ล้านแรกมีได้ไม่ต้องพึ่งดวง

ล้านแรกมีได้ไม่ต้องพึ่งดวง

ล้านแรกมีได้ไม่ต้องพึ่งดวง

โดย…พริ้มพัชร จิรบวรพงศา AFPTTM

ผู้เชี่ยวชาญด้านการวางแผนทางการเงิน

BF Knowledge Center

เมื่อกล่าวถึงเรื่องเงินๆ ทองๆ เชื่อว่าส่วนใหญ่มีความฝันที่จะมี “เงินล้าน” แต่จนแล้วจนรอดก็ยังคงเป็นแค่ความฝันที่ไม่เป็นจริงเสียที   ยิ่งเวลาผ่านไปก็เริ่มรู้สึกว่า “เราคงทำไม่ได้” พอคิดว่าทำไม่ได้ก็ยิ่งไม่มีกำลังใจที่จะลงมือทำ  และเมื่อไม่ลงมือทำ ความฝันที่จะมีเงินล้านก็ยิ่งห่างไกลมากขึ้น

ความฝันที่จะมีเงินล้านเป็น “เป้าหมายทางการเงิน” อย่างหนึ่ง   โดยเงินล้านเป็นตัวแทนของความสุขและความสำเร็จในหลายๆ ด้าน ทั้งในเรื่องหน้าที่การงาน ความมุมานะอดทน ความมีวินัยทางการเงิน ฯลฯ   ซึ่งส่งเสริมให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น     แม้การมีเงินล้านไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด แต่ก็ไม่ยากเกินไปที่จะลงมือทำให้เกิดขึ้น    โดยอย่างแรกที่ต้องลงมือทำคือ “กำหนดเป้าหมายให้ชัดเจน” คำว่าชัดเจนในที่นี้หมายถึง เราต้องการมีเงินล้านแรกนี้ภายในระยะเวลากี่ปี? เพราะการทราบระยะเวลาจะทำให้สามารถคำนวณได้ว่าต้องออม/สะสมต่อเดือนเท่าไร?  ผลตอบแทนควรได้รับกี่เปอร์เซนต์ต่อปี?  รวมถึงทำให้ทราบว่า เป้าหมายของเราจะสามารถเป็นจริงได้หรือไม่?

การวางแผนทางการเงินเพื่อเปลี่ยนเงินน้อยให้เป็นเงินล้าน สำหรับผู้เริ่มต้นล้านแรกอาจต้องอดทนเพิ่มขึ้นสักนิด (เพื่อพิชิตเงินล้าน)   เพราะคนที่ประสบความสำเร็จทางการเงินส่วนใหญ่ ในช่วงเริ่มต้นต่างก็เคยผ่านช่วงเวลาแบบนี้ด้วยกันมาแล้วทั้งนั้น    โดยเส้นทางสู่เงินล้านของแต่ละคนก็มีความแตกต่างกัน แต่มีหลักการที่ใช้เป็นแนวทางในการลงมือทำเงินล้านแบบไม่ต้องพึ่งดวงที่เหมือนๆ กัน คือ มีวินัย – ใฝ่เรียนรู้ – มุ่งสู่เป้าหมาย

 

 มีวินัย 

จากคำบอกเล่าของผู้ที่ประสบความสำเร็จทางการเงิน 99.99% (เผื่อไว้ 0.01% สำหรับผู้ที่มีบุญเก่าหนาแน่น) กล่าวว่า “การวินัยในตัวเองช่วยให้ประสบความสำเร็จทางการเงิน”  โดยวินัยจะเกิดขึ้นได้ถ้าเรามองเห็นเป้าหมายที่ชัดเจน ส่งผลมีแรงบันดาลใจและกำลังใจในการที่จะนำพาตัวเองไปสู่เป้าหมายนั้น  การมีวินัยในตัวเองคือ การควบคุมอารมณ์และพฤติกรรมของตัวเอง โดยมองเห็นคุณค่าของเป้าหมายที่ตั้งไว้  ถึงแม้จะมีอุปสรรคเข้ามาบ้างก็ยังมุ่งมั่นไม่เปลี่ยนแปลง และเชื่อมั่นในผลดีที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

การมีวินัยทางการเงิน ควรเริ่มต้นจากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้จ่าย โดยเลือกใช้จ่ายสิ่งของที่มีความจำเป็น (Need) เป็นอันดับแรก และพยายามลดการใช้จ่ายสิ่งของที่ไม่จำเป็น (Want) ออกไปจะทำให้เหลือเงินออม/ลงทุนมากขึ้น    เมื่อปรับพฤติกรรมการใช้จ่ายแล้ว ลำดับถัดมาคือ สร้างวินัยในการออม/ลงทุน ที่มีจำนวนเงินสม่ำเสมอเท่าๆ กันทุกเดือน (หรือมากกว่า)   เพราะความสม่ำเสมอนี้จะช่วยให้สามารถบรรลุเป้าหมายได้ตามที่กำหนด (หรือเร็วกว่ากำหนดได้ถ้าเพิ่มจำนวนเงินในแต่ละเดือน)   โดยการมีวินัยทางการเงินนี้สามารถเริ่มต้นลงมือทำได้ทันทีไม่ต้องรอ เพราะด้วยปัจจัยการออม/ลงทุนที่เหมือนกัน    คนเริ่มต้นเร็วจะใช้เงินน้อยกว่าคนเริ่มต้นช้าเสมอ สมมติว่ามีเป้าหมายเงินล้านแรกเมื่ออายุ 35 ปี  เก็บออมโดยไม่ลงทุนเลย  การจัดสรรเพื่อการออมในแต่ละเดือนก็จะไม่เท่ากัน

