ทำไมต้อง DCA: Dollar Cost Averaging

หลายท่านคงคุ้นหูกับคำว่า Dollar Cost Averaging หรือ DCA มาพอสมควร ซึ่งก็คือการลงทุนแบบถัวเฉลี่ยต้นทุน พูดง่ายๆ นั่นก็คือ การที่เรากำหนดการลงทุนของเราเป็นรายงวด ยกตัวอย่างเช่น เราอาจจะกำหนดแผนการลงทุนงวดละเท่าๆ กัน อาจลงทุนเป็นรายเดือน รายไตรมาส โดยไม่สนใจว่าราคาหน่วยลงทุน หรือราคาหุ้นที่เราจะซื้อตอนนั้นเป็นราคาเท่าไร

ประโยชน์ใหญ่ๆ ของ DCA คืออะไร

  1. ตัดเอาอารมณ์ความรู้สึกในการลงทุนออกไป

ในหนังสือเรื่อง Nudge ซึ่งมีนาย Richard Thaler นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลคนล่าสุด ทำการศึกษาเรื่องจิตวิทยาการเงิน (Behavioral Finance) ช่วยอธิบายได้อย่างมาก ว่ามนุษย์เรา จริงๆ แล้วไม่ได้มีเหตุมีผลอย่างที่ควรจะเป็นเท่าไหร่นัก เพราะถ้าเรามีเหตุผลจริงๆ ตามเศรษฐศาสตร์ เราก็ต้องเลือกสิ่งที่ให้ผลตอบแทนสูงสุดในการลงทุนระยะยาว แต่กลับกลายเป็นว่าในทางปฏิบัติ เราไม่ได้ทำอย่างที่ควรจะเป็น เรามีเรื่องอารมณ์เข้ามาเกี่ยวข้อง (เยอะมากด้วย) อาทิ เช่น ความโลภ ประกอบกับความเชื่อมั่นในตนเองมากเกินไป พยายามที่จะจับจังหวะการลงทุน เป็นเหตุให้การลงทุนอาจไม่ประสบผลดังที่คาดหวังได้ ดังนั้น DCA ก็เป็นตัวช่วยตัวหนึ่ง ให้การออมและการลงทุนของเราสามารถบรรลุเป้าหมายทางการเงินได้

  1. ฝึกวินัยในการออมและช่วยให้บรรลุเป้าหมายการออม

หลักการวางแผนการเงินที่ดีคือ ออมก่อน เหลือค่อยใช้ ส่วนจะออมมากหรือออมน้อย เป็นรายละเอียดที่จะต้องศึกษาและวิเคราะห์เป็นรายบุคคลในขั้นตอนถัดไป DCA นี่เองจะช่วยให้เรามีวินัยในการออม ซึ่งอาจจะเริ่มจากการแจ้งความจำนงค์กับธนาคารที่ท่านมีเงินเดือนอยู่ในการหักเงินในบัญชีเงินเดือนของท่านเพื่อนำไปลงทุนในกองทุนรวมประเภทต่างๆ ที่ท่านได้ทำการวางแผนจัดพอร์ตการลงทุนที่เหมาะสมไว้

จะเห็นได้ว่าการออมไม่ใช่เรื่องยาก แต่เป็นเรื่องสำคัญ ความสำเร็จของการออมไม่ได้ขึ้นอยู่ที่จำนวนเงินที่ออมว่าได้มากหรือน้อย หากแต่เป็นความภูมิใจในการได้ชนะใจตนเอง รวมถึงความสำเร็จต่อการฝึกวินัยตนเองให้สามารถบรรลุเป้าหมายที่วางไว้แล้วคุณจะพบว่า ความสุขจากการออมเงินนั้นมีจริง

“ออมก่อน รวยกว่า”

กองทุนบัวหลวง