โอกาสและความท้าทายของธุรกิจการบินในเวียดนาม

โอกาสและความท้าทายของธุรกิจการบินในเวียดนาม

By…เมธา พีรวุฒิ

Research, Fund Management 

อุตสาหกรรมการบินในเวียดนามเป็นตัวอย่างความสำเร็จที่น่าจับตามองจากการพัฒนาอย่างรวดเร็วจนเป็นตลาดที่มีการเติบโตสูงสุดในภูมิภาคอาเซียนและเป็นอันดับต้นๆของโลก ด้วยการเติบโตเฉลี่ยราว 20% ต่อปี ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา และยังมีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่องจากจำนวนผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้นทั้งในและต่างประเทศ

แรงขับเคลื่อนสำคัญที่ทำให้ธุรกิจการบินในเวียดนามคึกคัก ไม่เพียงแต่เศรษฐกิจที่เติบโตดีสะท้อนจากรายได้ต่อหัวประชากรที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเท่านั้น สาเหตุหลักอีกประการหนึ่งเกิดจากการมีกำลังซื้อของตลาดในประเทศขนาดใหญ่ ด้วยจำนวนประชากรกว่า 96 ล้านคน ที่ราวๆ 15% จัดอยู่ในกลุ่มชนชั้นกลางที่มีการจับจ่ายใช้สอยในระดับสูงและนับวันยิ่งมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น รวมไปถึงการมีที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ในลักษณะแนวเป็นทิวเขาทอดเป็นแนวยาว จึงเป็นอุปสรรคต่อการคมนาคมทางบก โดยการเดินทางด้วยรถไฟระหว่าง นครโฮจิมินห์  กับ เมืองฮานอย ซึ่งเป็นเมืองยุทธศาสตร์หลักต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจของประเทศนั้น จะต้องกินเวลานานกว่า  36 ชั่วโมง เทียบไม่ได้กับการเดินทางโดยเครื่องบินที่ใช้เวลาเพียงแค่ 2 ชั่วโมงเท่านั้นเอง ประเด็นเหล่านี้ล้วนเป็นแรงกระตุ้นให้อุตสาหกรรมการบินเร่งพัฒนาและแสวงหาโอกาสเพื่อตอบสนองความต้องการการเดินทางในประเทศที่เพิ่มขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนั้น เวียดนามยังคงเป็นจุดหมายที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวต่างชาติมากขึ้นเรื่อยๆ จากศักยภาพของภูมิประเทศที่สวยงามโดดเด่นทั้งภูเขาและท้องทะเลที่เป็นแหล่งมรดกโลก รวมถึงอาหารการกินที่มีรสชาติดี จึงเปรียบเสมือนแม่เหล็กดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วทุกมุมโลก โดยในปีที่ผ่านมา เวียดนามมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาในประเทศ เกือบ 13 ล้านคน หรือเติบโตกว่า 30% ในปีที่ผ่านมา นำโดยนักท่องเที่ยวชาวจีนที่เดินทางเข้ามาเพิ่มขึ้นมากกว่า 40% ในช่วงปีก่อนหน้า และหากมองไปในอนาคต องค์กรการท่องเที่ยวแห่งเวียดนาม (VNAT) คาดการณ์ว่า ในปี 2020 นักท่องเที่ยวต่างชาติ จะเดินทางเข้ามาในเวียดนามมากถึง 20 ล้านคน ขณะเดียวกัน คนเวียดนามที่รวยขึ้นก็จะเดินทางออกนอกประเทศเพิ่มมากขึ้นด้วย เหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยสนับสนุนหลักให้อุตสาหกรรมการบินระหว่างประเทศในเวียดนามเติบโตดียิ่งขึ้น

จุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของธุรกิจการบินในเวียดนามนั้น เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงปลายปี 2011 ซึ่งเป็นปีที่ สายการบินเวียตเจ็ท (สายการบินต้นทุนต่ำแห่งแรกในเวียดนาม: LCC) เริ่มบินเป็นครั้งแรก ด้วยกลยุทธ์การจำหน่ายตั๋วราคาประหยัดที่ทำให้คนเข้าถึงได้ง่าย กลยุทธ์การตลาดที่ดี รวมถึงการบริหารต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ ผ่านโมเดลธุรกิจ “ขายเพื่อเช่าคืน” (sales and lease back) เครื่องบิน ส่งผลให้เวียตเจ็ทลดข้อจำกัดทางการเงินและสามารถขยายฝูงบินได้อย่างรวดเร็วครอบคลุมหลากหลายเส้นทางบิน จนเป็นดาวรุ่งพุ่งแรงในวงการการบินระดับโลก สายการบินนี้ใช้เวลาเพียง 5 ปี ก็สามารถเพิ่มส่วนแบ่งทางการตลาดการบินในประเทศได้ในระดับสูงกว่า 40%  จนปัจจุบัน เวียตเจ็ท มีจำนวนเครื่องบินที่ให้บริการทั้งสิ้นกว่า 55 ลำ และยังมีแผนเพิ่มฝูงบินเพื่อรองรับการเปิดเส้นทางใหม่และเพิ่มความถี่ในเส้นทางเดิมที่ได้รับความนิยม โดยมุ่งหวังจะก้าวขึ้นเป็นสายการบินชั้นนำในภูมิภาค การเติบโตที่โดดเด่นของ เวียตเจ็ท ได้ถูกสะท้อนในราคาหุ้นของบริษัทที่เพิ่มขึ้นกว่า 70% ตั้งแต่เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์โฮจิมินห์ซิตี้ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ของปี 2017 จนปัจจุบัน เวียตเจ็ทมีมูลค่าตามราคาตลาด (Market cap) สูงถึง 1.1 แสนล้านบาท

