กองทุนบัวหลวงมองเศรษฐกิจเวียดนามปี 2019 จะขยายตัวได้ 6.6%

กองทุนบัวหลวงมองเศรษฐกิจเวียดนามปี 2019 จะขยายตัวได้ 6.6%

BF Economic Research

ภาพรวมเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมา 

เศรษฐกิจเวียดนามยังถือว่าแข็งแกร่งในปี 2018 แม้จะต้องเผชิญความเสี่ยงหลายด้าน โดยเติบโต 6.8% YoY ในไตรมาส 3/2018 ภาคอุตสาหกรรมซึ่งสะท้อนการส่งออกของประเทศยังขยายตัวได้ดี ท่ามกลางการค้าโลกที่ได้รับผลกระทบจากความกังวลเรื่องการกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ และการชะลอตัวของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ในขณะที่ภาคบริการเติบโตต่อเนื่อง โดยได้อานิสงส์จากการขึ้นค่าจ้างแรงงาน และจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น ด้านอัตราเงินเฟ้อขยายตัวเพิ่มขึ้นมานับตั้งแต่เดือนมิ.ย. 2018 ที่ทะลุเป้าหมายของธนาคารกลางเวียดนาม (State Bank of Vietnam, SBV) ที่ 4.0% ไปถึง 4.67% ก่อนจะปรับลดลงมาเหลือ 3.46% ในเดือนพ.ย. โดยเป็นการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าหลายรายการ นอกเหนือจากการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันในตลาดโลก

ทิศทางเศรษฐกิจปี 2019

เรามองว่า ในปี 2019 เศรษฐกิจเวียดนามจะขยายตัวได้ 6.6% ลดลงจากปี 2018 ที่ 6.9% อันเป็นผลจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนและสหรัฐฯ ซึ่งเป็นคู่ค้าที่สำคัญของเวียดนาม อย่างไรก็ดี เรามองว่าเวียดนามจะเป็นประเทศที่ได้รับประโยชน์จากการกีดกันทางการค้า เนื่องจากเป็นฐานการผลิตที่สำคัญของทั้งสองประเทศอยู่แล้ว ดังนั้นเมื่อสหรัฐฯ และจีนต่างขึ้นภาษีนำเข้าก็จะทำให้เกิดการย้ายฐานการผลิตมายังเวียดนามมากขึ้น สำหรับอัตราเงินเฟ้อ ในปี 2019 เราคาดว่าจะขยายตัว 4.0% โดยเป็นผลจากการอ่อนค่าของค่าเงิน เนื่องการแข็งค่าของค่าเงินดองเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ภาคธุรกิจมีการนำเข้ามากขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้ดุลบัญชีเดินสะพัดของเวียดนามเกินดุลลดลงจาก 3.4% ต่อGDPในปี 2018 เป็น 3.1% ต่อGDPในปี 2019 และทำให้ค่าเงินอ่อนค่าลง ราคาสินค้านำเข้าเพิ่มขึ้น

แนวทางด้านนโยบาย

ด้วยภาวะอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในขาขึ้น ทำให้เรามองว่า ปี 2019 SBV จะปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้น 2 ครั้งเป็น 6.75% จากปัจจุบันที่ 6.25% เพื่อชะลออัตราเงินเฟ้อ นอกจากนี้ ในช่วงไตรมาส 3 ที่ผ่านมา SBV ได้ประกาศมาตรการควบคุมการปล่อยสินเชื่อให้กับภาคอุตสาหกรรมที่มีความเสี่ยงสูง อาทิ ภาคอสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจหลักทรัพย์ เพื่อจำกัดการขยายตัวของยอดการปล่อยสินเชื่อในระบบ โดยมาตรการดังกล่าวไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจภายในประเทศ ทำให้ตลาดคาดว่า SBV จะเดินหน้าคุมเข้มนโยบายการเงินอย่างต่อเนื่อง ส่วนในด้านการบริหารค่าเงิน นับตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา SBV ได้ปรับค่ากลางของค่าเงินดองให้ลดลงอย่างค่อยเป็นค่อยไปรวม 1.56%  เพื่อเตรียมรับมือกับทิศทางการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯและป้องกันไม่ให้ค่าเงินดองอ่อนค่าลงอย่างรวดเร็วเมื่อ Fed ประกาศขึ้นดอกเบี้ย

สำหรับนโยบายภาครัฐ รัฐสภาเวียดนามได้อนุมัติงบประมาณรายจ่ายปี 2019 จำนวน 1.41 พันล้านล้านดอง หรือ 61.34 พันล้านดอลลาร์ฯ เมื่อเดือนพ.ย. ที่ผ่านมา โดยเน้นการใช้จ่ายเพื่อสนับสนุนการเติบโตแบบยั่งยืน การลดมลภาวะทางสิ่งแวดล้อม และการพัฒนาพื้นที่ชนบท ทั้งนี้ รัฐบาลเวียดนามวางแผนขาดดุลงบประมาณในปี 2019 ลดลงจาก -3.7% ในปี 2018 เป็น -3.6%

ความเสี่ยง

ความเสี่ยงหลักของเศรษฐกิจในประเทศในปี 2019 มาจากระดับหนี้สาธารณะต่อ GDP ที่มีแนวโน้มทะลุ 65% ต่อGDP บวกกับการขยายตัวของการปล่อยสินเชื่อในอุตสาหกรรมที่ไม่ก่อให้เกิดผลผลิต (Unproductive Industries) โดยเฉพาะภาคอสังหาริมทรัพย์ อย่างไรก็ดี ในช่วงที่ผ่านมา รัฐบาลสามารถจัดการกับหนี้ได้ดีขึ้น จากรายได้ของรัฐบาลที่มาจากการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ดังนั้น ความเสี่ยงในระยะข้างหน้าจึงขึ้นอยู่กับแนวทางการปฏิรูปทางการคลังของรัฐบาลว่าจะสามารถดำเนินได้ต่อเนื่องหรือไม่ และการอุดหนุนราคาสินค้าเพื่อบรรเทาผลของอัตราเงินเฟ้อก็เป็นอีกหนึ่งความเสี่ยงที่จะทำให้รัฐบาลต้องแบกภาระรายจ่ายมากขึ้น

ด้านปัจจัยภายนอก ในระยะสั้นนั้น สถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ และจีน อาจส่งผลให้การค้าโลกชะลอตัว ซึ่งจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อเศรษฐกิจเวียดนามที่ต้องพึ่งพาการส่งออกเป็นหลัก รวมทั้งหากการส่งออกของจีนต้องชะลอตัวก็จะส่งผลต่อเวียดนามอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ในฐานะที่เป็นหนึ่งในห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain)