กองทุนเปิดบัวหลวงหุ้นเอเชีย (B-ASIA)

กองทุนเปิดบัวหลวงหุ้นเอเชีย (B-ASIA)

สรุปภาวะตลาดหุ้นเอเชียไม่รวมญี่ปุ่นในช่วง ก.ค. – ต.ค. 2018

ตลาดหุ้นเอเชียในช่วงไตรมาสสามต่อเนื่องมายังเดือน ต.ค. ยังคงเผชิญกับความผันผวนและมีการปรับฐานอย่างต่อเนื่อง จากความกังวลของนักลงทุนในประเด็นสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่มีการใช้มาตรการตอบโต้กันเป็นระลอก สัญญาณการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน รวมไปถึงความกังวลเรื่องที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) อาจพิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ ซึ่งปัจจัยดังกล่าวส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้น ซึ่งการที่ค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นนับเป็นปัจจัยและความท้าทายสำคัญที่ทำให้กระแสเงินทุนไหลออกจากภูมิภาค

ด้านดัชนีตลาดหุ้น KOSPI ของเกาหลีใต้ถือว่าปรับตัวลดลงแรงที่สุด กองทุนหลักมีน้ำหนักลงทุนในประเทศนี้ประมาณ 20% เหตุจากความเสี่ยงต่างประเทศและปัจจัยภายในประเทศทางด้านผลประกอบการที่ประกาศออกมาต่ำกว่าคาดของบริษัทจดทะเบียนหลายแห่งโดยเฉพาะในอุตสาหกรรมยานยนต์และอุตสาหกรรมการบริโภค ทางด้านตลาดหุ้นอาเซียนซึ่งกองทุนหลักมีน้ำหนักลงทุนประมาณ 10% นั้น ปรับตัวลดลงน้อยกว่าตลาดอื่นในเอเชีย แม้ว่าบางประเทศจะพบกับปัญหาเงินอ่อนค่าและปัญหาเงินเฟ้อก็ตาม แต่ด้วยความที่ประเทศกลุ่มนี้ได้รับผลกระทบของปัญหาสงครามการค้าอย่างค่อนข้างจำกัด ประกอบกับราคาหุ้นที่ระดับมูลค่าปรับลดลงมาจนใกล้เคียงค่าเฉลี่ยในอดีต จึงทำให้ระดับดัชนีตลาดหุ้นกลุ่มประเทศอาเซียนทรงตัว

สรุปภาพรวมการลงทุนของกองทุนหลักในไตรมาสสาม

ในไตรมาสสาม ผลการดำเนินงานกองทุนหลักลดลง -1.5% (เมื่อคิดเป็นสกุลเงินดอลล่าร์สหรัฐฯ) ตามสถานการณ์ของตลาด แต่ถือว่าลดลงน้อยกว่าเกณฑ์มาตรฐานที่ลดลง -3.7% หุ้นในพอร์ตลงทุนที่มีราคาเพิ่มสูงขึ้นและสร้างผลกำไรให้พอร์ตลงทุนมากที่สุดในไตรมาสสาม คือ บริษัท China National Offshore Oil Corporation (CNOOC) ราคาหุ้นที่สูงขึ้นเพราะบริษัทได้รับอานิสงค์จากราคาน้ำมันดิบที่สูงขึ้น อีกทั้งบรรดาหุ้นของบริษัทในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีที่
พากันปรับตัวขึ้นหลังจากปรับฐานกันในช่วงก่อนหน้า

ในทางตรงกันข้าม หุ้นกลุ่มบริษัทอินเทอร์เน็ตจีนได้รับผลกระทบจากความกังวลในเรื่องเศรษฐกิจและการบริโภคที่อาจชะลอตัวรวมถึงการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นในธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ รวมถึงอุตสาหกรรมการเงินของอินเดียที่ได้รับผลกระทบจากความกังวลเรื่องสภาพคล่องและการผิดนัดชำระหนี้ของสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร (NBFC: Non-Bank Financial Corporation)

มุมมองจากผู้จัดการกองทุนหลัก Invesco Asian Equity Fund

ความผันผวนในตลาดหุ้นเอเชียในช่วงที่ผ่านมาเป็นไปด้วยสาเหตุหลักจากความไม่แน่นอนจากสถานการณ์ความตึงเครียดทางการค้าและการแข็งค่าขึ้นของค่าเงินดอลลาร์ ซึ่งทั้งสองปัจจัยน่าจะยังคงกดดันตลาดต่อไปในช่วงระยะสั้น อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าภูมิภาคเอเชียยังคงมีอัตราการเติบโตที่ดี นอกจากนั้น รายได้ของบริษัทจดทะเบียนในเอเชียยังคงอยู่ในระดับแข็งแกร่ง

