ASEAN THIS MONTH: อัพเดทเศรษฐกิจอาเซียน ตุลาคม-พฤศจิกายน 2018

ASEAN THIS MONTH: อัพเดทเศรษฐกิจอาเซียน ตุลาคม-พฤศจิกายน 2018

BF Economic Research

Fund Management Group

  • อินโดนีเซียขาดดุลการค้า -1 พันล้านดอลลาร์ฯ ในเดือน ส.ค. จากการนำเข้าที่ขยายตัว +24.6% YoY ในขณะที่การส่งออกขยายตัว +4.15 % YoY ทั้งนี้ แม้จะเป็นการขาดดุลที่ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ -2 พันล้านดอลลาร์ฯ แต่ยังไม่สามารถหยุดการอ่อนค่าของเงินรูเปียะห์ที่อ่อนค่าลงต่อเนื่องจนหลุดระดับ 15,000 รูเปียะห์ต่อดอลลาร์ฯ ส่งผลให้ธนาคารกลางอินโดนีเซียประกาศปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นอีก 25bps ในการประชุมครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 27 ก.ย. ที่ผ่านมา จาก 5.50% เป็น 5.75% และมีแนวโน้มปรับขึ้นอีก 25bps จนถึงสิ้นปีนี้เพื่อชะลอการไหลออกของเงินทุน

  • GDP ของสิงคโปร์ในไตรมาส 3/2018 ขยายตัว +2.6% YoY ชะลอลงจากไตรมาสที่ผ่านมาที่ขยายตัว +4.3% YoY โดยเป็นผลมาจากภาคการผลิตซึ่งขยายตัวชะลอลงที่ +4.5% จากไตรมาสที่ผ่านมาซึ่งขยายตัว +10.6% YoY  ส่วนภาคการก่อสร้างหดตัวชะลอลงที่ -3.1% YoY (ดีขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าที่หดตัว -4.2 %) และภาคบริการขยายตัวที่ 2.9% YoY ไม่เปลี่ยนแปลงจากเดิม
  • สำหรับในช่วงครึ่งที่เหลือของปีหลังคาดว่า GDP สิงคโปร์จะยังคงขยายตัวในอัตราที่ไม่แตกต่างจากเดิม ท่ามกลางความท้าทายของเศรษฐกิจโลกจากนโยบายการเงินของธนาคารกลางหลักของโลก และสงครามทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ทั้งนี้ รัฐบาลสิงคโปร์ได้ตั้งเป้าหมายอัตราเติบโตของเศรษฐกิจประเทศในปี 2018 ไว้ที่กรอบ 2.5-3.5%

  • อัตราเงินเฟ้อเดือนก.ย.ขยายตัวเร่งขึ้นที่ +6.7% YoY จากเดือนที่ผ่านมาที่ขยายตัว +6.4% YoY แต่ยังคงหลุดกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อที่ธนาคารกลางฟิลิปปินส์ (BSP) กำหนดไว้ที่ 2-4% เป็นเดือนที่ 7 ติดต่อกัน ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อใน 3 ไตรมาสแรกที่ผ่านมาอยู่ที่ +5.3% YoY  ล่าสุด BSP ได้ปรับประมาณการอัตราเงินเฟ้อในปี 2018 เป็น 5.2% จาก 4.9% และปี 2019 เป็น 4.3% จาก 3.7%
  • อัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นดังกล่าวยังคงได้รับแรงกดดันมาจากราคาอาหารซึ่งมีน้ำหนักในตะกร้าเงินเฟ้อกว่า 38.3% เป็นหลัก โดยเฉพาะข้าวที่ปรับตัวสูงขึ้นจากความล่าช้าในการนำเข้าข้าวจากต่างประเทศ นอกจากนี้ ผลจากไต้ฝุ่นมังคุดที่พัดถล่มในตอนเหนือของเกาะลูซอนซึ่งเป็นพื้นที่การเกษตรสำคัญของฟิลิปปินส์ ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่กดดันราคาเงินเฟ้อในเดือนก.ย.ให้เร่งขึ้น

  • ในเดือนส.ค. มาเลเซียเกินดุลการค้าลดลงมากที่สุดในรอบเกือบ 4 ปี จากการเกินดุลการค้ามูลค่า +1.01 หมื่นล้านดอลลาร์ฯ ในเดือนก.ค. ลดลงเหลือ +1.61 พันล้านดอลลาร์ฯ โดยเป็นผลจากการส่งออกที่ชะลอตัว โดยเฉพาะการส่งออกน้ำมันปาล์ม และก๊าซธรรมชาติที่หดตัว -23.0% YoY และ -22.5% YoY ตามลำดับ ในขณะที่การส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ขยายตัวเพียง +3.2% YoY จาก +23.6% YoY ในเดือนก่อนหน้า บวกกับการนำเข้าที่เติบโตสูงในทุกหมวดทั้งสินค้าอุปโภคบริโภค สินค้าทุน และสินค้าขั้นกลาง อย่างไรก็ตาม เรามองว่า การส่งออกของมาเลเซียน่าจะกลับมาเติบโตได้ดีในช่วงที่เหลือของปี จากการฟื้นตัวของการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ การปรับตัวเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันซึ่งส่งผลดีต่อประเทศผู้ส่งออกน้ำมันอย่างมาเลเซีย และการนำเข้าสินค้าขั้นกลางที่เพิ่มขึ้นสะท้อนการเติบโตของการส่งออกในอนาคต