พร้อมเกษียณแล้วหรือยัง

ในแต่ละช่วงอายุของคน ช่วงวัยที่เราควรมีความพร้อมทางการเงินที่สุดคือระหว่าง 50-60 ปี เนื่องจากช่วงดังกล่าว คนส่วนใหญ่ควรจะอยู่ในจุดที่มีรายได้หรือเงินเดือนสูงสุด ปลอดจากภาระหนี้สินต่างๆ ไม่ว่า สินเชื่อบ้าน หรือสินเชื่อรถยนต์ เป็นช่วงเวลาที่เราควรพร้อมรับมือกับยามเกษียณที่กำลังใกล้ถึง แต่กลับมีคนจำนวนไม่น้อยประสบปัญหาการดำรงชีวิตในวัยเกษียณ แล้วอะไรคือสาเหตุที่ทำให้การวางแผนการเงินเพื่อวัยเกษียณไม่ประสบความสำเร็จ
เตรียมตัวช้า หลายคนมักจะมองข้ามประเด็นนี้ไป เมื่อเริ่มต้นวางแผนการเงินช้า ประกอบกับอายุโดยเฉลี่ยของคนเราในปัจจุบันที่ยืนยาวขึ้น ทำให้ในท้ายสุดก็เตรียมเงินไว้ไม่เพียงพอสำหรับใช้จ่าย

เลี่ยงลงทุนในหุ้น เพราะเชื่อว่ามีโอกาสขาดทุนสูง หลายคนมักย้ำว่า การลงทุนในหุ้นไม่เหมาะสำหรับแผนการลงทุนเพื่อเกษียณ ทั้งที่จริงแล้ว แม้โอกาสขาดทุนค่อนข้างสูง แต่หากเราได้ศึกษาข้อมูลที่ดีพอก่อนจะลงทุนในหุ้นโดยตรง หรืออาจเลือกลงทุนผ่านกองทุนหุ้นหรือกองทุนผสม แล้วจัดสัดส่วนการลงทุนให้เหมาะสมกับช่วงอายุของเรา ก็จะช่วยเพิ่มโอกาสให้แผนการลงทุนประสบความสำเร็จยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในภาวะอัตราดอกเบี้ยต่ำเช่นปัจจุบัน เพราะการลงทุนในเงินฝากแม้โอกาสจะสูญเงินต้นนั้นมีน้อย แต่ก็มีความเสี่ยงจากอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่เราได้

วางแผนประกันสุขภาพ สิ่งที่เราไม่สามารถคาดเดาได้ก็คือ อุบัติเหตุหรือความเจ็บป่วยในอนาคต ไม่ว่าจะโรคร้ายอย่างมะเร็งหรือโรคหัวใจ ที่ปัจจุบันมีสถิติผู้ป่วยเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ การรักษาพยาบาลโรคจำพวกนี้ต้องใช้เงินเป็นจำนวนมาก และปัจจุบันค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลก็ดีดตัวสูงขึ้นทุกปี  ยิ่งเรามีอายุมากขึ้น ค่าใช้จ่ายเหล่านี้ก็มีแนวโน้มสูงตามขึ้นเช่นกัน หากไม่วางแผนเกี่ยวกับประกันสุขภาพหรือประกันอุบัติเหตุไว้บ้าง เงินลงทุนที่ตระเตรียมไว้เพื่อยามเกษียณ ก็อาจจะหมดไปกับเหตุที่ไม่คาดคิด

การทำประกันสุขภาพถือว่าเป็นการป้องกันความเสี่ยงรูปแบบหนึ่ง สำหรับผู้เตรียมตัวเกษียณ ข้อดีของการวางแผนประกันสุขภาพตั้งแต่อายุยังไม่มากก็คือ ค่าใช้จ่ายในการประกันสุขภาพมักไม่สูงมาก เมื่อเทียบกับเริ่มทำในวัยใกล้เกษียณหรือหลังเริ่มป่วยไข้แล้ว อย่างไรก็ตามเพื่อตอบโจทย์คนวัยเกษียณที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ สถาบันการเงินต่างๆ ในเวลานี้เริ่มเสนอขายผลิตภัณฑ์เงินฝากควบประกันอุบัติเหตุ เช่น “เงินฝากประจำสำหรับผู้สูงอายุ” เป็นผลิตภัณฑ์เงินฝากที่นอกจากจะได้รับผลตอบแทนเป็นดอกเบี้ยแล้ว ยังให้ความคุ้มครองเกี่ยวด้านประกันอุบัติเหตุตลอดระยะเวลาฝากเงิน ซึ่งก็เป็นอีกทางเลือกสำหรับการลงทุน อย่างไรก็ตาม เราก็ต้องคำนึงถึงความพร้อมด้านการเงินสำหรับจ่ายเบี้ยประกันต่างๆ ที่มีแต่จะเพิ่มไปตลอดช่วงชีวิตของเรา

