กองทุนบัวหลวงมองเศรษฐกิจญี่ปุ่นปี 2019 น่าจะชะลอลง

กองทุนบัวหลวงมองเศรษฐกิจญี่ปุ่นปี 2019 น่าจะชะลอลง

BF Economic Research

ภาพรวมเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมา

แม้ว่าภาพตลาดแรงงานญี่ปุ่น และการเติบโตทางเศรษฐกิจ จะถือว่าดูดีขึ้นมากเมื่อเทียบกับในอดีต เห็นได้จากอัตราการว่างงานที่อยู่ในระดับต่ำเป็นประวัติการณ์ในเดือนพ.ค. 2018 ที่ลดลงไปถึง 2.2% ก่อนจะปรับขึ้นเล็กน้อยในเดือนล่าสุด (ต.ค. 2018) ที่ 2.4%  แต่การเติบโตของอัตราเงินเฟ้อกลับยังไม่สามารถขยายตัวจนแตะระดับเป้าหมายของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BoJ) ที่ 2.0% ได้ โดยล่าสุด อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core Inflation) ของญี่ปุ่นอยู่ที่ 1.0% YoY

ด้านการเติบโตทางเศรษฐกิจ ในไตรมาส 2/2018 เศรษฐกิจญี่ปุ่นขยายตัว 3.0% QoQ saar ซึ่งเป็นการเติบโตที่สูงที่สุดในรอบกว่า 2 ปี จากการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน ก่อนจะกลับมาหดตัวอีกครั้งในไตรมาส 3 ที่ -2.5% QoQ saar จากผลของภัยพิบัติทางธรรมชาติ ทั้งแผ่นดินไหว พายุไต้ฝุ่น และอากาศร้อนจัด ที่ส่งผลกระทบให้โรงงานจำนวนมากปิดทำการ และการจับจ่ายใช้สอยซึ่งคิดเป็น 60% ของ GDP ลดลง นอกจากนี้ การลงทุนในประเทศก็ชะลอตัวจากการลงทุนภาคเอกชนเป็นหลักที่หดตัว -2.8% QoQ

ทิศทางเศรษฐกิจปี 2019

เรามองว่า เศรษฐกิจญี่ปุ่นในไตรมาส 4/2018 จะขยายตัวเป็นบวกได้อีกครั้ง เนื่องจากปัจจัยเชิงลบอย่างภัยพิบัติทางธรรมชาติในไตรมาส 3/2018 เป็นเพียงผลกระทบชั่วคราว และน่าจะมีโมเมนตัมการเติบโตต่อเนื่องไปจนถึงปี 2019 โดยภาพตลาดแรงงานที่แข็งแกร่งขึ้นจะเป็นตัวหนุนการบริโภคในประเทศในไตรมาส 4/2018 จนถึงปี 2019 บวกกับนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลเพื่อบรรเทาผลของการขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (Consumption Tax) ในเดือนต.ค. 2019 น่าจะทำให้ผลของการขึ้นภาษีไม่ร้ายแรงเท่ากับครั้งก่อนที่ปรับขึ้นในปี 2014

อย่างไรก็ดี เรามองว่า การลงทุนจะเป็นปัจจัยฉุดในปี 2019 เนื่องจากในช่วงก่อนหน้าการลงทุนได้ขยายตัวในระดับสูง จากการลงทุนก่อสร้างเพื่อรองรับการเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกในปี 2020 ที่เริ่มทะยอยแล้วเสร็จ ทำให้การลงทุนน่าจะถึงจุดอิ่มตัว และมีแนวโน้มชะลอตัวลงในระยะข้างหน้า

แนวทางด้านนโยบาย

ในการประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น (BoJ) ในเดือนก.ค. ที่ผ่านมา BoJ ประกาศจะเพิ่มความยืดหยุ่นในการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาล โดยอาจปรับเป้าหมายผลตอบแทนดังกล่าวให้สูงขึ้น หรือลดลง ในบางช่วงตามสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ โดยนับเป็นการเปลี่ยนแปลงการดำเนินนโยบายการเงินครั้งแรกของ BoJ หลังจากหันมาใช้การกำหนดอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปีเป็นเป้าหมายเมื่อเดือนก.ย. 2016 ที่ผ่านมา ในขณะที่การประชุมครั้งล่าสุดในเดือนต.ค. BoJ มีมติคงอัตราดอกเบี้ยและวงเงินซื้อสินทรัพย์ ทำให้ผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวยังอยู่ที่ระดับใกล้ศูนย์ และอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นอยู่ที่ -0.10% โดยเป็นผลจากอัตราเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับต่ำ (เป้าหมายเงินเฟ้อของ BoJ อยู่ที่ 2%)

ทั้งนี้ BoJ ส่งสัญญาณว่าจะคงปริมาณการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลไว้ที่ระดับสูงสุด 80 ล้านล้านเยนต่อปี และจะไม่เปลี่ยนแปลงปริมาณการซื้อสินทรัพย์ประเภท ETF ท่ามกลางความกังวลของตลาดต่อความเสี่ยงจากการที่ BoJ คงอัตราดอกเบี้ยไว้ในระดับต่ำมาอย่างยาวนาน เนื่องจากการดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายอย่างต่อเนื่องและยาวนานอาจนำไปสู่ปัญหาทางการเงินในญี่ปุ่น เนื่องจากงบดุล (Balance Sheet) ของ BoJ ที่ขยายตัวอย่างรวดเร็วจากการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาล และ ETF จำนวนมาก

