ตามติดภารกิจ ‘นาแลกป่า’ กับกองทุนรวม คนไทยใจดี ‘BKIND’

ตามติดภารกิจ ‘นาแลกป่า’ กับกองทุนรวม คนไทยใจดี ‘BKIND’

By…จารุพันธ์ จิระรัชนิรมย์

ผืนป่า คือ ลมหายใจของประเทศและโลกของเรา ความอุดมสมบูรณ์จะคงอยู่ยั่งยืนไม่ได้ หากขาดผืนป่าไป แต่หลายปีที่ผ่านมา ผืนป่าหลายผืนในไทยถูกทำลายลง ทั้งจากความตั้งใจและความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ด้วยการรุกล้ำพื้นที่ป่าเพื่อปลูกพืชเชิงเดี่ยวบางประเภท ส่งผลให้ป่าที่เคยอุดมสมบูรณ์ เขียวขจี กลายสภาพเป็นผืนดินแห้งแล้ง ภูเขาที่เคยปกคลุมไปด้วยต้นไม้ใหญ่สูงชันหนาทึบ เสื่อมโทรมเป็นภูเขาหัวโล้น สิ่งเหล่านี้เป็นสัญญาณเตือนว่า ถึงเวลาแล้วที่เราทุกคนต้องใส่ใจมากขึ้นกับสภาพที่เป็นอยู่ ทั้งต้องร่วมมือกันพลิกฟื้นคืนป่าให้กลับสู่ความอุดมสมบูรณ์โดยเร็วที่สุด ก่อนที่เราทุกคนจะไม่หลงเหลือความอุดมสมบูรณ์ส่งต่อไปถึงรุ่นลูกรุ่นหลานอีกเลย

กองทุนรวม คนไทยใจดี หรือกองทุน BKIND จัดตั้งขึ้นมาตั้งแต่เดือน ต.ค. 2557 ด้วยแนวคิดกิจการที่มีกำไรและยั่งยืน ต้องอยู่บนพื้นฐานของการประกอบธุรกิจ เพื่อยกระดับสังคมไทยอย่างแท้จริง และเป็นกองทุนรวมแรกของไทยที่มอบรายได้จากการจัดการกองทุน 40% หรือ 0.8% ของมูลค่าเงินกองทุน ไปสนับสนุนโครงการสาธารณประโยชน์ เพื่อให้เงินลงทุนของผู้ลงทุนมีส่วนร่วมสร้างสังคมไทยให้ดีขึ้นอย่างยั่งยืน ก็เล็งเห็นความสำคัญของปัญหาที่เกิดขึ้นกับป่า ดังนั้น ในปี 2558-2560  กองทุน BKIND จึงมอบงบสนับสนุนโครงการ “นาแลกป่า” ที่มูลนิธิฮักเมืองน่านจัดทำขึ้น

โดยเมื่อปลายเดือนต.ค.ที่ผ่านมา ทีมงานกองทุนบัวหลวง มีโอกาสไปลงพื้นที่จังหวัดน่าน เพื่อติดตามผลลัพธ์ จากการที่ BKIND เข้าไปสนับสนุน โดยพบว่า เงินทุกบาททุกสตางค์ที่ BKIND ส่งผ่านไปให้โครงการ ‘นาแลกป่า’  มีส่วนสำคัญที่ช่วยพลิกฟื้นพื้นที่เขาหัวโล้นให้เริ่มคืนกลับมาเป็นป่าได้ ซึ่งช่วยให้ชาวบ้านในพื้นที่มีกินมีใช้ เพราะมีรายได้จากการปลูกพืชผสมผสาน ทดแทนการปลูกข้าวโพด พร้อมๆ ไปกับการช่วยให้คนไทยทุกคนได้ผืนป่าที่เริ่มกลับมาอุดมสมบูรณ์มากขึ้น