ในทางตรงกันข้าม เวียดนามแอร์ไลน์ สายการบินหลักแห่งชาติที่ถือหุ้นโดยรัฐบาลที่ให้บริการแบบเต็มรูปแบบ (FSC) และ เจ็ทสตาร์ แปซิฟิก (สายการบินต้นทุนต่ำซึ่งเป็นการร่วมทุนซึ่งระหว่างเวียดนามแอร์ไลน์และสายการบินแควนตัส ; สายการบินรายใหญ่สัญชาติออสเตรเลีย) กำลังเผชิญการแข่งขันที่สูงขึ้นส่งผลให้ส่วนแบ่งทางการตลาดรวมของทั้งสองสายการบินปรับตัวลงจาก 80% ในปี 2013 สู่ 55-60% ในปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เวียดนามแอร์ไลน์ ได้มีการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ใหม่ๆ ทั้งการปรับลดราคาค่าโดยสาร การเพิ่มพันธมิตรทางการบิน ตลอดจนการลงทุนด้านไอทีเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับการบริการ โดยมีการพัฒนาระบบการค้นหาเที่ยวบิน การจองตั๋วเครื่องบิน การเช็คอิน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้ดีขึ้น โดย เวียดนามแอร์ไลน์ ยังมีแผนเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เพื่อเพิ่มโอกาสการเติบโตในอนาคต

ทั้งนี้ รัฐบาลเวียดนามยังมีนโยบายผลักดันให้เกิดการแข่งขันที่มากขึ้นสำหรับตลาดการบินในประเทศ โดยมีการออกใบอนุญาตและแก้กฎหมายให้ต่างชาติลงทุนในธุรกิจการบินได้ในสัดส่วนที่สูงขึ้น เพื่อดึงดูดผู้เล่นต่างชาติรายใหม่ๆ โดยเฉพาะ อย่างยิ่งสายการบินต้นทุนต่ำ ภาพการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นจะส่งผลให้ค่าโดยสารตั๋วเครื่องบินในประเทศปรับตัวลดลง และเป็นการกระตุ้นธุรกิจการท่องเที่ยวในประเทศให้ดียิ่งขึ้น สอดคล้องกับตัวเลขที่ สมาคมการขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) คาดการณ์ว่า จำนวนผู้โดยสารในเวียดนามจะยังคงขยายตัวอย่างโดดเด่นกว่า 16% ต่อปี ต่อเนื่องไปจนถึงปี 2020 ซึ่งยังคงเป็นอัตราที่สูงเป็นอันดับต้นๆของโลกอีกด้วย นอกจากนั้น ผลบวกดังกล่าวยังรวมไปถึงธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการบิน ทั้งการบริการภาคพื้นดิน ร้านค้าปลอดภาษี ศูนย์ซ่อมบำรุงเครื่องบิน การบริการด้านอาหาร รวมถึงการขนส่งสินค้าทางอากาศอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม จำนวนผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว มาพร้อมกับความท้าทายด้านปัญหาความแออัดทางจราจรทางการบิน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ที่ ท่าอากาศยานนานาชาติเตินเซินเญิ้ต (Tân Sơn Nhất) สนามบินหลักของประเทศในนครโฮจิมินห์ ที่ปัจจุบันมีจำนวนผู้โดยสารมากเกินความจุที่สามารถรองรับได้ จึงส่งผลให้เที่ยวบินล่าช้าและถือเป็นข้อจำกัดของการเพิ่มเที่ยวบินในประเทศ เพื่อแก้ไข้ปัญหาดังกล่าว รัฐบาลเวียดนามมีแผนจะใช้งบประมาณมากถึง 1.2 แสนล้านบาท เพื่อปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานทางการบินที่จำเป็น เช่น การเพิ่มพื้นที่จอดเครื่องบินและพื้นที่ให้บริการผู้โดยสาร การพัฒนาระบบต่างๆ ที่ช่วยให้การจัดการจราจรทางอากาศดียิ่งขึ้น ตลอดจนการพัฒนาบุคลากรทางการบินให้ได้มาตรฐานในระดับสากล ยิ่งไปกว่านั้น เวียดนามยังมีแผนการสร้างสนามบินนานาชาติขนาดใหญ่แห่งใหม่ ที่อำเภอล็องถั่ญ (Long Thành) ทางตอนใต้ของนครโฮจิมินห์ เพื่อรองรับจำนวนผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้นและยกระดับให้เวียดนามก้าวขึ้นมาเป็นศูนย์กลางทางการบินที่สำคัญในภูมิภาคอาเซียนในอนาคต