กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ที่ลงทุนในหุ้น ของกองทุนบัวหลวง

กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ที่ลงทุนในหุ้น ของกองทุนบัวหลวง

กองทุนเปิดบัวหลวงตราสารทุนเพื่อการเลี้ยงชีพ (BERMF) 

กองทุนเปิดบัวหลวงโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการเลี้ยงชีพ (IN-RMF)

กองทุนเปิดบัวหลวง Small-Mid Cap เพื่อการเลี้ยงชีพ (B-SM-RMF)

กองทุนเปิดบัวหลวงสิริผลบรรษัทภิบาลเพื่อการเลี้ยงชีพ (BSIRIRMF)

กองทุนเปิดบัวหลวงปัจจัย 4 เพื่อการเลี้ยงชีพ (BBASICRMF)

กองทุนเปิดบัวหลวงทศพลเพื่อการเลี้ยงชีพ (B-TOPTENRMF)

  • ตลาดหุ้นไทยในเดือน พ.ย. มีความผันผวนค่อนข้างสูง เคลื่อนไหวในกรอบ 1,688.90 – 1598.97 จุด โดยปิดตลาดสิ้นเดือนปรับตัวลดลง 1.60% สวนทางกับตลาดหุ้นอื่นๆ ในภูมิภาค ความผันผวนที่เกิดขึ้นเป็นผลมาจากปัจจัยภายในและภายนอกประเทศที่มีทั้งบวกลบสลับกัน ได้แก่ ความกังวลต่อการเลื่อนเลือกตั้งหลังกลุ่มพรรคการเมืองรวมตัวกันยื่นขอให้ กกต.เลื่อนการเลือกตั้งออกไป ตัวเลข GDP ของไทยในไตรมาสที่ 3 ที่ออกมาต่ำกว่าตลาดคาด ความกังวลเกี่ยวกับพ.ร.บ. ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่กำลังอยู่ระหว่างพิจารณาโดยสนช. และราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวลดลงแรงหลังจากรัสเซียและ OPEC เพิ่มกำลังการผลิต อย่างไรก็ตาม แม้จะมีปัจจัยลบมากกว่าบวกในช่วงสามสัปดาห์แรกของเดือน แต่ในช่วงสัปดาห์สุดท้าย เราเห็นแรงซื้อกลับเข้ามา นำโดยหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์
  • ขณะที่กระแสเงินลงทุนต่างชาติในตลาดหุ้นไทยยังคงเป็นแรงขาย และเป็นตลาดเดียวในภูมิภาคที่นักลงทุนต่างชาติยังคงขายอย่างต่อเนื่อง โดยตลอดเดือน พ.ย. มีแรงขายทั้งสิ้นประมาณ 13,000 ล้านบาท สอดคล้องกับค่าเงินบาทที่แข็งค่าน้อยกว่าค่าเงินอื่นๆ ในภูมิภาค สะท้อนให้เห็นว่าดัชนี ณ ระดับนี้ยังไม่เป็นที่สนใจสำหรับนักลงทุนต่างชาติ เนื่องจากยังการขาดปัจจัยบวกใหม่ๆ ทั้งผลประกอบการไตรมาส 3 ที่ออกมาไม่ได้โดดเด่น รวมถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัวจากตัวเลขการส่งออกและตัวเลขด้านการท่องเที่ยว

มุมมองตลาดหุ้นไทย

โดยภาพรวม ตลาดหุ้นไทยยังคงถูกกดดันจากปัจจัยลบต่างๆ แม้จะมีข่าวดีในต้นเดือน ธ.ค. คือ ผลการประชุม G20 โดยสหรัฐฯ และจีนประกาศเจรจาสงบศึกทางการค้า 90 วัน และจะยังไม่มีการเก็บภาษีเพิ่มเติมจากปัจจุบันหลังจากวันที่ 1 ม.ค. 2019 เป็นต้นไป รวมถึงปัจจัยกระตุ้นการบริโภคในประเทศ หลังจากรัฐมนตรีกระทรวงคลังเตรียมยื่นมาตรการชอปช่วยชาติ ซื้อสินค้า 3 รายการ “ยางรถยนต์ หนังสือและสินค้าโอทอป” ต่อคณะรัฐมนตรีฯ แต่คาดว่าปัจจัยดังกล่าวเป็นเพียงปัจจัยเชิงบวกในระยะสั้น เพราะผลกระทบต่อประเทศไทยในกรณีสงครามการค้าสหรัฐ – จีนมีอยู่จำกัด และการกระตุ้นการบริโภคในประเทศกระจุกตัวอยู่เพียงสินค้าบางชนิดเท่านั้น โดยปัจจัยที่นักลงทุนให้น้ำหนัก คือ การเติบโตของเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว เราคิดว่าตลาดหุ้นไทยน่าจะยังคงเคลื่อนไหวในกรอบ sideways โดยยังคงกลยุทธ์การลงทุน เลือกลงทุนหุ้นรายตัวอย่างพิถีพิถัน ในหุ้นที่มีแนวโน้มผลประกอบการที่ดีและมีระดับราคาที่เหมาะสม

