แต่งงานทั้งที…จดทะเบียนดีไหม?

แต่งงานทั้งที…จดทะเบียนดีไหม?

 

โดย…พริ้มพัชร จิรบวรพงศา AFPTTM

ผู้เชี่ยวชาญด้านการวางแผนทางการเงิน

BF Knowledge Center

การมีชีวิตคู่เชื่อว่าเป็นสิ่งที่หลายคนปรารถนา โดยการแต่งงานที่ถูกต้องตามประเพณีเป็นการประกาศให้ครอบครัวและคนทั่วไปรับรู้ว่า “ทั้งสองคนเป็นสามีภรรยากัน” ซึ่งการแต่งงานนั้นไม่ได้บังคับเรื่องการจดทะเบียนสมรส กล่าวคือ การจดทะเบียนสมรสขึ้นอยู่กับความสมัครใจของทั้งสองฝ่าย หากตัดสินใจจดทะเบียนสมรสหมายความว่า นอกเหนือจากข้อผูกพันทางกายแล้วยังมีข้อผูกพันทางกฎหมายตามมาด้วย โดยข้อผูกพันทางกฎหมายนี้ก็มีเรื่องของเงินๆ ทองๆ เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ทำให้หลายคู่มีข้อสงสัยว่าควรจดทะเบียนสมรสหรือไม่?

สำหรับการวางแผนทางการเงิน ไม่อาจมีคำตอบที่ตายตัวว่า “การจดทะเบียนสมรส” หรือ “ไม่จดทะเบียนสมรส” แบบไหนดีกว่ากัน? เพราะการจดทะเบียนสมรสนั้นมีทั้งข้อดีและข้อเสีย ซึ่งขึ้นอยู่กับสถานการณ์ ปัจจัยแวดล้อม และความต้องการของคนทั้งคู่

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาในแง่มุมของการวางแผนทางการเงินพบว่า การจดทะเบียนสมรสช่วยให้คู่สมรสสามารถจัดการทรัพย์สินได้สะดวกยิ่งขึ้น หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเสียชีวิตไปก่อน แต่ก็เชื่อว่ายังมีคู่สมรสบางคู่ที่มีความกังวลเกี่ยวกับความไม่แน่นอนที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดการหย่าร้างและกังวลว่าจะต้องยุ่งยากเรื่องสินสมรส

ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจว่า ทรัพย์สินที่แต่ละฝ่ายมีอยู่ก่อนหน้าที่จะจดทะเบียนสมรสเป็น “สินส่วนตัว” แต่ทรัพย์สินที่ได้มาหลังจากจดทะเบียนสมรส รวมถึงดอกผลที่เกิดขึ้นจากทรัพย์สินทั้งก่อน/หลังจดทะเบียนสมรสถือเป็น “สินสมรส” หากคู่สมรสต้องการจดทะเบียนและไม่มีความกังวลใจในเรื่องทรัพย์สินก็สามารถจดทะเบียนสมรสได้เลย โดยข้อดีของการจดทะเบียนสมรสมีหลายอย่าง

ยกตัวอย่าง

  • ทำให้ฝ่ายหญิงมีสิทธิใช้ชื่อสกุลของฝ่ายชาย (หรือไม่ใช้ก็ได้)
  • ทำให้บุตรมีฐานะเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย ใช้ชื่อสกุลฝ่ายชาย และรับมรดกได้
  • คู่สมรสสามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีเงินได้ (คู่สมรสต้องไม่มีเงินได้/มีเงินได้น้อยกว่า 30,000 บาทต่อปี)
  • คู่สมรสมีสิทธิจัดการสินสมรสร่วมกัน
  • คู่สมรสมีสิทธิรับมรดกของคู่สมรสฝ่ายที่เสียชีวิตไปก่อน (เทียบเท่าชั้นบุตร)
  • คู่สมรสที่สิทธิฟ้องร้อง เรียกร้องค่าทดแทนจากผู้ที่ทำร้าย ให้ร้าย ทำให้คู่สมรสเสียชีวิต
  • การทำความผิดระหว่างสามีภรรยา เช่น สามีขโมยเงินภรรยา ภรรยาบุกเข้าบ้านสามีไม่ต้องรับโทษตามกฎหมาย (ประมวลอาญา มาตรา 71)
  • ฯลฯ

สำหรับความไม่สะดวกที่เกิดขึ้นจากการจดทะเบียนสมรส การทำธุรกิจ ธุรกรรม รวมถึงการทำนิติกรรมบางอย่าง ก็อาจยุ่งยากมากขึ้นเพราะต้องให้คู่สมรสรับรู้ด้วย สำหรับฝ่ายหญิงกรณีเปลี่ยนคำนำหน้า ชื่อสกุล ก็ต้องไปทำเอกสารใหม่ นอกจากนี้ ยังรวมถึงรายได้และดอกผลที่เกิดจากสินส่วนตัวของเราต้องกลายเป็นสินสมรสด้วย (กรณีรับมรดกหลังจากจดทะเบียนสมรสจะนับเป็นสินส่วนตัว … ขอให้สบายใจได้) ดังนั้น สำหรับคนที่ต้องการจดทะเบียนสมรสและต้องการความสบายใจเรื่องสินทรัพย์ส่วนตัวก่อนสมรสจะต้องทำ “สัญญาก่อนสมรส”

