เทคโนโลยีและความสะดวกสบายเพื่อสังคมสูงวัย

ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุในอีกไม่ถึง 10 ปีข้างหน้า  จากข้อมูลประชากรของประเทศไทยปี 2556 ประชากรไทยมีจำนวน 64.6 ล้านคน เป็นผู้สูงอายุมากถึง 9.6 ล้านคน (ร้อยละ 14.9)   มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทยคาดว่าในปี 2573 จะมีจำนวนผู้สูงอายุ 17.6 ล้านคน (ร้อยละ 26.3) และปี 2583 จะมีจำนวนถึง 20.5 ล้านคน (ร้อยละ 32.1) ซึ่งจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุตามนิยามขององค์การสหประชาชาติ

จำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ความต้องการความสะดวกสบายก็จะเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ดังจะเห็นได้จากประเทศที่มีสัดส่วนผู้สูงอายุมากจะมีการนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์เข้ามาอำนวยความสะดวกมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นหุ่นยนต์ดูแลผู้สูงอายุ หรือการนำหุ่นยนต์มาใช้ในอุตสาหกรรมการผลิต ตลอดจนรถยนต์ไร้คนขับ ล้วนแล้วแต่เป็นการรองรับเทรนด์ของประชากรโลกที่กำลังเข้าสู่สังคมสูงวัย  แม้กระทั่งการสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ e-commerce หรือ การทำธุรกรรมการเงินออนไลน์ ePayment นับเป็นอีกแรงสนับสนุนสำคัญที่ทำให้ผู้สูงวัยช่วยเหลือตนเองได้โดยที่ไม่ต้องออกจากบ้านก็สามารถซื้อของหรือชำระค่าบริการต่างๆ ได้อย่างปลอดภัย

บางมุมมองอาจเห็นว่าเศรษฐกิจจะชะลอตัวจากสัดส่วนของโครงสร้างประชากรที่ก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยของไทย  แต่หากมองอีกมุมหนึ่งจะเห็นว่าเป็นโอกาสของการลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง  ดังจะเห็นได้ว่าผู้บริโภคกลุ่มนี้มีความต้องการพื้นฐานที่คล้ายคลึงกัน ซึ่งนอกเหนือจากการรักษาพยาบาลที่มีการพูดถึงกันมากแล้วนั่นก็คือความสะดวกสบาย  หากแต่ความสะดวกสบายในอดีตอยู่บนพื้นฐานของการใช้แรงงานเป็นหลัก ในอนาคตจะเป็นการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยเนื่องจากแรงงานขาดแคลนและอัตราการเกิดลดลง  รัฐบาลเล็งเห็นความสำคัญของเทคโนโลยีแห่งอนาคตเพื่อสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจภายในประเทศ จึงได้เห็นชอบแนวทางการดำเนินโครงการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมและบรรจุอยู่ในแผนปฏิบัติการเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนารายยุทธศาสตร์ของแผนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2560-2564) โดยเห็นชอบให้ดำเนินการขยายโครงข่าย อินเตอร์เน็ทความเร็วสูงให้ครอบคลุมทั่วประเทศ

จากปัจจัยที่กล่าวมาข้างต้นประกอบกับแรงสนับสนุนจากภาครัฐ  กองทุนบัวหลวงจึงมีความมั่นใจว่าอุตสาหกรรมที่สามารถเข้ามาตอบสนองความต้องการของผู้สูงอายุจึงน่าสนใจที่จะลงทุน ตัวอย่างของอุตสาหกรรมที่ได้รับประโยชน์ ประกอบไปด้วย

ธุรกิจที่ใช้ Internet of Things (IoT) เข้ามาประกอบการให้บริการเพื่อเพิ่มความสะดวกสบายตลอดจนเพิ่มความปลอดภัย เช่น การสั่งอาหาร delivery   การซื้อสินค้าออนไลน์  การทำธุรกรรมการเงิน  การใช้ระบบความปลอดภัยในบ้านเช่นปุ่มกดฉุกเฉินแล้วเชื่อมไปที่โรงพยาบาลหรือสถานีตำรวจ  ตลอดไปจนถึงธุรกิจการวิเคราะห์ข้อมูลผู้บริโภคเพื่อทำแผนการตลาด (Big data analytics) และการใช้พื้นที่จัดเก็บข้อมูล (Cloud Computing) เพื่อรองรับธุรกิจ IoT

ธุรกิจ Smart City เพื่อสร้างโครงสร้างและสาธารณูปโภคที่มาช่วยให้ผู้สูงอายุสามารถใช้ชีวิตได้แบบพึ่งพิงตัวเองหรือพึ่งพิงผู้อื่นน้อยที่สุดแล้ว  Smart City จะเชื่อมต่อระบบสัญญาณจราจรเข้ากับระบบอัจฉริยะของรถยนต์ไร้คนขับ (Autonomous Car) มีระบบเซ็นเซอร์ฝังใน ซึ่งทำงานร่วมกับซอฟต์แวร์อัจฉริยะ เพื่อให้ตัวรถสามารถขับเคลื่อนตัวเองได้อย่างสมบูรณ์แบบ แถมยังหลบหลีกสิ่งกีดขวางได้อย่างปลอดภัย  ทั้งหมดนี้เป็นทางเลือกให้กับผู้สูงอายุในการพึ่งพาตัวเองให้มากที่สุด

ธุรกิจการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ กิจกรรมของผู้สูงอายุอันดับต้นๆมักหนีไม่พ้นการท่องเที่ยว และผู้บริโภคกลุ่มนี้นิยมความสะดวกสบาย ปลอดภัย หากเป็นต่างชาติอาจพ่วงไปกับกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพ anti-aging หรือศูนย์ส่งเสริมสุขภาพ wellness center  เน้นอาหารปลอดสารพิษ  อีกทั้งนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ยังมีกำลังซื้อไม่แพ้กลุ่มวัยทำงานอีกด้วย

ชนาทิพย์  ศุภผลศิริ

Fund Management