ด้านนโยบายภาครัฐ ในเดือนต.ค. 2019 รัฐบาลญี่ปุ่นวางแผนที่จะปรับขึ้นภาษีบริโภค จาก 8% เป็น 10% ซึ่งเป็นแผนที่เลื่อนมาหลายครั้ง เนื่องจากการบริโภคในประเทศยังอ่อนแอ โดยมีจุดประสงค์ เพื่อลดการขาดดุลงบประมาณทางการคลัง โดยเฉพาะในภาวะที่รัฐบาลมีภาระมากขึ้นจากจำนวนผู้สูงอายุในประเทศที่มากขึ้น สำหรับนโยบายเพื่อลดปัญหาขาดแคลนแรงงาน จากภาวะสังคมผู้สูงอายุ รัฐบาลได้ร่างกฎหมายใหม่ที่จะเอื้อให้ชาวต่างชาติสามารถเข้ามาทำงานในญี่ปุ่นได้มากขึ้น ซึ่งจะครอบคลุม 14 ภาคส่วน อาทิ ภาคการเกษตร พยาบาล และภาคการก่อสร้าง โดยจะมีผลบังคับใช้ในเดือนเม.ย. 2019 นอกจากนี้  รัฐบาลยังต้องการปรับเพิ่มเกณฑ์การเกษียณอายุงานของประชาชนจาก 65 ปี เป็น 70 ปี และพยายามให้บริษัทเอกชนมีการจ้างงานพนักงานวัยกลางคนมากขึ้น

ความเสี่ยง  

ความเสี่ยงหลักของเศรษฐกิจญี่ปุ่นในช่วงครึ่งหลังของปี 2019 คือ การขึ้นภาษีบริโภคในเดือนต.ค. 2019 ที่จะส่งผลกระทบให้การบริโภคในประเทศ และเศรษฐกิจชะลอตัว อย่างไรก็ตาม มีความเป็นไปได้ที่รัฐบาลญี่ปุ่นจะไม่ขึ้นภาษี ถ้าหากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของประเทศยังไม่พร้อมต่อการปรับขึ้น นอกจากนี้ ความเสี่ยงด้านการค้าระหว่างประเทศ การเจรจาการค้าทวิภาคีระหว่างญี่ปุ่นกับสหรัฐฯ ก็เป็นสิ่งที่ต้องจับตาในปี 2019 โดยคาดว่าการเจรจาจะเริ่มต้นในช่วงกลางเดือนม.ค. 2019 ซึ่งเมื่อเดือนก.ย. 2018 ที่ผ่านมา สหรัฐฯ ตกลงกับญี่ปุ่นว่าจะไม่เรียกเก็บภาษีนำเข้ารถยนต์จากญี่ปุ่นในช่วงที่ทั้งสองฝ่ายกำลังดำเนินการเจรจา

ประเด็นด้านการเมือง

ในวันที่ 20 ก.ย. ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีอาเบะสามารถคว้าชัยชนะในการเลือกตั้งหัวหน้าพรรคเสรีประชาธิปไตย (Liberal Democratic Party: LDP) เป็นสมัยที่ 3 โดยได้คะแนนเสียงอย่างท่วมท้น จำนวนทั้งสิ้น 553 เสียง จากผู้มีสิทธิ์ลงคะแนนเสียงทั้งหมด 810 เสียง ซึ่งจะเป็นการปูทางให้อาเบะกลายเป็นผู้นำที่อยู่ในอำนาจยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์ยุคใหม่ของญี่ปุ่น นับตั้งแต่ช่วงกลางศตวรรษที่ 19 และถึงแม้ก่อนหน้านี้ นายอาเบะจะเผชิญกรณีอื้อฉาวเรื่องการเอื้อประโยชน์ให้พวกพ้อง แต่คะแนนนิยมของรัฐบาลก็ยังอยู่ที่ระดับใกล้เคียง 50% ทั้งนี้ คาดว่าอาเบะจะเดินหน้าเสนอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะมาตรา 9 เพื่อขยายขอบเขตอำนาจให้กองกำลังป้องกันตนเอง ให้สำเร็จก่อนการเลือกตั้งครั้งถัดไปในเดือนต.ค. 2021 หรืออาจเร็วกว่านั้นหากมีการยุบสภา

BBLAM’s View โดยสรุปแล้วเศรษฐกิจญี่ปุ่นในปี 2019 น่าจะชะลอลงเนื่องด้วยปัจจัยขับเคลื่อนหลักเช่นการลงทุน (ถูกกระทบจากฐานสูง) และการบริโภคภาคเอกชน (ถูกกระทบจากการปรับขึ้นภาษี Consumption Tax) เราคาดว่ายอดขายสินค้าอุปโภคบริโภคอาจจะเร่งตัวก่อนหน้าการปรับขึ้นภาษีในเดือนต.ค. ก่อนจะหดตัวหลังจากนั้น ต้องติดตามว่ารัฐบาลจะออกมาตรการแบ่งเบาผลกระทบจากการขึ้นภาษีอย่างไร ส่วนนโยบายการเงินน่าจะอยู่ในทิศทางที่ผ่อนคลายต่อไป