ชีวิตที่เลือกเองหลังเกษียณ

ชีวิตการทำงานก็เหมือนละครที่แต่ละคนจะ มีหัวโขนใส่ให้เล่นไปตามบทบาทที่ถูกเขียนเอาไว้ บางคนโชคดีได้เป็นเจ้านาย (หรือโชคร้ายก็ไม่รู้) ก็เหมือนเป็นดาราดังที่พอจะเลือกบทได้บ้าง บางคนเป็นลูกน้องก็ต้องเล่นตามบทที่ให้มาอย่างเดียว ไม่มีสิทธิเลือกเท่าไหร่

แต่หลังจากที่เกษียณอายุแล้ว หัวโขนทั้งหมดจะถูกถอดออกทันที ทุกคนจะกลายเป็นนายของตัวเองอย่างแท้จริง บทบาทชีวิตต่อไปจะเป็นยังไงก็ขึ้นกับตัวเองล้วนๆ ไม่ได้มีใครมากำหนดอีกแล้ว

จะเกษียณอย่างสุขสำราญ เกษียณอย่างมั่นคง เกษียณอย่างลุ่มๆ ดอนๆ เกษียณด้วยใจระทึกยิ่งกว่าตอนกู้เต็มที่ไปซื้อหุ้นปั่นแล้วหุ้นตกพรวดๆ หรือเกษียณอย่างเหี่ยวเฉา ก็ขึ้นกับการวางแผนชีวิตมาตั้งแต่แรก

ซึ่งแน่ละครับ ใครที่อุตส่าห์ทำงานมาตั้งหลายสิบปี ก็ต้องอยากจะมีชีวิตบั้นปลายที่มีความสุข มีคุณภาพ ให้สมกับที่เหน็ดเหนื่อยมาตลอด ซึ่งคุณภาพชีวิตที่ดีนั้นไม่ได้จำเป็นว่าจะต้องมีบ้านหลังใหญ่ๆ มีคนรับใช้คอยปรนนิบัติทุกอย่าง มีรถหรูๆ ขับ ซึ่งถ้ามีมันก็ดีอยู่ แต่ไม่จำเป็นเสมอไปหรอกครับ

เพราะคุณภาพชีวิตที่ดีหมายถึงการมีสังคมแวดล้อมที่ดี ทำให้มีความชื่นใจในการใช้ชีวิตประจำวัน มีสุขภาพที่แข็งแรง ได้ไปท่องเที่ยวในที่ๆ อยากไป หรือได้ทำในสิ่งที่อยากทำซึ่งต้องไม่ผิดศีลธรรมจนมีใครมาคอยชี้หน้าด่าว่าเป็นคนไม่ดีในยามแก่ตัวนะครับ  

ผมว่าได้แค่นี้ก็น่าจะเปี่ยมสุขแล้ว และสิ่งเหล่านี้บางอย่างเงินก็ซื้อไม่ได้ แต่ก็มีบางอย่างที่ต้องมีค่าใช้จ่ายด้วย

สิ่งสำคัญที่ผมจะบอกก็คือ “การวางแผนการเงินนั้นต้องเผื่อสำหรับค่าใช้จ่ายที่ไม่ได้คาดคิดเอาไว้ด้วย เพื่อจะได้มีเงินมากพอที่จะใช้ชีวิตได้อย่างมีคุณภาพดี ให้สมกับที่ได้เป็นนายตัวเองอย่างแท้จริง

จริงอยู่ ความสุขที่แท้จริงนั้นขึ้นอยู่กับจิตใจและทัศนคติของตัวเอง ซึ่งลำพังการวางแผนทางการเงินเพียงอย่างเดียวคงช่วยอะไรไม่ได้เท่าไหร่ อย่างไรก็ตาม สิ่งที่การวางแผนทางการเงินจะช่วยได้มากสำหรับชีวิตหลังเกษียณก็คือ ความเป็นอยู่ กิจกรรมต่างๆ ที่อยากทำ และสุขภาพ

 

สังคมวัยเกษียณ

แต่ก่อนคนเอเชียนิยมอยู่กันเป็นครอบครัวใหญ่ๆ ในบ้านมีคนทั้ง 3-4 รุ่น คนเกษียณอายุแล้วก็ยู่บ้านกับลูกๆ หลานๆ  มีรุ่นลูกที่โตพอจะเลี้ยงตัวเองได้ไม่เป็นภาระอีก  ชีวิตการเกษียณก็ไม่เหงาหรือลำบากเท่าไหร่

