การจัดสรรเงินลงทุนในระยะยาวโดยมีเป้าหมายทั้งระยะสั้นและระยะยาวคู่กัน (A strategic asset allocation for balancing short-term and long-term dual goals)

การจัดสรรเงินลงทุนในระยะยาวโดยมีเป้าหมายทั้งระยะสั้นและระยะยาวคู่กัน (A strategic asset allocation for balancing short-term and long-term dual goals)

By…พิชญ ฉัตรพลรักษ์
Portfolio Solutions

มีบ่อยครั้งที่นักลงทุนมีเป้าหมายในการลงทุนหรือมีความต้องการในการใช้เงินมากกว่า 1 อย่างขึ้นไป เช่น ซื้อรถ เก็บเงินเพื่อค่าเล่าเรียนบุตร หรือ ผ่อนบ้าน เป็นต้น

การจัดสรรเงินลงทุนโดยแบ่งก้อนเงินลงทุนออกตามวัตถุประสงค์ในการใช้เงินเป็นอย่างๆ ไป ก็ดูน่าจะเป็นการง่าย แต่หากนักลงทุนต้องการมองภาพรวมทั้งพอร์ตการลงทุนโดยต้องการสร้างสมดุลระหว่างเป้าหมายการลงทุน ทั้งระยะสั้น เช่น ต้องการเงินเพื่อนำมาใช้จ่ายบางส่วน และเป้าหมายระยะยาว เช่น การสะสมมูลค่าเงินลงทุนและรักษาอำนาจในการจับจ่ายใช้สอยในอนาคต ควบคู่ไปด้วยกันนั้นสามารถทำได้หรือไม่และมีปัจจัยอะไรที่ต้องพิจารณาบ้าง

คำตอบคือสามารถพิจารณาจัดพอร์ตการลงทุนเช่นว่านั้นได้ ทีนี้เรามาดูกันว่ามีปัจจัยตัวแปรและความเสี่ยงอะไรบ้าง และวัดค่ากันอย่างไร

จากงานวิจัยของ Elisabetta B. (2017) ประเภทสินทรัพย์ในพอร์ตการลงทุนประกอบด้วย ตราสารทุน (MSCI ACWI) ตราสารหนี้ (Barclays US Aggregate) และอสังหาริมทรัพย์ (MSCI Global REIT) ซึ่งนักลงทุนสามารถเลือกลงทุนผ่านกองทุนรวมหรือ ETF ได้

ทั้งนี้ ความเสี่ยงระยะสั้นได้แก่ จำนวนเงินขาดทุนสะสมของพอร์ตการลงทุนในแต่ละปี (annual portfolio drawdown) (ผลขาดทุนสูงที่มีโอกาสไม่เกิน 1%) ส่วนความเสี่ยงระยะยาวได้แก่ โอกาสที่มูลค่าที่แท้จริงของพอร์ตการลงทุนในอนาคตจะลดลงต่ำกว่ามูลค่าปัจจุบัน (หลังจากหักค่าใช้จ่ายในแต่ละปีออกและปรับด้วยอัตราเงินเฟ้อแล้ว) ในช่วงเวลาลงทุนย้อนหลังไป 10ปี

ผลที่ได้คือ ในระยะยาวการจัดสรรเงินลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงให้มากขึ้นจะสามารถลดความเสี่ยงที่จะพลาดเป้าหมายในระยะยาวลงได้ แต่อาจเกิดผลขาดทุนสะสมในระยะสั้นสูงขึ้นตามไปด้วย

พอร์ตการลงทุนที่มีการจัดสรรน้ำหนักลงทุนแบบอนุรักษ์นิยมคือ 10/80/10 ตามลำดับ ซึ่งมีโอกาส 70% ที่จะพลาดเป้าหมายในระยะยาว (สมมติฐานคือมีการจ่ายเงินออกจากกองทุน 5%) และพอร์ตการลงทุนที่มีการจัดสรรน้ำหนักลงทุนแบบมีความเสี่ยงสูงคือ 90/0/10 ตามลำดับ ซึ่งมีโอกาส 40% ที่จะพลาดเป้าหมายในระยะยาว แต่ก็มีความเสี่ยงที่จะพลาดเป้าหมายในระยะสั้น (เกิดผลขาดทุนสะสม) ในแต่ละปีสูงมากขึ้นด้วย

ส่วนน้ำหนักการการลงทุนที่เหมาะสมที่สุดคือ 60/30/10 ตามลำดับ และหากนักลงทุนสามารถเลือกกองทุนที่สามารถสร้างผลตอบแทนโดยไม่ขึ้นกับตลาด (Pure Alpha) มีการลงทุนแบบเชิงรุก และอัตราผลตอบแทนระหว่างสินทรัพย์ด้วยกันมีค่าสหสัมพันธ์ (มีความเคลื่อนไหวไปด้วยกัน) น้อยได้ ก็จะลดความเสี่ยงในระยะยาวลงอย่างมีนัยสำคัญโดยมีผลกระทบต่อความเสี่ยงระยะสั้นเพียงเล็กน้อย หรือ Alpha ที่เพิ่มขึ้นทุกๆ 1% จะลดความเสี่ยงในระยะยาวลงได้มากกว่า 10%

ด้วยปรัชญาการลงทุนในตราสารทุนของ บลจ. บัวหลวง ซึ่งเน้นการลงทุนแบบเชิงรุกไม่เกาะกับดัชนีของตลาดหลักทรัพย์นั้น ทำให้ กองทุนตราสารทุนที่ บลจ. บัวหลวง บริหารเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจสำหรับนักลงทุนที่ต้องการสร้างพอร์ตการลงทุนโดยการจัดสรรเงินลงทุนในระยะยาว โดยมีเป้าหมายทั้งระยะสั้นและระยะยาวควบคู่กัน