“สัญญาก่อนสมรส” สามารถทำได้ 2 แบบคือ จดแจ้งข้อตกลงไว้ในทะเบียนสมรสพร้อมกับการจดทะเบียนสมรส หรือทำเป็นหนังสือบันทึกรายละเอียดสินทรัพย์ส่วนตัวเป็นลายลักษณ์อักษร ลงนามโดยคู่สัญญาทั้งสองฝ่าย (สามีภรรยา) มีพยานสองคน แนบเข้ากับใบสำคัญการสมรสที่แจ้งจดต่อนายอำเภอในวันเดียวกัน

ทั้งนี้ การแก้ไขเปลี่ยนแปลงสัญญาก่อนสมรสจะทำได้โดยคำสั่งของศาลเท่านั้น ซึ่งคู่สมรสจะต้องยินยอมทั้ง 2 ฝ่าย (ตามมาตรา 1467) แต่หากจดทะเบียนสมรสไปแล้ว และได้จัดทำสัญญาหรือบันทึกรายการทรัพย์สินเพิ่มเติมในภายหลัง สัญญานั้นเรียกว่า “สัญญาระหว่างสมรส” ซึ่งเป็นสัญญาที่คู่สมรสมีสิทธิบอกล้างได้ในขณะที่เป็นสามีภรรยากันอยู่ หรือภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่ขาดจากการเป็นสามีภรรยากัน

“สัญญาก่อนสมรส” และ “สัญญาระหว่างสมรส” เหมาะสำหรับคู่สมรสที่มีความเข้าใจสิทธิและหน้าที่ของกันและกันในเรื่องของการบริหารทรัพย์สิน หนี้สิน และการเงินของครอบครัว นอกจากนี้ ยังรวมถึงความเข้าใจในความจำเป็นส่วนบุคคล เช่น คู่สมรสมีมรดก/ทรัพย์สินบางอย่างที่ควรตกทอดอยู่ในครอบครัวฝ่ายตนเท่านั้น คู่สมรสที่มีธุรกิจติดตัวมาและจำเป็นต้องวางแผนทางการเงินระยะยาว คู่สมรสมีหนี้สินจำนวนมากติดตัวมา หรือการที่คู่สมรสต้องการให้ความคุ้มครองแก่ลูกที่เกิดจากการสมรสครั้งก่อน เป็นต้น ดังนั้น การพูดคุยกับเรื่องสัญญาทั้งก่อนและระหว่างสมรส จึงเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนกับจิตใจของคู่สมรสอีกฝ่าย ซึ่งต้องทำความเข้าใจกันให้ดี

การตัดสินใจ “จด หรือ ไม่จดทะเบียนสมรส” จึงขึ้นอยู่กับความต้องการส่วนบุคคลและปัจจัยแวดล้อม ซึ่งส่วนใหญ่ก็มีเรื่องของธุรกิจและการเงินมาเกี่ยวข้อง หากเป็นคนธรรมดาทั่วไป ไม่มีธุรกิจใหญ่โต และทั้งสองฝ่ายมีฐานะใกล้เคียงกัน ในการวางแผนทางการเงินก็แนะนำให้จดทะเบียนสมรส เพราะนับตั้งแต่ที่จรดปากกา กฎหมายก็ได้รับรองและคุ้มครอง โดยประเด็นความคุ้มครองซึ่งฝ่ายหญิงต้องคำนึงถึงมากที่สุดคือ การรับรองบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย เพื่อความมั่นคงว่าจะได้รับการดูแลและอุปการะ รวมถึงทรัพย์สินที่หามาได้นำจากวันที่จดทะเบียนจะตกแก่บุตรซึ่งเป็นทายาทโดยธรรม

สำหรับผู้ทำธุรกิจขนาดปานกลางถึงใหญ่ และต้องใช้ระยะเวลายาวนานสำหรับการลงทุน รวมถึงมีทรัพย์สิน/หนี้สิน การไม่จดทะเบียนสมรสก็อาจเป็นทางเลือกที่ดีกว่า เพราะเป็นการจำกัดวงความเสี่ยงทางด้านการเงินครอบครัว ทรัพย์สินของทั้งสองฝ่ายแยกจากกัน ซึ่งหากธุรกิจไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง ครอบครัวก็จะสามารถดำรงสถานะทางการเงินต่อไปได้ ทั้งนี้ ต้องทำความเข้าใจว่าการไม่จดทะเบียนสมรส คือ การเป็นสามีภรรยากันแค่ในนาม ไม่มีสิทธิได้รับมรดกของคู่สมรส บุตรที่เกิดมาจะเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฏหมายของฝ่ายหญิงเท่านั้น เว้นแต่ฝ่ายชายจะจดทะเบียนรับรอง และหากชีวิตคู่ไม่เป็นไปตามที่หวังไว้ก็จะไม่มีสิทธิในการเรียกร้องค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรจากฝ่ายชายด้วย

อย่างไรก็ตาม แม้เรื่องการ “จด หรือ ไม่จดทะเบียนสมรส” จะสำคัญกับการวางแผนการเงินของครอบครัว แต่ก็อย่าลืมที่จะวางแผนทางการเงินส่วนบุคคลเพื่อเป้าหมายต่างๆ ในชีวิตของเรา เช่น ความฝัน ท่องเที่ยว สุขภาพ รวมถึงการมีคุณภาพชีวิตที่ดีในวัยเกษียณด้วย เพราะคำว่าครอบครัวคือ มีเธอ มีฉัน และมีเรา