ฝึกนิสัยใหม่สู่การเป็นเศรษฐี

ฝึกนิสัยใหม่สู่การเป็นเศรษฐี

ฝึกนิสัยใหม่สู่การเป็นเศรษฐี

โดย…อรพรรณ  บัวประชุม CFP®

ผู้เชี่ยวชาญด้านการวางแผนทางการเงิน

BF Knowledge Center

การที่จะเป็นเศรษฐี รวยได้อย่างที่ควรเป็น ต้องมีนิสัยอย่างไรบ้าง ตั้งแต่อดีต เราจะเห็นคนรวยส่วนใหญ่มีนิสัยขี้เหนียว กว่าจะจ่ายอะไรได้นี่ลำบากมาก คิดแล้วคิดอีก แต่ถ้าเราลองมองกลับไป จะเห็นว่าในสมัยก่อน การใช้ชีวิตไม่ได้สะดวกสบายเหมือนในสมัยปัจจุบัน การจะหาเงินได้แต่ละบาทก็แสนจะลำบาก จึงทำให้การจะใช้จ่ายอะไรต้องคิดแล้วคิดอีก ว่าการซื้อในครั้งนี้ จะคุ้มกับเงินที่ต้องจ่ายออกไปไหม

เพราะฉะนั้น นิสัยเศรษฐีส่วนใหญ่ที่มีอย่างแรกคือ การคิดก่อนจ่าย นั่นเอง เทียบกับสมัยนี้ ก็คือ ก่อนจะไปซื้อของ ควรจดก่อนว่าจะซื้ออะไรบ้าง แล้วซื้อตามรายการที่จด ส่วนที่เกินจากที่จดเราก็ไม่ซื้อ (ยกเว้นว่าลืมจด) โดยเฉพาะหากมีรายการลดราคา โปรโมชั่นต่างๆ เรามักจะหลงซื้อมาก่อนเพราะราคาถูก แต่จริงๆ แล้วอาจจะไม่ได้ถูกอย่างที่คิด ถ้าเราซื้อมาแล้วไม่ได้ใช้ เท่ากับเอาเงินไปซื้อขยะมาเก็บในบ้าน บางทีซื้อซ้ำแบบไม่ได้ตั้งใจ กลับมาที่บ้านถึงกับงงว่าเคยซื้อแล้วตั้งแต่เมื่อไหร่กัน

นอกจากนี้แล้วยังมีอีกอย่างหนึ่งก็คือ จดบันทึกทุกครั้งที่จ่าย ถ้าจ่ายก็ต้องจด แม้ว่าจะใช้บัตรเครดิตก็ตาม จะทำให้เรารู้ว่าในวันนี้เราจ่ายอะไรไปบ้าง รูดไปแล้วเท่าไหร่ เพราะบางครั้งรูดเพลินเกินกว่าเงินเดือนที่ได้รับ จะทำให้ช้ำใจหนักเมื่อใบแจ้งหนี้มาถึง เพราะฉะนั้นต้องมีการจดบันทึกเตือนความทรงจำ รวมถึงเวลาที่ได้เงินมาก็จดบันทึกด้วยเช่นกัน จะได้เห็นรายได้ และรายจ่ายได้อย่างชัดเจนมากยิ่งขึ้น

อีกข้อที่เรามักจะได้ยินกันบ่อยๆ คือ “มีสลึงพึงบรรจบให้ครบบาท อย่าให้ขาดสิ่งของต้องประสงค์ มีน้อยใช้น้อยค่อยบรรจง อย่าจ่ายลงให้มากจะยากนาน” ดังนั้น จึงเห็นว่า แม้เงินเพียงเล็กน้อยก็อย่าได้ดูถูกดูแคลน เงินเล็กๆ น้อยๆ เมื่อมารวมกันก็เป็นเงินมูลค่ามากได้ ก็เช่นเดียวกับการอดออมของเรา หากเรามีเงินได้ไม่มากนัก แต่มีวินัยรู้จักอดออม เท่าๆ กันทุกเดือน เมื่อเวลาผ่านไปก็จะมีเงินก้อนใหญ่แบบที่เราไม่รู้ตัว

หากคิดว่าเก็บไม่ได้แน่ๆ ก็ใช้วิธีหักบัญชีเงินเดือนเลย ยกตัวอย่างเช่น บริษัทที่ทำงานมีสวัสดิการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เราซึ่งเป็นลูกจ้างก็สามารถขอหักเงินสะสมได้สูงสุด 15% ของเงินเดือน แต่ถ้าบริษัทไม่มี ก็สามารถหักเงินเข้าบัญชีกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ถ้าเราต้องการเก็บเงินสำหรับเกษียณ แต่ถ้ายังไม่คิดถึงเรื่องเกษียณ เผื่อมีเป้าหมายอื่น ก็หักเงินเข้าบัญชีกองทุนตามที่เราสามารถรับความเสี่ยงได้ อย่างเช่น กองทุนรวมตราสารหนี้ กองทุนรวมผสม หรือกองทุนรวมตราสารทุน เป็นต้น

อีกอย่างที่ขาดไม่ได้ก็คือ ซื้อเมื่อพร้อม อันนี้บอกเลยว่าต้องพร้อมทั้งใจและเงินในกระเป๋าก็ต้องพร้อม เพราะหากซื้อก่อนที่จะพร้อมจ่าย อาจทำให้เกิดปัญหาติดหนี้ติดสินเป็นหนี้ก้อนโต พร้อมดอกเบี้ยบานเบอะ ดังนั้น ก่อนจะตัดสินใจซื้ออะไรต้องพิจารณาก่อนว่าเรามีความสามารถในการจ่ายไหว เช่น ซื้อรถ ต้องมีเงินดาวน์อย่างน้อย 25-30% ของมูลค่ารถ และผ่อนในระยะเวลาที่เราสามารถผ่อนไหว ไม่ว่าจะเป็น 48 เดือน 60 เดือน หรือ 72 เดือน หากมีเงินดาวน์น้อยก็ยิ่งทำให้มียอดผ่อนสูงและเสียดอกเบี้ยจ่ายสูง นอกจากนี้ หากมีเหตุจำเป็นต้องใช้เงินและสะดุดกับการใช้จ่าย อาจโดนยึดรถโดยไม่รู้ตัว

และสุดท้ายจะว่าไป ได้ทั้งความสุข สนุก แถมมีโอกาสเป็นเศรษฐีเพิ่มขึ้น ก็คือการสะสมของแปลก หรือของ Limited ตามชอบ อย่างเช่น ธนบัตรแปลกๆ เหรียญแปลกๆ แสตมป์ลายพิเศษ กระเป๋า นาฬิกา ที่มีเฉพาะรุ่น หรือผลิตปริมาณน้อย เก็บด้วยความรักความชอบ ซื่งของแปลกเหล่านี้จะก่อให้เกิดมูลค่าในอนาคตโดยไม่รู้ตัว

ทั้งนี้ การที่จะเป็นเศรษฐีนั้น จะต้องเป็นผู้ให้ ให้ในสิ่งที่เราให้ได้ ใจกว้าง ช่วยเหลือแบ่งปันผู้อื่น (มีน้ำใจ) การที่เราเปิดใจ ใจกว้าง ให้ในสิ่งที่เราสามารถให้ได้ ช่วยในสิ่งที่เราช่วยได้ โดยไม่หวังผลอะไรตอบแทน ถึงแม้ว่าจะไม่มาก แต่เราก็เป็นเศรษฐีรวยน้ำใจ และมีความสุขกับสิ่งที่ได้ทำ