Invesco คาดการณ์ว่าในปี 2019 อัตรากำไรต่อหุ้นของบริษัทจดทะเบียนในภูมิภาคเอเชียจะเติบโตได้ราว 11% ซึ่งทำให้มูลค่าหุ้นในปัจจุบันที่ P/E 11 เท่ากับเป็นระดับที่น่าสนใจที่จะเข้าไปลงทุน อีกทั้ง Invesco เชื่อว่าเอเชียจะเป็นหนึ่งในภูมิภาคที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจได้ดีในช่วงทศวรรษข้างหน้า หนุนโดยการบริโภคจากการเพิ่มขึ้นของรายได้ ประกอบกับการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมภายในภูมิภาคจะสร้างโอกาสทางด้านการลงทุนให้แก่นักลงทุนได้

Special Corner: มุมมองจากทีมเศรษฐกิจของ Invesco ในประเด็นความตึงเครียดเรื่องการค้า

ความตึงเครียดทางด้านการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนได้เข้ามาปั่นป่วนตลาดเป็นระยะเวลามากกว่า 6 เดือนแล้ว ปัจจุบันผลกระทบของตัวเลขทางเศรษฐกิจจากการขึ้นภาษีทางการค้ายังไม่ส่งผลชัดเจนนัก ตัวเลขการส่งออกของจีนขยายตัวขึ้นอย่างมากในช่วงที่ผ่านมาจากการเร่งซื้อสินค้าก่อนภาษีจะมีผลบังคับใช้ ขณะที่ตัวเลข PMI ของจีนในด้านคำสั่งซื้อสินค้าส่งออกลดลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 2 ปี นั้นบ่งชี้ถึงการชะลอตัวของการส่งออกในอนาคตอันใกล้ ทั้งนี้ สองสิ่งที่เห็นได้อย่างชัดเจนหลังจากเกิดความตึงเครียดทางการค้าขึ้น ได้แก่ 1. ผู้ประกอบการหลายเจ้าต่างมองหาฐานการผลิตใหม่แทนจีนเพื่อหลีกเลี่ยงการเพิ่มขึ้นของต้นทุน เช่น เวียดนาม เป็นต้น 2. การเพิ่มภาษีทางการค้าเป็นแรงขับเคลื่อนให้จีนหันไปผลิตสินค้าหรือดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่มีมูลค่าเพิ่มและได้กำไรสูงขึ้น

Invesco มองว่าการดำเนินนโยบายของจีนที่ผ่านมาไม่ว่าจะเป็นการลดอัตราดอกเบี้ย RRR หรือการปรับลดค่าเงินหยวน ไม่ได้ทำไปด้วยวัตถุประสงค์เพียงเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจจากการถูกกีดกันทางการค้า แต่ยังเป็นการลดผลกระทบจากการดำเนินนโยบายลดระดับหนี้ภายในประเทศ ซึ่งเป็นนโยบายที่ทางการจีนได้ให้ความสำคัญมาเป็นอันดับแรกในช่วงที่ผ่านมา หลังจากระดับหนี้ในประเทศพุ่งสูงขึ้นอย่างมหาศาลในช่วงปี 2008-2009 ส่งผลให้สภาพคล่องในระบบการเงินของจีนลดลงโดยจะเห็นได้ชัดนับตั้งแต่ต้นปี 2017 ที่อัตราการเติบโตของปริมาณเงิน M2 ลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะทำให้การบริโภครวมถึงการลงทุนในสินทรัพย์ถาวร ราคาบ้าน รวมถึง GDP ที่ลดความร้อนแรงตามไปด้วย ดังนั้น Invesco คาดว่า GDP ของจีนจะยังคงค่อยๆ ลดลงต่อเนื่องและอัตราเงินเฟ้อจะคงอยู่ในระดับต่ำในช่วงปี 2018-2019