แต่ปัญหาของคนสมัยนี้ก็คือ มักแต่งงานกันเมื่ออายุมากขึ้น จึงมีลูกช้าลง บางคนเกษียณแล้ว แต่ลูกๆ เพิ่งจะทำงานได้ไม่กี่ปี ยังต้องช่วยออกค่าดาวน์รถ ผ่อนคอนโด ดาวน์เมีย ให้ลูกอยู่เลย แถมยังต้องเลี้ยงดูพ่อแม่ที่แก่เฒ่าเพราะความก้าวหน้าทางการแพทย์ช่วยให้คนชรามีอายุยืนยาวมากขึ้น จึงเกิดค่าใช้จ่ายต่างๆ มากกว่าที่คิดไว้แต่แรก

ดังนั้น การวางแผนการเงินจึงต้องเผื่อแผ่ไปถึงความเป็นไปได้เหล่านี้ด้วยถ้าอยากมีชีวิตอย่างสุขสำราญในวัยชรา ไม่ควรคิดเผื่อแค่เงินที่ใช้สำหรับเลี้ยงตัวเองคนเดียว ต้องเตรียมเงินออมไว้ให้มากพอ หรือหาช่องทางลงทุนที่ให้ผลตอบแทนมากขึ้น หรือทั้งสองอย่าง

สำหรับผู้สูงอายุบางคนที่ไม่ได้อยู่กับลูกหรือไม่ได้มีคู่สมรส ชีวิตหลังเกษียณอาจจะทำให้รู้สึกเหงา อยากจะมีเพื่อนรุ่นราวคราวเดียวกันไว้สนทนาวิสาสะ เพราะจะไปคุยเรื่อง คุณสุเทพ วงศ์กำแหง กับเด็กๆ ที่คลั่งไคล้ เลดี้ กาก้า ก็คงไปกันไม่รอด

แน่ละครับ คงไม่มีผู้สูงอายุคนไหนอยากไปอยู่ในสถานพักคนชรา การอยู่ในบ้านของตัวเองแต่มีเพื่อนสนิทหรือ ญาติสนิทอยู่ในบริเวณใกล้เคียงด้วยน่าจะช่วยให้มีความสุขมากขึ้น แต่นั่นก็เป็นสิ่งที่ต้องวางแผนมาตั้งแต่เนิ่นๆ และอาจจะมีเงื่อนไขหลายอย่างที่ทำให้ไม่เป็นไปตามแผน

การวางแผนสังคมที่จะใช้ชีวิตในวัยเกษียณให้มีสุข จึงเป็นสิ่งที่ควรคิดไว้เสียก่อนที่จะต้องเจอสถานการณ์ด้วยตัวเองจริงๆ

 

ได้ทำกิจกรรมที่อยากทำ

ปัญหาที่คนวัยเกษียณมักจะพบก็คือ ความเบื่อหน่าย เนื่องจากการไม่ได้มีปฏิสัมพันธ์ร่วมในสังคมแบบที่เคยอยู่ การยังคงมีกิจกรรมทำนั้นจึงสำคัญมาก เพราะจะช่วยให้ชีวิตยังมีแรง มีกำลังเดินหน้าได้ต่อไป (Still young at heart) และจะมีประโยชน์มากถ้ากิจกรรมนั้นสามารถเพิ่มรายได้ให้กับผู้เกษียณได้ด้วย

ว่าที่จริงแล้ว วัยเกษียณเป็นแค่กฏเกณฑ์ของสังคมเท่านั้น เพราะศักยภาพของคนอายุ 60 ปียังทำอะไรได้อีกมาก เพราะคุณค่าของคนชราที่ยังคงมีอยู่นั้นคือ wisdom และ maturity ที่ยิ่งสะสมมากขึ้นตามกาลเวลา ดังนั้น แม้ว่าหลายๆ ท่านจะไม่ได้มีธุรกิจเป็นของตัวเอง ก็ควรจะหากิจกรรมอะไรบางอย่างทำเพื่อให้ยังมีสิ่งที่กระตุ้นให้เกิดแรงบันดาลใจในการใช้ชีวิตอยู่เสมอ ไม่ร่วงโรยไปตามวัย ไม่ว่าจะไปท่องเที่ยวตากอากาศ ไปสอนหนังสือเด็ก ไปช้อปปิ้งกับแก๊งเพื่อนๆ วัยโจ๋รอบดึก ไปประกวดร้องเพลง (อั๊ยยะ !) หรือเข้าวัดเข้าวา

