ส่องเส้นทางสู่โปรกอล์ฟที่ไม่แตกต่างจากวิถีการลงทุน (ตอนแรก)

ส่องเส้นทางสู่โปรกอล์ฟที่ไม่แตกต่างจากวิถีการลงทุน (ตอนแรก)

By…จารุพันธ์ จิระรัชนิรมย์

ในงาน BUALUANG FUND INVESTMENT FORUM TOWARDS 2019 นั้น คุณพีรพงศ์ จิระเสวีจินดา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กองทุนบัวหลวง ก็ได้กล่าวไว้แล้วว่า นักลงทุนควรลงทุนอย่างต่อเนื่องไม่ว่าตลาดจะอยู่ในช่วงใดของวงจรการลงทุนก็ตาม ควรมุ่งเน้นไปที่เป้าหมายระยะยาวของตัวเอง พร้อมควบคุมสติไม่ให้ถูกครอบงำโดยข่าวที่เกิดขึ้นในช่วงสั้นๆ รายวัน จะได้ไม่ถูกปัจจัยในช่วงสั้นมาทำให้ไขว้เขว เพราะการที่นักลงทุนยังคงลงทุนอยู่ในตลาดในระยะยาวจะทำให้เกิดพลังของผลตอบแทนที่ทบต้น

อย่างไรก็ตาม หากใครยังเห็นภาพไม่ชัดว่า การคงอยู่ในตลาดระยะยาว จะให้ผลตอบแทนทบต้นอย่างไร ก็สามารถพิจารณาจากเรื่องราวต่อไปนี้ที่แม้ไม่เกี่ยวข้องกับการลงทุนโดยตรง แต่ผลลัพธ์ที่จากการคงอยู่ในวงจรตลาดระยะยาวนั้นไม่ได้แตกต่างจากเรื่องการลงทุนเลย เช่น กีฬากอล์ฟ ที่หากต้องการไปถึงขั้นเป็นโปร สร้างรายได้จากการเล่นกอล์ฟได้ ก็ไม่ใช่ว่า ฝึกเล่นประเดี๋ยวประด๋าวแล้วจะไปถึงได้ทันที ทุกอย่างล้วนต้องอาศัยเวลา ประสบการณ์ ความอดทนที่มากพอ ดังเรื่องราวของ คุณวิรดา นิราพาธพงศ์พร หรือโปรอุ๋ย นักกอล์ฟหญิงไทยคนแรกใน LPGA ที่มาเล่าให้ทุกคนฟังผ่านหัวข้อ “PUTTING YOUR GOLF AND INVESTING GAME INTO PERSPECTIVE WITH PRO OUI” ในงาน BUALUANG FUND INVESTMENT FORUM TOWARDS 2019

ปัจจุบันนั้น โปรอุ๋ย เป็นโค้ชให้ทีมชาติกีฬากอล์ฟสตรี ซึ่งกว่าที่เธอจะก้าวมายืนจุดนี้ได้ ไม่ได้ใช้ระยะเวลาสั้นๆ โดย โปรอุ๋ย ระบุว่า นักกอล์ฟ จะแบ่งเส้นชัดเจนระหว่าง มือสมัครเล่น และโปรเฟสชันแนล

มือสมัครเล่นก็คือคนที่ไม่ได้เล่นเพื่อเงิน แต่เล่นเพื่อความภูมิใจส่วนตัว ส่วนโปรคือคนที่เล่นเพื่อรับเงินจากกีฬานั้น เช่น สอนกอล์ฟ หรือเล่นกอล์ฟเพื่อรับเงินรางวัล ซึ่งการเป็นโปร ไม่ยาก แต่การเป็นโปรที่จะได้ไปเป็นทัวริ่ง โปร โลดแล่นแข่งขันกอล์ฟในทัวร์ระดับโลกนั้นยากมาก ต้องผ่านบททดสอบเรื่องฝีมือและความอดทน โดยสนามแข่งซึ่งเป็นที่รู้จักและมีเงินรางวัลตอบแทนสูงก็คือ PGA TOUR และ LPGA TOUR ซึ่งแต่ละสนามนั้นแข่งได้แค่กว่า 100 คนต่อสัปดาห์ และกว่าที่จะฝ่าฝันไปเป็น 1 ในกว่า 100 คนของโลกนั้นยากมากๆ

