Millennial Investors พลังขับเคลื่อน ESG

Millennial Investors พลังขับเคลื่อน ESG

By…พัสกร ตรีวัชรีกร
Fund Management Group

ดูเหมือนว่า การลงทุนโดยมุ่งหวังผลตอบแทนสูงสุดในระยะสั้นแต่เพียงอย่างเดียวนั้นจะเป็นสิ่งที่ไม่เพียงพอและล้าสมัยไปแล้วสำหรับการลงทุนในยุคปัจจุบัน ทุกคนต่างกำลังพูดถึงการลงทุนอย่างยั่งยืน ซึ่งมีความหมายไกลไปกว่าการทำกำไรสูงสุด แต่รวมถึงการสร้างความเปลี่ยนแปลงและผลเชิงบวกต่อสังคมโดยรวมให้ได้อีกด้วย
แนวโน้มการลงทุนอย่างยั่งยืนดังกล่าวนี้ ได้เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา สะท้อนผ่านการเติบโตของสินทรัพย์ภายใต้การจัดการของ ETF ที่ใช้ธีมการลงทุน ESG ที่เพิ่มขึ้น จากราว 2 พันล้านเหรียญสหรัฐเมื่อ 5 ปีที่ก่อน เป็น 11 พันล้านเหรียญสหรัฐในปัจจุบัน ซึ่งเป็นผลมาจากความตระหนักที่เพิ่มขึ้นของสังคม การกำกับดูแลกิจการที่เข้มงวดขึ้น และสิ่งหนึ่งที่มีส่วนสำคัญก็คือ ความเข้าใจและตระหนักในการลงทุนที่เพิ่มมากขึ้นของ นักลงทุนยุคมิลเลนเนียล

งานวิจัยจาก Morgan Stanley ในปี 2017 จากกลุ่มลูกค้านักลงทุน เปิดเผยผลสำรวจว่า ผู้ลงทุนที่เป็น มิลเลนเนียลนั้นมีความตระหนักและความสนใจในการลงทุน ESG มากขึ้นเรื่อยๆ โดยใส่ใจถึงคุณค่าของกิจการต่อผลกระทบทางสังคม โดยมากเป็นสองเท่าสำหรับการลงทุนและเป็นสามเท่าสำหรับการเลือกที่เข้าทำงาน สำหรับการจัดพอร์ตการลงทุน นักลงทุนมิลเลนเนียลให้ความสำคัญกับผลตอบแทนที่มั่นคงและนำแนวคิดการลงทุนอย่างยั่งยืนมาใช้เพิ่มขึ้นจาก 32% ในปี 2015 เป็น 38% ในปี 2017 นักลงทุนเหล่านี้เชื่อมั่นว่าการตัดสินใจการลงทุนของพวกเขามีผลต่อเปลี่ยนแปลงภาวะโลกร้อนได้ (75%) และช่วยบรรเทาความยากจนลงได้ (84%)

รามถึงจากงานวิจัยของ Bank of America ก็ได้ผลสำรวจที่คล้ายคลึงกัน โดยสำรวจจากทั้ง Gen X, Gen Y และ Gen Z ราว 90% ของผู้บริโภคเห็นว่าผู้ประกอบการควรให้ความสำคัญกับประเด็น ESG ของบริษัท และสำหรับนักลงทุน ราว 50% จะพิจารณา ESG สำหรับการตัดสินใจลงทุน ราว 66% เชื่อว่า บทบาทของนักลงทุนที่ให้ความสำคัญกับ ESG จะมีผลต่อการปรับตัวของบริษัทมหาชนได้ และราว 60% เชื่อว่ากลุ่มนักลงทุนสามารถมีผลต่อสังคมโดยรวมได้ ผลสำรวจเหล่านี้ ได้สะท้อนถึงให้เห็นถึงความสำคัญของ ESG ที่ขยายวงกว้างมากขึ้น

ดังนั้น ในเมื่อนักลงทุนและสังคมมีความคาดหวังที่เปลี่ยนแปลงไป ภาคธุรกิจจะปรับตัวอย่างไรให้สอดรับกับความคิดใหม่ๆนี้ ตัวอย่างเช่น ผู้ประกอบการ งานวิจัยจาก EY ให้แนวทางไว้ว่า ให้เริ่มจาก การเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กร ตั้งแต่ระดับผู้บริหารและการสร้างมุมมองใหม่ให้กับผู้ปฏิบัติงาน การดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบนั้นไม่เพียงแต่ช่วยให้บริษัทสามารถรักษาผลประกอบการของบริษัทไว้ได้ แต่ยังช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มของกิจการต่อนักลงทุนและต่อผู้บริโภคในระยะยาวได้อีกด้วย สำหรับนักลงทุนรายบุคคล KPMG เชื่อว่านัก ลงทุนปัจจุบันคิดใตร่ตรองการลงทุนอย่างหนักกว่าจะเลือกลงทุน เพื่อลดความเสี่ยงลง ผ่านการประเมินผลกระทบอย่าง ESG ก่อน งานวิจัยแนะนำว่า นักลงทุนควรจะศึกษาและพัฒนาความรู้เพื่อที่จะเลือกลงทุนได้อย่างถูกต้องหรือเลือกกองทุนที่มีนโยบายดังกล่าว และในแง่การจัดการกองทุน Bloomberg มองว่า กองทุนที่เป็นผู้นำในแนวทางการลงทุนแบบยั่งยืนจะสามารถดึงดูดความสนใจจากชาวมิลเลนเนียลได้มากขึ้น ซึ่งเริ่มเห็นได้จากทางยุโรปและญี่ปุ่น โดยเชื่อว่าตลาดยังคงเปิดกว้างและมีโอกาสรออยู่

โดยภาพรวมแล้ว ถือเป็นเรื่องน่ายินดีที่คนรุ่นใหม่เห็นถึงความสำคัญของผลกระทบจากการดำเนินธุรกิจต่อ สิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล ซึ่งจะทำเกิดความยั่งยืนในระยะยาวและการเกื้อกูลกันที่มากขึ้นของสังคม แนวคิดและแนวโน้มนี้จะเป็นกรอบในอนาคตสำหรับผู้ประกอบการ ในสร้างมูลค่าของกิจการโดยการเพิ่มคุณค่าของตนเองต่อสังคม