คุณสำรวย ผัดผล

คุณสำรวย ผัดผล ประธานกรรมการ มูลนิธิฮักเมืองน่าน และนายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) เมืองจัง ในฐานะผู้นำคนในชุมชนเข้าร่วมโครงการ ‘นาแลกป่า’ เล่าเรื่องราวโครงการนี้ให้ทีมงานกองทุนบัวหลวงฟังว่า พื้นที่ป่าต้นน้ำ จังหวัดน่าน เปลี่ยนสภาพไปจากการที่ชาวบ้านเข้าไปลุกล้ำผืนป่าเพื่อปลูกพืชเชิงเดี่ยว พืชเศรษฐกิจ อย่างข้าวโพด ทำกันมายาวนานกว่า 20 ปี กระทั่งตัวเลขผืนป่าที่หายไป 1.8 ล้านไร่ ปรากฎชัดเจนช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ทำให้สังคมตื่นตัว พร้อมตั้งคำถามว่า เกิดอะไรขึ้นและต้องการทำให้สภาพป่าต้นน้ำน่านกลับคืนมาดังเดิม

ขณะที่ กลุ่มชุมชนได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก BKIND ในช่วงตั้งต้นทำโครงการ ‘นาแลกป่า’ ซึ่งในเวลานั้น สังคมยังไม่ได้ตื่นตัวเรื่องป่าต้นน้ำน่านมากนัก โดยกลุ่มรับผิดชอบพลิกฟื้นพื้นที่ป่าในโครงการ 5,300 ไร่ ครอบคลุมตำบลเมืองจัง อำเภอภูเพียงและอำเภอสันติสุข จากป่าทั้งหมดในพื้นที่ที่มี 2 แสนไร่ เพราะเล็งเห็นว่า มีทางออกที่จะช่วยให้ชาวบ้านไม่รุกล้ำที่ป่าได้ ด้วยการทำให้ชาวบ้านมีทางเลือกหารายได้จากการประกอบการ ที่ไม่ใช่การปลูกข้าวโพดอย่างเดียว

“ถ้าเราอยากได้ป่าคืน ก็ต้องสร้างแรงจูงใจใหม่ ต้องมีพืชที่สร้างรายได้ได้มากกว่าข้าวโพด มีระบบจัดการน้ำที่ดีกว่าเดิม สามารถทำเกษตรได้ตลอดปี และมีประเภทของพืชเพาะปลูกที่หลากหลายกว่าข้าวโพดให้ชาวบ้าน ซึ่งวิธีใหม่ๆ ที่นำเสนอชาวบ้านนั้นจะใช้พื้นที่เพาะปลูกที่แคบลง เป็นการทำเกษตรแบบผสมผสาน สามารถคืนผืนป่าส่วนหนึ่งกลับมาฟื้นฟูได้” คุณสำรวย กล่าว

เมื่อตั้งต้นโครงการได้แล้ว เราก็คัดเลือกเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ โดยมีหลักการแลกเปลี่ยน 1 ต่อ 3 เช่น โครงการเข้าไปช่วยสนับสนุนชาวบ้านทำเกษตรผสมผสานในพื้นที่ 1 ไร่ ชาวบ้านก็คืนพื้นที่ 3 ไร่เพื่อพื้นสภาพกลับเป็นป่า ซึ่งในระยะแรกได้พื้นที่กลับมาฟื้นคืนเป็นป่า 300 ไร่ เมื่อผ่านมาจนถึงปัจจุบัน รวมกว่า 3 ปี ได้พื้นที่ฟื้นคืนสู่ป่าแล้วกว่า 1,400 ไร่

กระบวนการที่ใช้ระหว่างที่ชาวบ้านเข้าร่วมโครงการนี้ จะเริ่มต้นจาก การทำโรงอนุบาลเพาะต้นกล้าพืชพันธุ์ต่างๆ ที่จะไว้ให้เกษตรกรปลูก เมื่อได้พื้นที่ของเกษตรกรที่จะเข้าร่วมโครงการแล้ว ก็จะให้ความรู้พร้อมร่วมฝึกเกษตรกรปลูกพืชแบบผสมผสาน เช่น กล้วย ข้าว มะม่วง เพื่อให้นำผลผลิตไปขายได้  ส่วนพื้นที่ป่าที่ชาวบ้านซึ่งร่วมโครงการส่งคืนให้นั้น ก็จะมีการทำพิธีบวชป่า โดยนิมนต์พระมาบวชให้เป็นพื้นที่สาธารณะ ทำให้ชาวบ้านรู้สึกว่า เป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ ไม่กล้าเข้ามาทำลาย ซึ่ง บ้านกิ่วม่วง เป็นพื้นที่แรกที่มีการบวชป่าทางภาคเหนือตอนบน เมื่อวันที่ 13 พ.ค. 2533 ทางมูลนิธิฮักเมืองน่านจึงใช้พื้นที่นี้เป็นต้นแบบในการบวชป่ากับพื้นที่อื่นๆ ในโครงการนาแลกป่า

