ความในใจเกษตรกรส่งต่อถึงผู้ลงทุน ‘กองทุนรวม คนไทยใจดี: BKIND’

ความในใจเกษตรกรส่งต่อถึงผู้ลงทุน ‘กองทุนรวม คนไทยใจดี: BKIND’

By…จารุพันธ์ จิระรัชนิรมย์

การลงทุนผ่านกองทุนรวม คนไทยใจดี (BKIND) เป็นช่องทางหนึ่งที่สามารถทำดีไปพร้อมกับการลงทุน ทั้งมีโอกาสรับผลตอบแทนได้ ที่ผ่านมา BKIND สนับสนุนโครงการดีๆ ไปแล้วหลายโครงการ หนึ่งในนั้น คือ โครงการ “การจัดการบริหารน้ำด้วยพลังงานทดแทน” (ระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์) สำหรับพื้นที่รับผลประโยชน์ 2,320 ไร่ครอบคลุม พื้นที่หาดเค็ด บ้านเมืองหลวง บ้านใหม่สามัคคี ตำบลเมืองจัง อำเภอภูเพียง จ.น่าน

ปลายเดือน ต.ค. ที่ผ่านมา ทีมงานกองทุนบัวหลวง ลงพื้นที่ติดตามความสำเร็จของโครงการที่สนับสนุน และพบปะ พูดคุยกับเกษตรกรในพื้นที่ ทำให้รับทราบว่า เม็ดเงินของกองทุน BKIND  สามารถสร้างผลดีให้เกษตรกรได้อย่างเป็นรูปธรรม โดยคุณโสภา ทวีพันธ์ หรือ อ้อย เกษตรกรหัวไวใจกล้า ที่ยอมตัดใจจาก ชีวิตสาวออฟฟิศทำงานในออฟฟิศติดแอร์ที่เมืองกรุง มุ่งหน้ากลับสู่บ้านเกิด จ.น่าน ทำการเกษตร พร้อมดูแลพ่อแม่ที่เริ่มอายุเยอะขึ้น เป็นตัวแทนเกษตรกรส่งความในใจกลับมาว่า โครงการการจัดการบริหารน้ำด้วยพลังงานทดแทน สร้างผลตอบแทนที่ยิ่งใหญ่กลับมาให้เธอและเพื่อนเกษตรกรในพื้นที่ได้จริงๆ

คุณอ้อย บอกกับทีมงานกองทุนบัวหลวงว่า เธอไม่เคยคาดคิดมาก่อนว่า คนที่ไม่รู้จักกันจะให้ความสนใจช่วยเหลือกันผ่านช่องทางดีๆ อย่าง BKIND การที่ BKIND มาเป็นส่วนหนึ่งสนับสนุนโครงการนี้ ทำให้เกษตรกรในพื้นที่ อ.ภูเพียง จ.น่าน ได้รับประโยชน์อย่างมาก จากที่ไม่เคยมีน้ำใช้ ก็ได้น้ำมาใช้ในครัวเรือนและใช้ปลูกพืชในสวน

“เราไม่รู้เลยว่า เงินทุนนี้เป็นของผู้ใหญ่หรือประชาชนใจดีคนไหนช่วยเรา แม้การสนับสนุนรูปแบบนี้ไม่ใช่การมาลงมือทำในพื้นที่ด้วยตัวเอง แต่อย่างน้อยก็ถือเป็นน้ำใจที่ยิ่งใหญ่ที่คอยสนับสนุน ต่อทุน ต่อลมหายใจให้คนในพื้นที่ ขอขอบคุณมากๆ ค่ะ” คุณอ้อย กล่าว

ทั้งนี้ คุณอ้อย ยังเล่าย้อนให้ฟังถึงการเข้าร่วมเป็นเกษตรกรส่วนหนึ่งในโครงการว่า ก่อนหน้านี้ เธอทำงานในกรุงเทพฯ มา 12 ปี เป็นสาวออฟฟิศแล้วตัดสินใจกลับมาทำการเกษตรที่บ้าน เมื่อปี 2016 ในตอนแรกที่กลับมาก็ไม่รู้จักใครมากนัก รู้แต่ว่า อยากกลับมาทำเกษตรทฤษฎีใหม่ คือ ทำน้อยๆ ใช้พื้นที่น้อยๆ แต่ได้ผลผลิตมากกว่าสมัยก่อน ที่ทำการเกษตรกันในพื้นที่ขนาดใหญ่มากๆ แต่ได้กำไรเพียงนิดเดียว

ด้วยเหตุนี้จึงตัดสินใจเข้าร่วมกลุ่มเกษตรกรหัวไวใจกล้า ใช้ระบบการจัดการบริหารน้ำด้วยพลังงานทดแทนในโครงการนี้ พร้อมทั้งปรับเปลี่ยนวิถีการทำเกษตร จากเดิมที่พ่อของเธอปลูกข้าวโพดบนพื้นที่สูง อยู่ห่างไกลแหล่งน้ำมาก และยังต้องใช้พื้นที่มาก พอน้ำไปไม่ถึงก็มีปัญหาตามมา จึงเปลี่ยนมาปลูกพืชสวนครัว ทำเกษตรผสมผสาน คือ มีพืชหลายๆ อย่าง แล้วใช้ระบบการจัดการบริหารน้ำนี้