  • เริ่มต้นอายุ 20 ปี   ระยะเวลาออม 15 ปี (180 เดือน)   ออมเดือนละ 5,555 บาท
  • เริ่มต้นอายุ 25 ปี   ระยะเวลาออม 10 ปี (120 เดือน)   ออมเดือนละ 8,333 บาท
  • เริ่มต้นอายุ 30 ปี   ระยะเวลาออม 5 ปี (60 เดือน)   ออมเดือนละ 16,666 บาท

อุปสรรคของวินัยทางการเงินคือ “เหตุการณ์เฉพาะหน้าที่จำเป็นต้องใช้เงิน” เช่น ค่ารักษา พยาบาล  การศึกษาต่อระดับที่สูงขึ้น  โอกาสในการซื้อสินค้าที่มีราคาถูกในช่วงเวลานั้นๆ  หากเหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นก็ไม่ต้องคิดมาก (เพราะใครๆ ก็เคยเจอ)    สิ่งที่ควรทำคือ “ตั้งสติ”  และพยายามออม/ลงทุนเพิ่มเติมเพื่อชดเชยค่าใช้จ่ายที่สูญเสียไประหว่างทาง

 

ใฝ่เรียนรู้ 

การมีวินัยเป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนให้เป้าหมาย “ล้านแรกเป็นจริงได้” ส่วนการ เรียนรู้ช่วยเพิ่มโอกาส เพิ่มทางเลือก ในการสร้างผลตอบแทนให้สูงขึ้นกว่าการออมในบัญชีออมทรัพย์เฉยๆ ทำให้เราสามารถเข้าใกล้เป้าหมายได้รวดเร็วยิ่งขึ้น  โดยการเรียนรู้ที่อยากแนะนำก็คือ “การลงทุน”

การลงทุน คือ การมุ่งหวังที่จะได้รับผลตอบแทนจำนวนหนึ่งในอนาคต จากการที่จ่ายเงินสดจำนวนหนึ่งในปัจจุบัน     โดยเชื่อว่า ผลตอบแทนหรือเงินส่วนเพิ่มที่จะได้รับคืนในอนาคตจะสามารถชดเชยระยะเวลา  อัตราเงินเฟ้อ  และความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างคุ้มค่า    ดังนั้น  ในการตัดสินใจนำเงินออมมาลงทุน จึงจำเป็นต้องเรียนรู้ในสิ่งที่ลงทุน  หาข้อมูลที่เกี่ยวข้อง  ศึกษาทำความเข้าใจ  ทั้งในแง่ของความเสี่ยงและโอกาสในการลงทุน ผลตอบแทนที่คาดหวังจะให้เกิดรวมถึงผลตอบแทนที่คาดหวังว่ามันจะไม่เกิดขึ้นด้วย

การมีความรู้จะช่วยส่งเสริมให้เกิดการลงทุนที่ถูกต้อง คือ มีภาวะจิตใจที่มั่นคง มองเห็นโอกาส  สามารถคิดวิเคราะห์ แยกแยะสถานการณ์ สามารถตัดสินใจได้ดี    แต่หากขาดความรู้ความเข้าใจในการลงทุนจะทำให้เป็นข้อจำกัดอย่างมาก เพราะสิ่งที่ทำให้การลงทุนมีความเสี่ยงมากที่สุด คือ การลงทุนในสิ่งที่ตัวเองไม่มีความรู้ความเข้าใจนั่นเอง

การลงทุนนอกจากจะทำให้เข้าใกล้เป้าหมายได้เร็วขึ้นแล้ว  ในอีกมุมหนึ่งก็เปรียบเสมือนเป็นเครื่องมือทุ่นแรงให้คนที่มีความสามารถในการจัดสรรเงินเพื่อเป้าหมายในแต่ละเดือนได้ไม่มากนัก ในที่นี้ขอยกตัวอย่าง

กรณีแรก “ทำให้เข้าใกล้เป้าหมายได้เร็วขึ้น”  สมมติว่าเริ่มต้นออมอย่างเดียวไม่ลงทุนเลยเมื่ออายุ 20 ปี  ต้องการมีเงินล้านแรกอายุ 35 ปี  เท่ากับมีระยะเวลาออม 15 ปี จะต้องออมเดือนละ 5,555 บาท    แต่หากเรานำเงินจำนวน 5,555 บาท มาลงทุนทุกเดือนที่ผลตอบแทน 5% ต่อปี เราจะมีล้านแรกในอีก 11 ปีนิดๆ  เร็วกว่าที่ตั้งเป้าหมายไว้ 4 ปี

