เมื่อการเชื่อมต่อสมองคนกับสมองกลไม่ใช่แค่หนังไซไฟในอีกหนึ่งทศวรรษ

เมื่อการเชื่อมต่อสมองคนกับสมองกลไม่ใช่แค่หนังไซไฟในอีกหนึ่งทศวรรษ

By…วรารัตน์ วีระคงสุวรรณ

หลายคนคงเคยได้ชมภาพยนตร์แนวไซไฟ (Science fiction) ที่นำเสนอเรื่องราววิทยาการสุดล้ำในการเชื่อมต่อสมองมนุษย์กับคอมพิวเตอร์เข้าไว้ด้วยกัน ฟังดูแล้วเหมือนจะดูเกินจริงไปบ้าง แต่ใครจะคิดว่าเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องเพ้อฝันเกินจริง หรือดูเพื่อความบันเทิงอีกต่อไป

เพราะภายใน 10 ปีนับจากนี้การเชื่อมต่อระหว่างสมองมนุษย์กับคอมพิวเตอร์จะไม่ใช่เรื่องไกลตัว เมื่อ Elon Musk มหาเศรษฐีผู้ก่อตั้งบริษัท SpaceX และ Tesla ได้ประกาศว่าบริษัท ‘Neuralink’ ที่เขาก็ตั้งขึ้นเพื่อทำการศึกษาพัฒนาเทคโนโลยีในการเชื่อมต่อระหว่างสมองมนุษย์กับคอมพิวเตอร์นั้นมีความก้าวหน้าไปมาก

Neuralink ตั้งขึ้นเมื่อปี 2017 โดยมีเป้าหมายในการพัฒนาเชื่อมต่อสมองของคนเราเข้ากับเจ้าสมองกลแบบไร้สาย โดยจะทำการฝังอุปกรณ์ขนาดเล็กเข้าไปในสมองมนุษย์เพื่อช่วยผสานการทำงานกับซอฟต์แวร์และปัญญาประดิษฐ์ (AI) เข้าด้วยกัน เสมือนเป็นส่วนหนึ่งของร่างกาย ซึ่ง Musk กล่าวว่า การเชื่อมต่อขั้วไฟฟ้าของคอมพิวเตอร์กับเซลล์ประสาทในสมองของมนุษย์จะทำผ่านชิปและมัดสายเล็กๆ ของอุปกรณ์ โดยชิปจะถูกนำไปฝังอยู่ในกะโหลกศีรษะของมนุษย์ เขาเชื่อว่าการทดลองนี้จะเสร็จสิ้นภายในทศวรรษนี้

ขณะที่ประโยชน์ของการเชื่อมต่อระหว่างสมองของคนเรากับคอมพิวเตอร์นั้น Musk ได้กล่าวไว้ผ่าน The Wall Street Journal ว่าเขามีความหวังที่จะเห็นการพัฒนาของเทคโนโลยีนี้เพื่อช่วยให้สมองมนุษย์มีประสิทธิภาพสูงขึ้นทั้งในแง่ของกระบวนการคิด การเรียนรู้และจดจำ อีกทั้งจะช่วยในเรื่องการรักษาโรคได้อีกด้วย โดยคาดว่าผลิตภัณฑ์แรกๆ ที่พัฒนาขึ้นจากเทคโนโลยีนี้น่าจะเป็นการรักษาโรคและความผิดปกติต่างๆ เช่น โรคลมบ้าหมู โรคพาร์กินสัน หรือโรคซึมเศร้า ซึ่งเป็นตลาดผู้ป่วยที่มีขนาดใหญ่

ถ้าใครยังคิดไม่ค่อยออกว่าอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์จะเข้าไปเชื่อมต่อกับสมองได้อย่างไร แล้วการดึงเอาข้อมูล ความคิดต่างๆ ของคนไปอยู่บนคอมพิวเตอร์นั้นทำได้จริงหรือ เจ้าพ่อเทคโนโลยี Musk กล่าวไว้ว่า อาจจะฟังดูประหลาด แต่ปัจจุบันมันเกิดขึ้นแล้วจริงๆ

อันที่จริงถ้าเราลองคิดถึงอุปกรณ์อัจฉริยะต่างๆ เช่น โทรศัพท์ คอมพิวเตอร์ และนาฬิกาอัจฉริยะ สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ที่ติดตัวเรา เปรียบเหมือน ดิจิทัลเลเยอร์ที่สาม  หรือ “digital tertiary layer” ซึ่งเรามีความคุ้นชินและมีความรู้ความเข้าใจกับเรื่องนี้ดีอยู่แล้ว เพียงแต่อาจลืมนึกไป

ฟังแบบนี้แล้วเริ่มดูเหมือนจะไม่ใช่เรื่องไกลตัวอย่างที่คิดแล้วสินะ อย่างไรก็ตามเหรียญย่อมมีสองด้านเสมอ เมื่อมีคุณก็อาจมีโทษตามมา ดังนั้นการที่เทคโนโลยีสุดล้ำนี้จะถูกนำมาใช้งานจริงๆ คงยังต้องฝ่าฝันอีกหลายต่อหลายอุปสรรค กว่าการพัฒนานี้จะสมบูรณ์ เป็นที่ยอมรับในวงกว้าง และพร้อมใช้แบบมีผลเสียน้อยที่สุด