ปัจจัยบวกและลบต่อตลาดหุ้นเอเชียไม่รวมญี่ปุ่นในระยะถัดไป

(+) มูลค่าหุ้นของเอเชียปรับตัวลงมาสู่จุดที่น่าสนใจด้วย P/E ที่ 11 ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยระยะยาวแล้ว ในขณะที่อัตรากำไรของบริษัทจดทะเบียนยังคงมีแนวโน้มเติบโต

(+) โครงการเชื่อมโยงระหว่างตลาดหุ้นจีนและฮ่องกง (Shanghai HK และ Shenzhen HK Stock Connect) ช่วยพัดพากระแสเงินลงทุนต่างชาติเข้าตลาดจีน Mainland

(+) ราคาน้ำมันดิบที่ลดลงช่วยผ่อนคลายแรงกดดันของบัญชีดุลการค้าในประเทศที่นำเข้าน้ำมันในระดับสูง เช่น อินเดีย

(-) ผลกระทบจากนโยบายลดหนี้ (Deleveraging) ของรัฐบาลจีนซึ่งกระทบกับเศรษฐกิจให้มีสัญญาณชะลอตัวลง

(-) หากพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปีสูงขึ้นอาจส่งผลให้กระแสเงินไหลออกจากตลาดเกิดใหม่ (EM) รวมถึงเอเชีย

กองทุนหลัก (Master Fund)

ชื่อ: Invesco Asian Equity Fund ชนิดหน่วยลงทุน Class C (AD) USD

วัตถุประสงค์การลงทุนของกองทุนหลัก: ลงทุนในหุ้นของบริษัทที่จดทะเบียนในประเทศภูมิภาคเอเชีย ดำเนินธุรกิจหลักในประทศภูมิภาคเอเชีย บริษัทโฮลดิ้งที่มีการลงทุนหลักในบริษัทที่จดทะเบียนในประเทศภูมิภาคเอเชีย โดยไม่รวมถึงญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์

วันจดทะเบียน: 10 ก.ย. 2018 (สำหรับ Share Class ใหม่)

ประเทศที่จดทะเบียน: ลักแซมเบิร์ก

สกุลเงิน: USD

เกณฑ์วัดผลการดำเนินงาน (Benchmark): MSCI AC Asia ex Japan Index

Morningstar Category: Asia ex Japan Equity

Morningstar Rating: 4 Stars

Bloomberg (A): INVASCAD LX

Fund Size: USD 1.09 Billion (ข้อมูล ณ 31 ต.ค. 2018)

NAV: USD 8.13

Number of holdings: 52

กลยุทธ์การลงทุนของกองทุนหลัก

ผู้จัดการกองทุนยังคงเน้นแสวงหาผลตอบแทนจากจากบริษัทที่ราคาหุ้นต่ำกว่าระดับที่ควรจะเป็น (Fair value) และบริษัทที่มีระดับมูลค่าตลาดเหมาะสมแต่มีแนวโน้มผลประกอบการออกมาดีกว่าที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้า ที่พบได้ชัด คือ หุ้นกลุ่มสถาบันการเงิน

  • กองทุนหลัก Overweight กลุ่มอุตสาหกรรม -> อินเตอร์เน็ตและเทคโนโลยีของจีนและไต้หวัน
  • กองทุนหลัก Overweight ประเทศ -> เกาหลีใต้ เพราะเชื่อว่าราคาหุ้นยังไม่สะท้อนปัจจัยบวกทางด้านการเปลี่ยนแปลงระเบียบภายในบริษัทเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับผู้ถือหุ้น

นอกจากนั้น ผู้จัดการกองทุนยังคงชื่นชอบอินเดียจากประเด็นการปฏิรูป อีกทั้งทางธนาคารกลางของอินเดียพยายามสนับสนุนการขยายตัวของสินเชื่อด้วยการผ่อนคลายกฎระเบียบจะช่วยหนุนการเติบโตของภาคธุรกิจต่อไป

สัดส่วนหลักทรัพย์ที่ถือครอง (ร้อยละของ NAV ณ วันที่ 28 ก.ย. 2018)

