่านการทำงานร่วมกันแบบเรียลไทม์ผ่านอินเทอร์เน็ต โดยในอนาคตออฟฟิศอาจมีการปรับลดขนาดให้เล็กลง และสามารถนำ AI เข้ามาใช้ในการประสานงานหรือเป็นผู้ช่วยพนักงานที่ทำงานอยู่ตามสถานที่ต่างๆ อาทิ ผู้ช่วยส่วนตัว และผู้ช่วยตอบอีเมล เป็นต้น

นวัตกรรมกับการเป็นมหาอำนาจในศตวรรษที่ 21

การที่ AI มีศักยภาพที่จะนำไปสู่การพัฒนาในหลากหลายด้านทั้งสำหรับธุรกิจและการใช้ชีวิตประจำวัน ทำให้ประเทศใดที่คิดค้นและประสบความสำเร็จในการใช้ AI จะมีบทบาทต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกเป็นอย่างมาก ซึ่งเหตุการณ์ที่สะท้อนการแข่งขันเพื่อเป็นผู้นำในยุคดิจิทัลได้ดี คือ กรณีพิพาททางการค้าระหว่าง 2 ขั้วมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ และจีน โดยถ้าพิจารณาแล้วจะพบว่า เป้าหมายหลักในการขึ้นภาษีของสหรัฐฯ นอกเหนือไปจากเพื่อการลดการขาดดุลทางการค้าของสหรัฐฯ ที่มีจำนวนมหาศาลกับจีนลงนั้น คือ ความกังวลต่อนโยบาย Made in China 2025 ของจีน ซึ่งรัฐบาลจีนตั้งเป้าหมายที่จะเป็นผู้นำโลกด้านเทคโนโลยีภายในปี 2025 ทั้งทางด้านการสื่อสารโทรคมนาคม (Telecommunications) รถยนต์ไฟฟ้า และหุ่นยนต์ โดยนโยบายนี้ทำให้จีนหันมาลงทุนพัฒนาสินค้าไฮเทค และเริ่มสร้างแบรนด์เป็นของตัวเองมากขึ้น จากเดิมที่แต่ก่อนโรงงานในจีนส่วนใหญ่จะรับจ้างบริษัทต่างชาติผลิตและประกอบสินค้าเป็นหลัก (Original Equipment Manufacturer: OEM) ทั้งคอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟน และเครื่องใช้ไฟฟ้า เนื่องจากจีนมีแรงงานจำนวนมาก และมีค่าจ้างแรงงานที่ต่ำกว่าหลายประเทศ

ทั้งนี้ ข้อมูลจาก National Science Board (NSB) ของสหรัฐฯ ชี้ให้เห็นว่า มูลค่าการลงทุนด้านวิจัยและพัฒนา (Research & Development: R&D) ของจีนกำลังจะแซงสหรัฐฯ ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า เนื่องจากจีนได้เร่งลงทุนใน R&D เฉลี่ยถึงปีละ 18% ในช่วงปี 2000-2015 ที่ผ่านมา เมื่อเทียบกับสหรัฐฯ ที่ลงทุนเพียงปีละ 4% ทำให้สหรัฐฯ วางแผนที่จะไม่ให้บริษัทของจีน (บริษัทที่มีชาวจีนถือหุ้นอยู่อย่างน้อย 25%) เข้ามาลงทุนธุรกิจเทคโนโลยีในสหรัฐฯ โดยอ้างเหตุผลด้านความมั่นคงเป็นหลัก

ไม่เพียงแค่จีนและสหรัฐฯ เท่านั้น แต่ประเทศอื่นๆ ทั่วโลก อย่างในภูมิภาคยุโรป เช่น สหราชอาณาจักร เยอรมนี และฝรั่งเศส และภูมิภาคเอเชียอย่างจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน และสิงคโปร์ ต่างกำหนดให้นวัตกรรมเป็นยุทธศาสตร์สำคัญในการขับเคลื่อนประเทศ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันในเวทีโลก โดยจากการศึกษาของ PWC ในปีที่ผ่านมา ระบุว่า AI จะทำให้จีดีพีของโลกเติบโตมากขึ้นถึง 14% ในปี 2030 ยิ่งตอกย้ำให้เห็นว่า AI จะนำมาซึ่งโอกาสทางธุรกิจอย่างมหาศาล และเป็นเทรนด์การลงทุนที่มองข้ามไม่ได้