สุดท้าย อย่าลืมทบทวนว่าเป้าหมายของการวางแผนการเงินเพื่อเกษียณนั้น อาจต้องเปลี่ยนแปลงหรือไม่ รวมถึงต้องติดตามว่าแผนการเงินที่วางไว้ให้ผลตอบแทนตามคาดหวังหรือไม่ อย่างเช่น เมื่อเราเริ่มต้นวางแผนการเงินเพื่อเกษียณ เราก็ต้องทราบก่อนว่าในวัยเกษียณนั้น เราต้องการมาตรฐานชีวิตในแบบใด ซึ่งแต่ละคนย่อมคาดหวังไว้ต่างกันออกไป เช่นบางคนต้องการใช้ชีวิตเรียบง่ายและพอเพียง อยู่บ้านเล็กๆ ย่านชานเมือง แต่บางคนอาจหวังว่าจะใช้ชีวิตวัยเกษียณเพื่อเดินทางท่องเที่ยวทั่วโลก หรือขอใช้ชีวิตอยู่ในคอนโดฯหรูใจกลางเมือง เป็นต้น

เราควรทบทวนเป้าหมายเหล่านี้ว่า จะยังเป็นเช่นเดิมหรือไม่ เพราะอาจเป็นไปได้ที่คาดหวังว่าจะใช้ชีวิตเกษียณแบบคนโสด หรือเดินทางท่องทั่วโลกตามประสาสองคนตายาย แต่กลับต้องกลายเป็นคุณพ่อคุณแม่ลูกอ่อนขึ้นมา แผนเดินทางท่องโลกที่เตรียมไว้อาจต้องเปลี่ยนเป็นวางแผนหาโรงเรียนให้ลูกแทน ค่าใช้จ่ายที่เคยประมาณการไว้ก่อน ก็ต้องปรับเปลี่ยนตามไปด้วย หรือจากที่เคยวางแผนไว้เมื่อตอนต้นอายุ 30 ว่า ในวัยเกษียณคงจะใช้รถซิตี้คาร์คันเล็กๆ แต่เมื่อเวลาผ่านไป หน้าที่การงานเติบใหญ่ขึ้น ก็อาจเริ่มเปลี่ยนเป็นรถยุโรปแทน คราวนี้เราคงต้องเริ่มพิจารณากันใหม่ว่า จะดำเนินชีวิตตอนเกษียณตามที่เราออกแบบไว้ตั้งแต่แรก หรือจะยกระดับมาตรฐานการใช้ชีวิตขึ้นไปอีกขั้นหนึ่ง

นอกจากต้องวางแผนเกี่ยวกับชีวิตวัยเกษียณแล้ว เราต้องพิจารณาตัวเองว่าจะทำงานไปถึงอายุเท่าไหร่ แน่นอนว่าส่วนใหญ่ปรารถนาที่จะเกษียณการงานกันตั้งแต่อายุน้อยๆ ส่วนจะเป็นจริงหรือไม่นั้นถือเป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่เราจะเกษียณได้เร็วหรือช้านั้น จำต้องย้อนกลับไปพิจารณาแผนการลงทุนที่เราได้วางไว้ ว่าให้ผลลัพธ์ใกล้เคียงกับที่เราคาดหวังไว้หรือไม่ หากผลตอบแทนที่ได้รับใกล้เคียงกับแผนการเงินที่ตระเตรียมไว้ ความหวังที่จะเกษียณได้เร็วก็อาจเป็นจริงได้ แต่ถ้าผลตอบแทนที่เกิดขึ้นต่ำกว่าแผนการเงินที่วางไว้ เราอาจต้องกลับมาทบทวนมาตรฐานชีวิตที่เราคาดหวังไว้ ว่าควรต้องปรับเปลี่ยนอย่างไรบ้าง หรือถ้าไม่สามารถปรับมาตรฐานดังกล่าวได้ อาจจำเป็นต้องพิจารณาขยายอายุการทำงานออกไป หรืออาจต้องปรับแผนการลงทุน เพื่อสร้างผลตอบแทนให้เพียงพอที่จะใช้ชีวิตตามมาตรฐานที่วางไว้ได้

           จากทั้งหมดที่กล่าวมา แผนการเกษียณของเราจะประสบความสำเร็จได้นั้น ต้องเริ่มต้นจากการวางแผนทางการเงิน ยิ่งเราเริ่มต้นได้เร็วมากเท่าไหร่ โอกาสที่จะประสบความสำเร็จก็จะยิ่งมากขึ้นเท่านั้น

อรุณี ศิลปการประดิษฐ
กองทุนบัวหลวง