  1. Samsung Electronics Co Ltd (9.1%, เกาหลีใต้) บริษัทอิเล็กทรอนิกส์ข้ามชาติของเกาหลีใต้ เป็นบริษัทเทคโนโลยีสารสนเทศอันดับสองของโลก ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์หลายรายการ และเป็นผู้ผลิตโทรทัศน์รายใหญ่ที่สุดของโลกตั้งแต่ปี 2006 รวมทั้งเป็นผู้ผลิตโทรศัพท์มือถือรายใหญ่ที่สุดในโลก แซงหน้า Apple inc. ตั้งแต่ปี 2011 แม้ว่าผลประกอบการไตรมาสสามจะออกมาดี ทว่าราคาหุ้นยังคงปรับลดลง ด้วยความกังวลของนักลงทุนเกี่ยวกับธุรกิจ Semiconductor ซึ่งมีสัดส่วนกว่า 70% ของกำไรจากการดำเนินงานของบริษัท จะถูกกระทบจากเรื่องการกีดกันทางการค้า อีกทั้ง ธุรกิจส่วนอื่นอาจกำลังเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นโดยเฉพาะจากคู่แข่งในประเทศจีน
  2. Taiwan Semiconductor Co Ltd (6.2%; ไต้หวัน) บริษัทผลิตชิ้นส่วนเซมิคอนดักเตอร์รายใหญ่ที่สุดของโลก มีฐานการผลิตทั้งในจีน สหรัฐฯ แคนาดา ญี่ปุ่น อินเดีย และเกาหลีใต้ ราคาหุ้นของ TSMC ในช่วงที่ผ่านมาได้รับผลกระทบจาก Sentiment ของตลาดเรื่องสงครามการค้า อีกทั้งในระยะสั้นอาจได้รับผลกระทบจาภาวะอุปทานส่วนเกินในตลาดและการลดกำลังผลิตของ iPhone ทั้งนี้ ในระยะยาว TSMC ยังคงมีแนวโน้มที่ดีจากอุปสงค์ต่อ High-end Smart Phone ที่ยังขยายตัวได้ รวมถึงการใช้ Memory Chip ในการทำ Machine Learning ของ AI
  3. AIA Group Ltd (6.1%; ฮ่องกง) กลุ่มประกันชีวิตอิสระมีสาขาครอบคลุม 18 ประเทศในเอเชียแปซิฟิก โดยในไตรมาส 3 ผลประกอบการของ AIA ได้แรงหนุนการเติบโตของเบี้ยประกันที่ดี โดยคาดการณ์ว่าแนวโน้มของ AIA จะขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะในตลาดจีน อินเดียและอาเซียนที่รายได้ของประชากรเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้ความต้องการทางด้านการจัดการทางการเงินเร่งตัวขึ้นตามไปด้วย
  4. Tencent Holding Ltd (4.3%; จีน) บริษัทให้บริการเกมส์ออนไลน์ มีบริษัทลูกชื่อ Tencent Technology (Shenzhen) Co., Ltd. ซึ่งถือสิทธิบัตรเกี่ยวกับโปรแกรม Instant Messaging (โปรแกรมแชท) และเกมออนไลน์ ปัจจุบัน Tencent เป็นเจ้าของแพลตฟอร์มสังคมออนไลน์ขนาดใหญ่ติดอันดับโลกถึง 3 ตัวด้วยกัน ได้แก่ Tencent QQ, Tencent Qzone และ WeChat มียอดผู้ใช้งาน (Active User) เกิน 500 ล้านคนทั่วโลก ปัจจุบัน Tencent ติด 1 ใน 5 บริษัทเทคโนโลยีที่ใหญ่ที่สุดในโลก ราคาหุ้นของ Tencent ปรับตัวลดลงตาม Sentiment ของตลาดและได้รับผลกระทบจากกฎการจำกัดการเล่นเกมส์ของเยาวชน อย่างไรก็ตาม คาดว่าธุรกิจของ Tencent จะเจริญเติบโตได้อย่างต่อเนื่องจากจุดแข็งทางด้านแพลตฟอร์มทางด้านความบันเทิงและโซเชียลเน็ตเวิร์ก รวมถึงการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของประชากรจีนที่เร่งตัวขึ้น
  5. Industrial & commercial Bank of China Ltd (3.9%; จีน) ให้บริการทางการเงินสำหรับลูกค้าตั้งแต่บุคคลธรรมดาจนถึงภาคธุรกิจทั่วประเทศจีน โดย ณ ปัจจุบัน ICBC เป็นธนาคารที่มีขนาดสินทรัพย์ใหญ่ที่สุดในโลก และมีสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่งโดยมีอัตราส่วน CET1 สูงที่สุดในอุตสาหกรรม อัตราการขยายตัวของสินเชื่อที่อยู่ในระดับสูง