สำหรับโปรอุ๋ย เธอเริ่มต้นวัยเด็กก็เห็นคุณพ่อจับไม้กอล์ฟมาตลอด โดยคุณพ่อของเธอเป็นหมอผ่าตัด สมัยหนุ่มๆ ชอบเล่นกอล์ฟ และเนื่องจากกอล์ฟเป็นกีฬาที่ต้องใช้เวลานาน จึงชักชวนครอบครัวให้ไปเล่นด้วยเพื่อจะได้ใช้เวลาร่วมกัน แม้ในตอนแรกๆ วัยเด็กของโปรอุ๋ย จะชอบลงสระว่ายน้ำมากกว่าไปตากแดด เล่นกอล์ฟ แต่แล้ววันหนึ่งก็มีจุดเปลี่ยน เมื่อโปรอุ๋ย เห็นพี่ชายที่ไปแข่งกอล์ฟกลับมาบ้านพร้อมโชว์ถ้วยรางวัลอันดับ 2 ซึ่งเมื่อลองเทียบกับเหรียญรางวัลเล็กๆ ที่เธอได้จากการว่ายน้ำแล้ว ขนาดช่างต่างกันจริงๆ เป็นแรงบันดาลใจเล็กๆ ให้เด็กผู้หญิงตัวน้อยๆ อย่างโปรอุ๋ย อยากลองเล่นกอล์ฟ และแข่งกอล์ฟบ้าง  และคุณพ่อของเธอก็ยินดีสนับสนุนเต็มที่เสียด้วย เพราะคุณพ่อมองว่า ถ้าเป็นกีฬาประเภทอื่น ตัวเองก็คงทำได้แค่ไปรับ ไปส่งลูก แต่ถ้าเป็นกอล์ฟ ก็สามารถสอนลูกได้ด้วย

ผลที่ได้คือ เมื่อเล่นกอล์ฟจริงจัง 1 ปีผ่านไป แล้วลองลงแข่ง โปรอุ๋ยก็คว้าถ้วยรางวัลอันดับ 1 มาครองเป็นครั้งแรก กลายเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้โปรอุ๋ย รู้สึกว่าควรจะเอาดีทางด้านนี้เสียแล้ว เพราะการคว้าชัยชนะครั้งนี้ มีคะแนนนำที่ 2 อยู่หลายแต้ม หลังจากนั้นโปรอุ๋ยก็ยังคงจริงๆ กับการวนเวียนแข่งขันกอล์ฟเยาวชนในเมืองไทย 3-4 ปี ผลคือชนะทุกรายการ ซึ่งส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะเวลานั้นมีนักกีฬาหญิงไม่ได้มากมายอะไรกว่า 10 คนเท่านั้น

อย่างไรก็ดี การที่โปรอุ๋ยชนะอย่างต่อเนื่องนั้น กลับทำให้คุณพ่อมีความกังวล เพราะมองว่าเป็นปัญหาต่อการพัฒนาของลูกสาวในระยะต่อไป หากชนะทุกครั้ง ลูกสาวจะไม่รู้จักว่าการแพ้คืออะไร และถ้าแพ้แล้วจะต้องลุกขึ้นมาอย่างไร คุณพ่อจึงเห็นว่า