“เดิมมีปัญหาเรื่องน้ำ เพราะระบบน้ำไม่ดี ต้องสูบน้ำมาเพื่อเลี้ยงต้นข้าวโพดที่ปลูกบนพื้นที่สูง ซึ่งสมัยนั้น พ่อปลูกข้าวโพด ใช้พื้นที่มากกว่า 30 ไร่ ต้องใช้แรงงานมาก เวลาเก็บเกี่ยวก็ต้องแบกข้าวโพดจากที่สูงกลับบ้าน พอกลับมาอยู่ที่บ้านก็เลยปรับเปลี่ยนไม่ทำไร่ข้าวโพดแล้ว และเข้าร่วมโครงการใช้น้ำจากระบบการบริหารจัดการน้ำ ปีแรกเริ่มจากการลงต้นกล้วยก่อน และใช้พื้นที่ด้านล่างลงมาจากเดิมปลูกผัก โดยไม่ใช้สารเคมี”

วิธีการที่คุณอ้อยเลือกก็คือ เธอจะปลูกพืชชนิดหนึ่งๆ คนละช่วงเวลากับเกษตรกรรายอื่นที่ปลูกพืชชนิดนี้ เพื่อให้ผลผลิตออกมาในช่วงเวลาต่างกัน อีกทั้งจะปลูกโดยไม่ใช้ยาฆ่าหญ้า แต่จะตัดหญ้าเองและนำหญ้าเหล่านั้นมาทำน้ำหมัก ปุ๋ยหมัก เพื่อไปรดต้นไม้ ซึ่งช่วยลดต้นทุนได้มาก เมื่อผลผลิตออกแล้ว ส่วนหนึ่งก็เก็บไว้กินในครัวเรือน อีกส่วนก็นำไปจำหน่ายตามท้องตลาดในชุมชน และหากในอนาคต เมื่อผลผลิตมากขึ้น ก็คงจะหาช่องทางส่งไปจำหน่ายในพื้นที่ไกลขึ้นด้วย

ขณะที่ คุณลุง ล้วน พรมกำ เกษตรกรอีกคนที่ได้ประโยชน์จากระบบบริหารจัดการน้ำ กล่าวว่า ลุงเลี้ยงกบขายส่งที่ตลาด จากเดิมมีบ่อเลี้ยงกบ 2-3 บ่อ แล้วก็ขยายเพิ่มเป็น 6-7 บ่อ พร้อมกับปลูกพืชและเลี้ยงหมูด้วย ถือเป็นช่องทางสร้างรายได้ให้ครอบครัว สำหรับน้ำที่ใช้ในการเลี้ยงกบ รวมถึงปลูกพืช ล้วนมาจากระบบบริหารจัดการน้ำทั้งสิ้น

อีกรายหนึ่งได้ประโยชน์จากระบบการบริหารจัดการน้ำ คือ คุณขวัญประชา วังสนิท บอกว่า ตนเองเป็นเกษตรกรที่ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับศูนย์การเรียนรู้โจ้โก้ ศูนย์กลางรวบรวมพันธ์พืช กระจายพืชพันธุ์ดีให้เกษตรกร พร้อมเป็นแหล่งเรียนรู้เทคนิคการเกษตรแบบไร้สารพิษ โดยเกษตรกรที่นี่จะร่วมมือกันตั้งแต่กระบวนการบริหารจัดการน้ำ ไปจนถึงการหาช่องทางทำตลาดค้าขายสินค้าเกษตร

“ที่เมืองจัง ช่วงฤดูฝนจะมีปัญหาน้ำหลากลงมาที่น่านตลอด มีน้ำท่วมอยู่เป็นประจำ พอถึงฤดูแล้ง ก็แล้งซ้ำซากทุกปี ดังนั้น น้ำจึงเป็นปัญหาของเกษตรกร ซึ่งจริงๆ แล้วปัญหามาจากกระบวนการจัดการ เป็นที่มาของการเสนอทำโครงการนี้ โดยเป็นการปรับปรุงแหล่งเก็บน้ำในพื้นที่ที่มีอยู่ ให้เก็บน้ำได้มากขึ้น พร้อมนำหลักการระบบกาลักน้ำมาใช้ ทำให้ไม่ต้องสร้างแทงค์เก็บน้ำสูงๆ แต่ใช้วิธีสร้างถังเก็บน้ำบ่อพวงไว้ตรงสันเขา โดยระบบนี้ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ คอยส่งน้ำจากแหล่งเก็บในบ่อพวงกระจายให้เกษตรกร” คุณขวัญประชา อธิบาย

เหล่านี้คือ ภาพที่สะท้อนว่า เงินลงทุนที่ ของผู้ลงทุนในกองทุนรวม คนไทยใจดี (BKIND) สามารถทำดีไปพร้อมกัน ทั้งยังส่งผลดีไปถึงพื้นที่ที่เดือดร้อนจริงๆ เช่น ในกรณีการสนับสนุนการทำระบบการจัดการบริหารน้ำด้วยพลังงานทดแทนที่ทำให้เกษตรกรในพื้นที่ จ.น่าน ได้ใช้ประโยชน์ สร้างรายได้ให้กับครอบครัวได้ และยังเป็นประโยชน์ต่อประเทศด้วย เพราะเมื่อชาวบ้านมีกิน มีใช้ได้จากการมีแหล่งน้ำอุดมสมบูรณ์หล่อเลี้ยงพืชผล ก็จะไม่กลับไปรุกล้ำพื้นที่ป่าปลูกพืชเชิงเดี่ยวที่ต้องใช้สารเคมี ทำลายผืนดิน ผืนป่า อีกต่อไป