แต่กิจกรรมหลายๆ อย่างก็มีค่าใช้จ่าย ผู้ที่คิดว่าพอเกษียณแล้วจะอยู่แต่ในบ้านอย่างเดียวเพื่อลดค่าใช้จ่าย ควรกลับมาคิดใหม่ว่าน่าจะออมเงินให้มากขึ้น

 

ร่างกายที่แข็งแรง

ความไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐ กับคำพูดของ CEO ของเราที่บอกว่า “การไม่มีลาภเป็นโรคที่ไม่ประเสริฐ” เป็นคำกล่าวที่เป็นจริงอย่างยิ่ง และเราจะเห็นคุณค่าของมันมากขึ้นเมื่อเข้าสู่วัยชรา

การมีร่างกายที่แข็งแรงนั้น นอกจากจะทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้นมากแล้ว ยังช่วยลดค่าใช้จ่ายจุกจิกได้อีกเยอะ เพราะค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับด้านสุขภาพจะเพิ่มขึ้นไปตามอายุ

แน่นอนครับ การมีสุขภาพที่ดีย่อมเป็นผลจากการดูแลสุขภาพอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ยังอายุน้อยๆ  ผู้ที่ไม่ได้ใส่ใจดูแลสุขภาพจึงอาจจะมีค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับสุขภาพมากขึ้นกว่าที่เคยวางแผนไว้

นี่เป็นอีกความจำเป็นที่สำคัญอีกประการหนึ่งของการออมเงินเผื่อให้เยอะไว้ก่อน

นอกจากการดูแลตัวเองแล้ว การจัดการสภาพที่อยู่อาศัยให้เหมาะสมก็เป็นอีกปัจจัยที่จะช่วยส่งเสริมให้สุขภาพดีขึ้นและยังช่วยลดอุบัติเหตุได้ด้วย ซึ่งสำคัญมาก เพราะการเกิดอุบัติเหตุแม้เพียงเล็กๆ น้อยๆ ก็อาจจะเป็นเรื่องใหญ่ได้สำหรับคนชรา ทั้งนี้ ผู้สูงอายุมักจะคุ้นเคยกับการใช้พื้นที่ซ้ำๆ เช่น ห้องครัว ห้องนอน ห้องรับแขก เป็นต้น จึงอาจเลือกปรับเปลี่ยนเฉพาะพื้นที่บริเวณดังกล่าวให้ง่ายและสะดวกต่อตนเองในยามสูงอายุ โดยไม่ต้องสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายมากนัก

การลงทุนปรับเปลี่ยนรูปแบบที่อยู่อาศัยเพียงเล็กน้อยนั้นคุ้มค่ามากถ้าเทียบกับความเสี่ยงถ้าหากเกิดอุบัติเหตุขึ้นนะครับ

 

สรุป

เพราะชีวิตไม่แน่ไม่นอน การวางแผนเกษียณจึงควรตั้งเป้าเงินออมให้สูงกว่าที่จำเป็นต้องใช้พอสมควร เพื่อรองรับค่าใช้จ่ายที่ไม่ได้คาดคิด

สำหรับบางท่านที่ไม่มีรายได้มากพอ การแสวงหาช่องทางลงทุนที่ให้ผลตอบแทนสูงขึ้นกว่าเงินฝากธนาคารทั่วๆ ไปน่าจะช่วยตอบโจทย์ข้อนี้ได้

และหากท่านเองไม่ได้มีความเชี่ยวชาญในการลงทุน ก็สามารถใช้บริการผู้เชี่ยวชาญในการวางแผนการเงินการลงทุนได้

เพราะหลังจากทำงานมาตลอดกว่า 30 ปี ผมว่าเราควรจะได้ใช้ชีวิตบั้นปลายที่มีคุณภาพเป็นรางวัลนะครับ

พีรพงศ์ จิระเสวีจินดา

ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร

กองทุนบัวหลวง