ถึงเวลาแล้วที่ต้องออกจากบ้าน ไปตระเวนแข่งต่างประเทศบ้าง โดยมีประโยคหนึ่งที่คุณพ่อพูดกับโปรอุ๋ย และเธอจำได้ดีจนถึงวันนี้ ก็คือ “พ่อรู้ว่ามีลูกเสือตัวน้อยๆ อยู่ในบ้าน แต่พ่อคิดว่า ถ้าเอาเสือตัวนี้เก็บไว้ในบ้าน เสือของพ่อจะกลายเป็นลูกแมว ต้องปล่อยเสือเข้าป่า”

นี่เป็นเทคนิคที่คุณพ่อใช้สอนตัวเองและคนในครอบครัวเสมอ ว่า ถ้าเราอยากจะพัฒนาต่อไป ก็ต้องผลักดันตัวเองให้ออกนอกจากข้อจำกัด ก้าวออกจากกรอบแคบๆ ไปสู่โลกกว้าง

ในช่วงเริ่มต้นของการออกสู่โลกกว้าง โปรอุ๋ยตระเวนแข่งในแถบเอเชียก่อน ซึ่งประสบการณ์ที่เธอได้ก็คือ ทำให้รู้จักนักกอล์ฟแถบเอเชีย อย่างสิงคโปร์ มาเลเซีย ซึ่งพวกเขามีความรู้เกี่ยวกับกอล์ฟสากลมากกว่าเธอ โดยบางคนนั้นมีประสบการณ์เล่นกอล์ฟที่อเมริกามาก่อน และเขาก็ได้ให้ไอเดียกับคุณพ่อของโปรอุ๋ยมาด้วยว่า ถ้าลูกสาวเล่นกอล์ฟดีแบบนี้ มีโอกาสที่จะได้ทุนการศึกษาระดับมหาวิทยาลัย และในระดับผู้หญิงยังมีทุนการศึกษาเหลืออยู่มากมาย จนทำให้คุณพ่อของโปรอุ๋ยไปศึกษาเรื่องนี้ เพื่อวางเส้นทางให้กับลูกสาว ว่าหากจะก้าวกระโดดไปสู่อเมริกาจะต้องทำอย่างไรบ้าง

คุณพ่อ เริ่มต้นจากการส่งโปรอุ๋ยไปเรียนที่ออสเตรเลียก่อน 2 ปี เพื่อปรับตัว ฝึกภาษา และการใช้ชีวิตนอกบ้าน แต่หลังจากเรียนได้ 1 ปี โปรอุ๋ยก็บอกกับพ่อว่า จะขอเปลี่ยนแผนไปอเมริกาเร็วขึ้น ด้วยเหตุผลที่ว่าอยู่ออสเตรเลียแล้วมีกิจกรรมให้ทำจนสนุกสนานก็จริง แต่จากการเล่นกีฬาหลากหลายอย่าง ทำให้ไม่ได้โฟกัสที่กอล์ฟ จึงเกรงว่าถ้าอยู่นานเกินไปจะทำให้เลิกเล่นกอล์ฟ ในที่สุดเมื่อเป็นการตัดสินใจของลูกสาวในวัย 13 ปี คุณพ่อจึงส่งโปรอุ๋ยไปยัง IMG ACADEMY โรงเรียนประจำที่รัฐฟลอริด้า สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นโรงเรียนส่งเสริมกีฬากอล์ฟ