ปัจจัยทั้งบวก/ลบต่อกองทุน

(+) ปัจจัยบวกระยะสั้น ได้รับแรงหนุนจากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นประเด็นการเมืองในประเทศ แรงซื้อของนักลงทุนสถาบัน รวมถึงการตีความของตลาดว่าปีหน้าเฟดจะไม่เร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย หลังจากปีนี้ปรับขึ้นไปแล้วถึง 4 ครั้ง และประธานเฟดเปิดเผยว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟดกำลังเข้าใกล้ระดับที่เป็นกลาง

(+) การเติบโตของเศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปีเริ่มมีสัญญาณบวกเข้ามาเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะสัญญาณบวกของภาครัฐ ต่อการเร่งเครื่องเปิดประมูลโครงการขนาดใหญ่หลายโครงการที่วางเป้าหมายให้แล้วเสร็จก่อนการเลือกตั้งที่จะมาถึงในปีหน้า เช่น การพัฒนาเส้นทางรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน

(+) เศรษฐกิจไทยปรับดีขึ้นจากเดือนก่อนจากอุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศ โดยการบริโภคภาคเอกชนขยายตัวสูงขึ้น ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนและการส่งออกสินค้ากลับมาขยายตัวสอดคล้องกับการผลิตภาคอุตสาหกรรมส่งออกไทยเดือน ต.ค. หลังการส่งออกไปตลาดคู่ค้าสำคัญกลับมาขยายตัว ซึ่งเป็นการขยายตัวของทั้งสินค้าในหมวดเกษตรและอุตสาหกรรม

(+/-) ในช่วงปี 2018 ตลาดหุ้นไทยมีการปรับตัวลดลงแรงจาก 1,753.71 จุด มาอยู่ที่ 1,633.62 จุด (11/12/2018) หรือลดลง -6.84% สำหรับนักลงทุนระยะกลางและระยะยาว เป็นโอกาส ทยอยซื้อหุ้นที่มีปัจจัยพื้นฐานดีจาก ดัชนีที่ 1,633.62 จุด P/E เพียง 15.21 เท่า เมื่อเทียบจากปีก่อนหน้าที่ P/E 17.48 เท่า

(-) ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ประจำเดือน พ.ย. 2018 ปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 เนื่องจากผู้บริโภคมีความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ราคาพืชผลทางการเกษตรส่วนใหญ่ที่ทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ โดยเฉพาะยางพาราและปาล์มน้ำมัน ทำให้รายได้ของเกษตรกรส่วนใหญ่ทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ และกำลังซื้อทั่วไปในต่างจังหวัดยังขยายตัวไม่มาก

(-) ความไม่มั่นใจในประเด็นสงครามการค้าระหว่างสหรัฐ และจีน ที่มีความไม่แน่นอนอยู่ ทำให้กังวลว่าความยืดเยื้อจะกระทบเศรษฐกิจโลกและยังมีข่าวเรื่องการจับกุมผู้บริหารของบริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี ทำให้เป็น Sentiment ลบต่อตลาดฯ ด้วย

(-) ความไม่แน่นอนในประเด็น Brexit สถานการณ์การคลังของอิตาลี และความผันผวนของค่าเงินในกลุ่มตลาดเกิดใหม่อย่างเช่น ตุรกี อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และอินเดีย ซึ่งล้วนแล้วแต่จะทำให้เกิดความผันผวนในตลาดการเงินโลกต่อเนื่อง ท่ามกลางภาวะที่หลายธนาคารกลางในกลุ่มประเทศดังกล่าว มีนโยบายที่จำกัดมากขึ้นหลังขึ้นดอกเบี้ยไปมากแล้ว

กลยุทธ์การลงทุนของกองทุน

การลงทุนในหุ้นจะเน้นบริษัทคุณภาพที่มีรูปแบบธุรกิจที่เข้มแข็ง มีศักยภาพเติบโตได้ต่อเนื่อง มีฐานะการเงิน แข็งแกร่ง มีกระแสเงินสดสูง และมีแนวโน้มการจ่ายปันผลดีอย่างสม่ำเสมอ

ผู้จัดการกองทุนได้เพิ่มสัดส่วนการลงทุนในหุ้นในช่วงที่ตลาดผันผวนและราคาหุ้นของบริษัทที่มีคุณภาพดีลดต่ำลงกว่าราคาที่ควรจะเป็น รวมถึงได้ลดสถานะการลงทุนในอุตสาหกรรมที่ราคาหุ้นขึ้นมามากกว่าราคาที่ควรจะเป็น และ/หรือแนวโน้มของอุตสาหกรรมหรือบริษัทอาจแย่ลงในอนาคต เช่น เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร พลังงาน

นอกจากนี้ ได้เพิ่มน้ำหนักการลงทุนในอุตสาหกรรมพาณิชย์ การแพทย์ อาหาร/เครื่องดื่ม ธนาคาร โรงไฟฟ้า ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ผลการดำเนินงานปรับตัวดีขึ้นกว่าไตรมาสก่อนหน้า

ทั้งนี้ การเพิ่มหรือลดน้ำหนักการลงทุนในหมวดอุตสาหกรรมหรือรายบริษัท จะขึ้นอยู่กับกรอบนโยบายการลงทุนของกองทุนนั้นๆ ด้วย