กรณีสอง  “ช่วยทุ่นแรง”  สมมติว่าเรายังคงต้องการล้านแรก แต่สามารถจัดสรรเงินแต่ละเดือนได้เพียง 3,000 บาท  หากไม่ลงทุนจะต้องใช้เวลาออมเงินถึง 27 ปี   แต่หากเราต้องการคงไว้ซึ่งเป้าหมายล้านแรกภายใน 15 ปี  ก็สามารถทำได้โดยนำเงิน 3,000 บาทนี้ไปลงทุนผลตอบแทน  7.58% ต่อปี

สำหรับการหาผลตอบแทน 5% – 7% ตามตัวอย่างที่กล่าวมาข้างต้น  สามารถทำได้หลายวิธี แต่ต้องเลือกลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงมากขึ้นกว่าการฝากเงินหรือตราสารหนี้ เพื่อเป็นการเพิ่มโอกาสในการสร้างผลตอบแทนที่สูงขึ้น  โดยการลงทุนนี้อาจต้องมีหุ้น อสังหาฯ หรือสินทรัพย์การลงทุนทางเลือกเพิ่มเติมเข้ามาด้วย   ซึ่งเราสามารถเลือกลงทุนในสินทรัพย์นั้นด้วยตัวเองหรืออาจเลือกลงทุนผ่านกองทุนรวม   เพราะแม้ว่าการลงทุนจะทำให้เงินเติบโตแต่ไม่ใช่ทุกคนที่ถนัดเรื่องการลงทุน     ดังนั้น เราควรใช้เวลาของเราทำงานที่ถนัดเพื่อสร้างเม็ดเงิน  ส่วนเรื่องของการลงทุนก็อาจให้ผู้จัดการกองทุนบริหารให้ เพราะเขามีความถนัดในเรื่องการลงทุนมากกว่าเรา   อีกทั้งปัจจุบันกองทุนรวมส่วนใหญ่ใช้เงินลงทุนเริ่มต้นไม่มาก 500 บาท   ก็สามารถลงทุนได้แล้ว

 

มุ่งสู่เป้าหมาย

การมีเงินล้านไม่มีเส้นทางสำเร็จรูป ระหว่างทางก็มีอุปสรรคที่แตกต่างกันไป  โดยการมีวินัยเป็นหัวใจสำคัญ  ตามมาด้วยการเรียนรู้เพื่อให้ลงทุนได้อย่างถูกต้อง มั่นใจ   แต่ทุกอย่างจะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากไม่ลงมือทำตามเป้าหมาย    ทั้งนี้ การมุ่งสู่เป้าหมายนี้ต้องอยู่บนพื้นฐานความเป็นจริงด้วย  โดยเฉพาะเรื่องความเสี่ยงและผลตอบแทนจากการลงทุน  ซึ่งส่วนใหญ่มีความฝันว่า จะลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงน้อยๆ แต่ได้รับผลตอบแทนสูงๆ   แต่ในความเป็นจริงคือ หากต้องการได้รับผลตอบแทนสูง ต้องรับความเสี่ยงจากการลงทุนที่เพิ่มขึ้นด้วย  ยกตัวอย่าง

หากต้องเดินทางไปจุดหมายหนึ่งด้วยทางเลือก 3 พาหนะ คือ มอเตอร์ไซค์ – รถยนต์ – รถเมล์ แน่นอนว่าทั้ง  3  พาหนะสามารถพาเราไปถึงที่หมายได้  หากพิจารณาในด้านความเร็ว มอเตอร์ไซค์ น่าจะพาเราไปถึงจุดหมายได้รวดเร็วที่สุด รองมาคือ รถยนต์ รถเมล์     แต่หากพูดถึงความปลอดภัย มอเตอร์ไซค์ ก็ดูว่าน่าจะอันตรายที่สุด    ในขณะที่รถเมล์แม้จะถึงจุดหมายปลายทางช้าแต่ก็ปลอดภัยมากกว่า เมื่อเปรียบเทียบกับมอเตอร์ไซค์

การลงทุนก็เช่นเดียวกันกล่าวคือ มอเตอร์ไซค์เปรียบเหมือนการลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงสามารถพาเราไปถึงเป้าหมายได้อย่างรวดเร็ว แต่ก็มีความเสี่ยงที่จะบาดเจ็บจากการขาดทุนได้มากกว่า  ส่วนรถเมล์เปรียบเหมือนการลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำ พาเราไปถึงที่หมายได้ช้าแต่มีความเสี่ยงที่จะบาดเจ็บจากการขาดทุนได้น้อย

อย่างไรก็ตาม การลงทุนไม่ได้คำนึงถึงเฉพาะความเสี่ยงเพียงมุมเดียว แต่ยังต้องคำนึงถึงระยะเวลาที่จะบรรลุเป้าหมายด้วย   จึงจำเป็นต้องสร้างความสมดุลระหว่าง ความเสี่ยง ผลตอบแทน และระยะเวลาในการลงทุน เพื่อให้ก้าวไปสู่เป้าหมายล้านแรกได้อย่างมั่นใจและไม่ต้องพึ่งดวง Stop dreaming, Start doing.