ช่วงแรกที่ไปอยู่โรงเรียนประจำที่รัฐฟลอริด้านั้น โปรอุ๋ยยอมรับว่า 3 เดือนแรกถือเป็นจุดเปลี่ยนของชีวิตทีเดียว เพราะการไปอยู่ที่นี่เปรียบเหมือนกับปลาที่เคยว่ายน้ำอยู่ในบ่อเล็กๆ แล้วต้องออกไปว่ายในทะเลที่กว้างใหญ่ จากเคยเป็นคนชนะตลอด รู้สึกดั่งผู้ยิ่งใหญ่ในวงการกอล์ฟเยาวชนไทย ซึ่งเปรียบดังบ่อเล็กๆ เมื่อไปอเมริกา ไม่รู้จักใครเลย พูดภาษาเขาไม่เป็น เรียนก็หนัก และเรื่องกอล์ฟ โปรอุ๋ยก็มีความคาดหวังสูงมาก ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะช่วงนั้นเป็นปี 1997 ที่มีวิกฤตต้มยำกุ้ง ค่าเงินลอยตัว ทำให้ค่าเรียนแพงขึ้น 2 เท่า จึงเกิดความสงสารคุณพ่อคุณแม่ที่ต้องรับภาระค่าใช้จ่ายสูงด้วย แต่คุณพ่อคุณแม่บอกว่าไม่เป็นไร ขอให้เราตั้งใจทำให้ดีที่สุด ผลที่ออกมาคือ จากความเครียดในหลายเรื่องผสมผสานกัน ทำให้ผลงานเล่นกอล์ฟออกมาแย่ จนโปรอุ๋ยร้องไห้คิดถึงบ้านทุกสัปดาห์

เมื่อคุณแม่ได้ยินเสียงปลายสายร้องไห้อยู่ ก็บอกกับคุณพ่อว่า ให้เอาลูกสาวกลับบ้าน จะได้กลับมาอยู่ในที่ที่มีความสุขเหมือนเดิม แต่คุณพ่อของเธอเป็นคนเข้มแข็ง เด็ดเดี่ยว จึงบอกว่า ไม่ได้ ต้องให้ลูกสาวสู้ พร้อมกับให้คำแนะนำดีๆ กับโปรอุ๋ยว่า ตอนนี้ลูกมีปัญหาถาโถมมามาก ให้ค่อยๆ เรียงลำดับความสำคัญของปัญหา ว่าอะไรสำคัญที่สุด แล้วเริ่มแก้ปัญหาจากตรงนั้น ซึ่งในที่สุดเธอก็ผ่านพ้นจากปัญหา ผ่านช่วงเวลาที่แย่มาได้ และหลังจากนั้นไม่ว่าจะเจอปัญหาอะไรก็ตาม ตั้งแต่เป็นนักกีฬากอล์ฟในช่วงเรียนมหาวิทยาลัย จนกระทั่งเป็นโปร เธอจะใช้แนวคิดของพ่อจัดการปัญหานี้เสมอ

“ถ้าเจอปัญหาก็ต้องเรียงลำดับก่อนว่า อะไรสำคัญ อะไรไม่สำคัญ แล้วก็แก้ทีละเปราะ เพราะทุกอย่างมีทางออก ศึกษาเส้นทางให้ดี มีโรดแมปไว้เพื่อให้เราไม่ไขว้เขว พอเจออุปสรรคใดๆ เราก็จะสามารถเดินต่อไปได้” โปรอุ๋ย กล่าว

นี่เป็นเรื่องราวส่วนหนึ่งของเส้นทางกว่าจะมาเป็นโปรอุ๋ย สาวไทยคนแรกที่คว้าตั๋วเข้าร่วมรายการแข่งขัน LPGA TOUR อย่างเป็นทางการ และยังเป็นนักกีฬากอล์ฟหลักในทีม Duke University ที่พาทีมคว้าชัยชนะการแข่งขันกอล์ฟมาหลายรายการ รวมทั้งชนะการแข่งขันส่วนบุคคล ACC Championships ปี 2001 และปี 2002 ได้รางวัล National Player of the year ชนะการแข่งขัน NCAA Championships จนได้เป็น 1 ใน 7 ศิษย์เก่าที่ถูกบรรจุชื่อเข้าสู่หอเกียรติยศ (Hall of Fame) ของ Duke University ปี 2016

แต่เรื่องราวของโปรอุ๋ยยังไม่จบแค่นี้ ใครที่สนใจเรื่องราวดีๆ ของโปรอุ๋ย สามารถรอติดตามเรื่องราวที่ยังมีอีกได้ในตอนต่อไป…