บ้านกิ่วม่วง พื้นที่แรกทางภาคเหนือตอนบนที่มีการบวชป่า

ผลที่เกิดขึ้นก็คือ จากในอดีตที่ชาวบ้านปลูกพืชเชิงเดี่ยว อาหารทุกรายการ ชาวบ้านจะต้องไปซื้อจากตลาดมาทำทั้งหมด แต่ปัจจุบันเมื่อปลูกพืชผสม หลากหลายรายการ ก็ทำให้ชาวบ้านนำพืชผักที่ปลูกมาทำเป็นอาหารเองได้ ไม่ต้องไปซื้อ และยังแบ่งบางส่วนไปขายได้อีกด้วย นอกจากนี้ เดิมที่ปลูกข้าวโพดจะต้องใช้สารเคมีในการปลูกปริมาณมาก แต่ระบบการปลูกพืชผสมผสานนี้ทำให้เกษตรกรไม่ต้องใช้สารเคมีเลย

นอกเหนือจากการปลูกเพื่อกินและนำไปขายได้แล้ว อีกสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นก็คือ ขณะนี้เริ่มมีบางหมู่บ้านนำศักยภาพเรื่องการปลูกพืชผสมผสานนี้ ไปต่อยอดรวมกับเสน่ห์ที่ตัวหมู่บ้านมีอยู่ แล้วผลักดันพื้นที่ของตัวเองเป็นแหล่งท่องเที่ยว เพื่อสร้างรายได้อีกช่องทางแล้ว อย่างเช่น ที่บ้านกิ่วม่วง อำเภอสันติสุข ก็มีการทำร้านกาแฟเป็นจุดท่องเที่ยวให้คนเดินทางมาแวะเวียน พร้อมนำผลิตภัณฑ์แปรรูปจากพืชผสมผสานมาจำหน่ายที่จุดท่องเที่ยว เช่น กล้วยน้ำว้าตาก เป็นต้น

คุณสำรวย กล่าวว่า กองทุน BKIND นั้น นับว่า เป็นผู้สนับสนุนรุ่นบุกเบิก ที่ทำให้โครงการนาแลกป่านี้เกิดเป็นรูปธรรมได้ จนกลายเป็นชั้นเรียนสำคัญสำหรับกลุ่มอื่นๆ ที่กำลังหันมาทำโครงการเพื่อฟื้นคืนผืนป่า

ลมหนาว อากาศดีๆ ในปีนี้ ใครมีแผนมาเที่ยวน่าน ลองแวะไปที่เดอะวิว @ กิ่วม่วง แล้วมองวิวทิวทัศน์ตรงหน้า ก็จะเห็นถึงการเปลี่ยนแปลงของผืนป่าน่านได้ทันที จากเมื่อ 2-3 ปีก่อน บริเวณพื้นที่แห่งนี้ยังเป็นเขาหัวโล้น แต่ปัจจุบัน ภาพที่ทุกคนจะได้เห็นน่าจะชื่นใจ เพราะเริ่มมีพื้นที่ป่า ปกคลุมด้วยต้นไม้กลับคืนมาบ้างแล้ว

วิวจาก เดอะวิว @ กิ่วม่วง

สิ่งเหล่านี้เป็นผลสำเร็จที่ได้กลับคืนมา และสะท้อนให้เห็นว่า เงินลงทุนของผู้ที่ร่วมลงทุนผ่าน  BKIND มีส่วนสำคัญช่วยสร้างสังคมไทยให้ยั่งยืนได้จริง