Fund Comment: มุมมองตลาดตราสารหนี้ เดือนพฤศจิกายน 2561

Fund Comment: มุมมองตลาดตราสารหนี้ เดือนพฤศจิกายน 2561

ในเดือนพฤศจิกายน ตลาดตราสารหนี้ทั้งไทยและสหรัฐฯ ต่างมีความผันผวนค่อนข้างสูง อัตราผลตอบแทนการลงทุน (Yield) ของทั้งสองตลาดปรับตัวขึ้นลงตามปัจจัยที่เข้ามากระทบและมีทิศทางเคลื่อนไหวเป็นของตัวเอง

อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรสหรัฐฯ ในช่วงสัปดาห์แรกของเดือนปรับตัวสูงขึ้น โดยมีปัจจัยสนับสนุนจาก ตัวเลขการจ้างของภาคเอกชนในเดือน ต.ค. ที่เพิ่มขึ้นดีเกินคาด ปริมาณพันธบัตรรัฐบาลเสนอขายสำหรับวัตถุประสงค์ Quarterly refunding ที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 83 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ปรับเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนที่ 78 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) และ ผลการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ที่มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่ระดับ 2.00-2.25% พร้อมส่งสัญญาณปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือน ธ.ค. 61 ซึ่งจะส่งผลให้ปีนี้ทั้งปี ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยรวม 4 ครั้ง ส่วนปีหน้า ส่งสัญญาณปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 3 ครั้งและอีก 1 ครั้งในปี 2563

อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่กลางเดือน แรงกดดันจากเงินเฟ้อลดน้อยลง ราคาน้ำมันโลกลดลงต่อเนื่องกว่า 20% นับจากเดือนตุลาคม อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเดือนตุลาคมต่ำกว่าคาด ประกอบกับคำกล่าวของประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) นาย Jerome Powell ที่กล่าวว่าเฟดจะพิจารณาอย่างรอบคอบเกี่ยวกับการขึ้นดอกเบี้ยทั้งในแง่อัตราการขึ้นและจังหวะเวลา รวมไปถึง รองประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ นาย Richard Clarida ที่กล่าวว่า อัตราดอกเบี้ยระยะสั้นของเฟดใกล้ถึงระดับที่เป็นกลางแล้ว (Neutral rate) ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ อายุตั้งแต่ 2 ปีขึ้นไป ณ วันที่ 27 พ.ย.2561 ปรับตัวลดลง 0.15% -0.20% เมื่อเทียบกับช่วงสัปดาห์แรกของเดือน

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรไทย ตั้งแต่ต้นเดือนทยอยปรับตัวลงต่อเนื่อง โดย ณ วันที่ 27 พ.ย. 2561 อัตราผลตอบแทนพันธบัตรไทย อายุตั้งแต่ 2 ปีขึ้นไป ปรับตัวลงราว 0.10% เมื่อเทียบกับ ณ สิ้นเดือน ต.ค. เป็นผลจากรายงานตัวเลขเศรษฐกิจต่างๆ ที่ประกาศออกมา ไม่ว่าจะเป็น รายงานตัวเลขเศรษฐกิจ เดือน ก.ย.ของ ธปท. ที่แสดงให้เห็นว่าแม้เศรษฐกิจจะเติบโตต่อเนื่องแต่ก็ชะลอตัวลง อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือน ต.ค. จากกระทรวงพาณิชย์อยู่ที่ 1.23%YoY ซึ่งต่ำกว่าตัวเลขในเดือนก่อนและต่ำกว่าที่ตลาดคาดไว้ที่ 2.33%YoY รายงานอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยไตรมาส 3/61 จากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ที่ขยายตัวเพียง 3.3% ต่ำกว่าที่ตลาดคาดไว้ที่ 42.% และชะลอลงจากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัวถึง 4.6%

สำหรับการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันที่ 14 พ.ย. ที่ผ่านมานั้น แม้ผลการประชุมจะออกมาตามที่ตลาดคาด คือ มีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ในระดับเดิมที่ 1.50% แต่คะแนนเสียงของกรรมการที่ให้ปรับขึ้นดอกเบี้ยเพิ่มเป็น 3 เสียง จากเดิม 2 เสียง เสียงสนับสนุนให้ขึ้นดอกเบี้ยที่มีจำนวนมากขึ้น ทำให้ตลาดคาดว่าโอกาสที่จะเห็น กนง. ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายมีสูงขึ้น

ในระยะต่อไปมองว่า ตลาดการเงินจะยังคงเผชิญความผันผวนสูงต่อไป จากทั้งประเด็นความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่ยังไม่มีทีท่าว่าจะยุติ ปัญหา Brexit ที่ทวีความขัดแย้งภายในจนอาจนำไปสู่การลงมติไม่ไว้วางนายกรัฐมนตรี ปัญหาการคลังของประเทศอิตาลีที่อาจส่งผลต่อความเชื่อมั่นในเศรษฐกิจยูโรโซน ราคาน้ำมันที่ปรับตัวลงแรง รวมถึง การทยอยออกมาปรับลดอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของหน่วยงานต่างๆ เช่น กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD)

ในส่วนของตลาดตราสารหนี้ไทย แม้จะมีสัญญาณความต้องการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายจาก ธปท. เนื่องจากกังวลเกี่ยวกับการคงอัตราดอกเบี้ยต่ำเป็นระยะเวลานานจนอาจส่งผลข้างเคียงต่อระบบเศรษฐกิจ แต่ด้วยสภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันที่มีความเสี่ยงทั้งจากภายในและภายนอกประเทศ อีกทั้งแรงกดดันจากภาวะเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับที่ไม่สูงแม้ว่าจะมีแนวโน้มเงินเพิ่มขึ้นก็ตาม จึงเชื่อว่าการตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ยของ ธปท. จะทำอย่างรอบคอบ พิจารณาข้อมูลอย่างรอบด้าน และการขึ้นอัตราดอกเบี้ยในรอบนี้น่าจะเป็นอย่างค่อยเป็นค่อยไป ส่วนการปรับดอกเบี้ยจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่น่าจะขึ้นอยู่กับตัวเลขทางเศรษฐกิจที่ส่งสัญญาณชะลอตัวในช่วงที่ผ่านมา หากการชะลอตัวดังกล่าวส่งผลต่อโมเมนตัมของเศรษฐกิจอย่างมีนัยยะ ก็คาดว่าไม่น่าจะเห็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายภายในปีนี้