ชอปทั้งที…ต้องมีเงินเหลือ

ชอปทั้งที…ต้องมีเงินเหลือ

ชอปทั้งที…ต้องมีเงินเหลือ

โดย…พริ้มพัชร จิรบวรพงศา AFPTTM

ผู้เชี่ยวชาญด้านการวางแผนทางการเงิน

BF Knowledge Center

ห้างสรรพสินค้าหลายแห่งต่างก็มีโปรโมชั่นลดกระหน่ำออกมาในทุกช่วงเทศกาล นอกจากนี้ยังมีสิทธิประโยชน์ต่างๆ มากมายจากการใช้บัตรเครดิต ไม่ว่าจะเป็นการลดราคาแบบ On Top การเครดิตเงินคืน Cash Back  โปรฯ ผ่อนชำระ 0% สำหรับการซื้อของที่มีราคาสูง แถมยังมีช่องทางชอปปิงออนไลน์อีกต่างหาก เรียกได้ว่า ชอปเพลินเกินห้ามใจ ติดแฮชแท็คให้กับของทุกชิ้นที่ซื้อมาว่า #ของมันต้องมี 

การชอปปิงนอกจากจะเป็นการจับจ่ายใช้สอยในสิ่งของที่จำเป็นแล้ว ในบางครั้งก็เป็นการซื้อของที่อยากได้เพื่อเป็นรางวัลให้กับตัวเองบ้างเป็นครั้งคราว แต่หลายๆ ครั้งพบว่า เราซื้อของเพื่อคลายเครียด โดยต้องการมีความสุขกับการมีของที่เราอยากได้มาวางอยู่ตรงหน้า และส่วนใหญ่ของที่ได้มานั้น “ไม่ได้มาด้วยเงินสด” เพราะอย่างที่กล่าวข้างต้นว่า บัตรเครดิตมีสิทธิประโยชน์ต่างๆ มากมาย ดังนั้น หากใช้จ่ายเพลิดเพลินจนเกินไป การชอปปิงนี้ก็เป็นเพียงความสุขเพียงชั่วครู่เท่านั้น และกลับกลายเป็นความเครียดหลังเห็นยอดเรียกเก็บจากบัตรเครดิต ซึ่งหากชำระไม่เต็มจำนวนก็อาจทำให้เป็นหนี้

อาการช็อคจากการเห็นยอดเรียกเก็บจะไม่เกิดขึ้นหากเรา “วางแผนชอปปิง” โดยมีวิธีง่ายๆ ที่อยากแนะนำให้ทุกคนทำกัน คือ ชอปต้องเช็ค/ร้านเล็กๆ แต่มีสไตล์/อยากได้ก็ต้องรอ

1.ชอปต้องเช็ค

อย่างแรก เช็คลิส  ทุกครั้งก่อนชอปต้องทำรายการสิ่งของที่ต้องการซื้อ โดยแบ่งเป็นสิ่งของจำเป็น (Need) และสิ่งของไม่จำเป็นแต่อยากได้ (Want)  ซึ่งหากเป็นไปได้ก็อยากให้เลือกซื้อของจำเป็นก่อน แต่ก็เข้าใจว่าการซื้อของใช้จำเป็น ไม่สามารถจรรโลงใจได้เท่าสิ่งของไม่จำเป็นแต่อยากได้

สิ่งที่ควรทำมากที่สุดคือ การค้นหาสิ่งของที่ทั้งอยากได้และจำเป็นด้วย ซึ่งนับว่าเป็น Magic Area ในการชอปปิง โดยความจำเป็นในที่นี้อาจหมายถึง ซื้อมาแล้วสามารถใช้ประโยชน์ได้คุ้มค่า เช่น หากเราชอบออกกำลังกายด้วยการวิ่ง ก็อาจเลือกชอป Smart Watch ที่สามารถวัดชีพจร GPS  เป็นต้น

ต่อมา เช็คโปรโมชั่น ไม่ว่าจะเป็นเปอร์เซนต์ส่วนลดจากการใช้เงินสด/บัตรเครดิต การได้รับส่วนลด On Top หรือ Cash Back จากบัตรสมาชิก/บัตรเครดิตที่ร่วมรายการ เพื่อให้การชอปในครั้งนี้คุ้มค่ามากที่สุด และมีเงินเหลือสำหรับการชอปครั้งต่อไป

