กองทุนบัวหลวงมองเศรษฐกิจมาเลเซียน่าจะเติบโตได้ 4.6% ในปี 2019

กองทุนบัวหลวงมองเศรษฐกิจมาเลเซียน่าจะเติบโตได้ 4.6% ในปี 2019

BF Economic Research

ภาพรวมเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมา

เศรษฐกิจมาเลเซียในไตรมาส 3/2018 เติบโต 4.4% YoY ชะลอลงจากไตรมาสก่อนหน้าที่เติบโต 4.5% YoY จากการส่งออกที่ได้รับผลกระทบของความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน รวมไปถึงราคาน้ำมันปาล์ม และก๊าซธรรมชาติที่ปรับตัวลดลง ในขณะที่ เครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจสำคัญ คือ การบริโภคในประเทศ ซึ่งเป็นไปตามที่ตลาดคาด เนื่องจากผลของการยกเลิกภาษี GST (Goods and Services Tax) ในเดือนมิ.ย.-ส.ค. ก่อนจะกลับมาใช้ภาษี SST (Sales and Service Tax)  ตามเดิม และการอุดหนุนราคาน้ำมัน สามารถกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยในประเทศซึ่งคิดเป็น 55% ของขนาดเศรษฐกิจ ให้ขยายตัวได้ถึง 9.0% YoY ในไตรมาส 3/2018 ด้านการลงทุนในประเทศเติบโต 3.2% YoY เพิ่มขึ้นจาก 2.2% YoY โดยได้อานิสงส์จากความเชื่อมั่นของนักลงทุนในประเทศหลังการเลือกตั้งที่เพิ่มขึ้น

ทิศทางเศรษฐกิจปี 2019

กองทุนบัวหลวงมองว่า เศรษฐกิจมาเลเซียน่าจะเติบโตได้ 4.6% ในปี 2019  หลังจากผ่านจุดสูงสุดในปี 2017 ที่เศรษฐกิจขยายตัว 5.9% โดยเรามองว่าการบริโภคในประเทศยังมีโมเมนตัมการเติบโตต่อเนื่องแม้รัฐบาลจะกลับมาเก็บภาษี SST นับตั้งแต่เดือนก.ย. ที่ผ่านมา แต่การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ การอุดหนุนราคาน้ำมัน และนโยบายรัฐบาลที่ช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยจะเป็นปัจจัยกระตุ้นการใช้จ่ายของประชาชนในปี 2019 ขณะที่การลงทุนในประเทศ เรามองว่ามีแนวโน้มชะลอตัวลง จากการลงทุนภาครัฐที่ได้รับผลกระทบจากการยกเลิก และลดขนาดการลงทุนในโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่หลายโครงการของรัฐบาลชุดเก่า อย่างไรก็ดี การลงทุนของภาคเอกชนยังเติบโตได้ดี จากแนวโน้มการไหลเข้าของเงินลงทุนจากต่างชาติ โดยเฉพาะการลงทุนในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ด้านการส่งออก เราคาดว่าจะชะลอตัวลงในระยะสั้น จากราคาน้ำมันปาล์มที่ลดลงอย่างหนัก ส่วนการส่งออกอิเล็กทรอนิกส์น่าจะปรับตัวดีขึ้นกว่าที่เคยคาดไว้ว่าจะได้รับผลกระทบจากความตึงเครียดทางการค้า และโมเมนตัมการเติบโตของธุรกิจกลุ่มเทคโนโลยีที่ดีกว่าที่คาด

แนวทางด้านนโยบาย

ด้วยมุมมองต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของมาเลเซียที่ยังขยายตัวได้ บวกกับอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในกรอบของธนาคารกลาง ทำให้เรามองว่า ธนาคารกลางมาเลเซีย ( Bank Negara Malaysia, BNM) จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 3.25% ต่อไปในช่วง 3-6 เดือนข้างหน้า หลัง BNM ปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นเป็นประเทศแรกในอาเซียนในเดือนม.ค. 2018 ที่ผ่านมา โดยหนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูงเป็นปัจจัยกดดันให้ BNM ต้องมีความระมัดระวังในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย

ด้านนโยบายภาครัฐ หลังการเลือกตั้ง รัฐบาลชุดใหม่ได้ยกเลิกการเก็บภาษี GST และนำภาษี SST มาใช้แทนซึ่งส่งผลให้รายได้ของภาครัฐลดลงไปกว่าที่เคยประมาณการไว้ นอกจากนี้ การคงนโยบายอุดหนุนราคาน้ำมันต่อเนื่องตั้งแต่ก่อนการเลือกตั้ง ส่งผลให้รายจ่ายของภาครัฐเพิ่มมากขึ้น ทำให้งบประมาณการคลังของมาเลเซียในปี 2018 นี้ ขาดดุลเพิ่มขึ้นจาก -2.8% ของGDP เป็น -3.7% ของGDP ในขณะที่ รัฐบาลชุดปัจจุบันมีแผนจะจ่ายภาษีคืนให้แก่ภาคเอกชนในปี 2019 ทำให้รัฐบาลต้องใช้เงินปันผลพิเศษจากรัฐวิสาหกิจมาหักลบกับรายจ่ายที่เพิ่มขึ้นมา แต่เป็นเพียงกรณีพิเศษเท่านั้น การขาดดุลทางการคลังในปี 2019 จึงอยู่ที่ -3.4% และที่น่าสังเกตคือ งบประมาณเพื่อการอุดหนุนราคาสินค้าในปี 2019 ลดลงจากปี 2018 ทำให้เราคาดว่า การอุดหนุนราคาน้ำมันน่าจะถูกยกเลิกในปี 2019

ความเสี่ยง

ความผันผวนของทิศทางนโยบายการกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ ยังเป็นปัจจัยที่ต้องติดตามสำหรับประเทศมาเลเซีย เนื่องจากเศรษฐกิจมาเลเซียพึ่งพาการส่งออกเป็นสำคัญ รวมทั้งทิศทางการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) และธนาคารกลางยุโรป (ECB) ที่ส่งผลต่อการไหลเข้าออกของเงินทุน และค่าเงินริงกิต ด้านเงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่ปรับลดลงมา ทำให้สัดส่วนเงินทุนสำรองต่อหนี้ระยะสั้นของมาเลเซียอยู่ต่ำกว่าระดับที่เพียงพอ ในขณะที่ดุลบัญชีเดินสะพัด (Current Account) มีแนวโน้มลดลงจากการเกินดุลระดับ 2 หลักในปี 2011 เป็นการเกินดุลเล็กน้อยที่ 2.0-2.8% ของ GDP