ทั้งนี้ ควรระมัดระวังการใช้โปรโมชั่นผ่อนชำระ 0% ด้วย โดยเฉพาะการผ่อนชำระในสิ่งของหลายอย่างพร้อมกัน เพราะเป็นค่าใช้จ่ายที่ผูกพันเราไปเรื่อยๆ ตามเงื่อนไข (3 เดือน /6 เดือน /10 เดือนก็ว่ากันไป) หากเดือนไหนติดขัดไม่สามารถชำระได้อาจก่อหนี้ไม่รู้ตัว

2.ร้านเล็กๆ แต่มีสไตล์

คนส่วนใหญ่เลือกซื้อสินค้าในห้างสรรพสินค้า เพราะสะดวกสบาย ใช้บัตรเครดิตก็ได้ โปรโมชั่นก็เยอะ ซึ่งก็ไม่ผิดอะไรและทุกคนสามารถทำได้ แต่ก็อย่าลืมว่าสินค้าที่จับจ่ายในห้างฯ นั้นมีราคาค่อนข้างสูง หากสายชอปคลายเครียดมุ่งตรงไปที่ห้างฯอย่างเดียว ก็อาจทำให้สิ้นเปลืองมากเกินไป

สิ่งที่อยากแนะนำคือ เรียนรู้ศิลปะในการชอปปิง เช่น หากเป็นการซื้อเสื้อผ้าต้องเรียนรู้การ Mix & Match (ชุดดูดีอยู่ที่สไตล์และไม้แขวน) หรืออยากได้ตู้รองเท้าเก๋ๆ สักตู้ลอง D.I.Y. โดยหาไอเดียจากเว็บไซต์แต่งบ้าน แอปพลิเคชัน Pinterest เป็นต้น เพราะของดีไม่ได้มีแค่สินค้าแบรนด์ที่อยู่ในห้าง แต่อยู่ที่ไอเดีย ความคิดสร้างสรรค์ โดยทำเลที่เป็นสวรรค์สายชอปแนวนี้ก็เช่น จตุจักร สวนรถไฟ แพลตินัม เรียกได้ว่า #ของมันต้องมี  แต่ถ้าให้ดีต้องมีสไตล์ ที่สำคัญคือประหยัดเงินไปได้เยอะ

3.อยากได้ก็ต้องรอ (จังหวะซื้อ) 

สายชอปหลายคนน่าจะเคยได้ยินคำว่า “ชอปก่อนไม่รอแล้วนะ”…โดยให้เหตุผลว่า ซื้อตอนนี้ มีความสุขจากการใช้สอยวันนี้เลย แต่ในความจริงแล้ว หากเป็นสายชอปตัวจริงเสียงจริงจะทราบดีว่า ของแต่ละอย่างจะมีช่วงเวลาลดของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็น Mid-Year Sale/ Mid-Night Sale/ Buy 1 Get 1 Free ซึ่งปัจจุบันสามารถติดตามข่าวสารได้ง่ายมากจาก Facebook นอกจากนี้ ของบางอย่างเช่น สินค้าเทคโนโลยี เผลอนิดเดียวราคาก็ลงมาให้จับต้องได้แล้ว

การชอปปิงอย่างมีความสุขที่แท้จริง ไม่ได้จบที่การได้ของมา แต่เป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นหลังจากการได้มาต่างหาก โดยเฉพาะเรื่องภาระค่าใช้จ่าย ไม่ว่าจะเป็นการชอปปิงด้วยเงินสด หากใช้มากเกินไปก็อาจทำให้ขาดสภาพคล่องในชีวิตประจำวัน หากชำระด้วยบัตรเครดิตรูดปรื๊ดดดด…แม้จะสะดวกสบายและได้รับสิทธิประโยชน์มากมาย แต่หากขาดการบริหารจัดการเงินที่ดีก็อาจทำให้เกิดปัญหาหนี้สินจากบัตรเครดิตตามมาได้

ดังนั้น สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ “การมีสติในการชอป” โดยสมดุลกันให้ได้ระหว่างเหตุผลในการใช้จ่ายและความสุขจากการได้ใช้จ่ายเข้าด้วยกัน