จีนมาถึงยุคที่ของใช้แทบทุกอย่างสั่งงานด้วยเสียงแล้ว

จีนมาถึงยุคที่ของใช้แทบทุกอย่างสั่งงานด้วยเสียงแล้ว

By…วรารัตน์ วีระคงสุวรรณ

ปัจจุบันเทคโนโลยีสั่งงานด้วยเสียง หรือ  Voice Technology เป็นอีกเทคโนโลยีที่ได้รับความนิยมอย่างมากในประเทศจีน ไม่ว่าจะเป็นนาฬิกา หุ่นยนต์ ลำโพง หรือแม้กระทั่งเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในครัวเรือน ต่างนำเทคโนโลยีสั่งงานด้วยเสียงไปใช้แทบทั้งนั้น เพื่อตอบโจทย์ให้คนเมืองใช้ชีวิตได้ง่ายดายยิ่งขึ้น

รายงานล่าสุดเกี่ยวกับเทคโนโลยีสั่งการด้วยเสียงพูดที่ชื่อว่า “Speak Easy” ได้ศึกษาประเทศในเอเชียอย่าง จีน ญี่ปุ่น และไทย ระบุว่า ผู้บริโภคชาวจีนเป็นกลุ่มที่ใช้งานเทคโนโลยีดังกล่าวมากที่สุด และมีอัตราการเลือกใช้เสียงพูดสูงกว่าค่าเฉลี่ยจากทั่วโลก

ส่วนใหญ่ใช้ในกิจกรรมการหาข้อมูลผลิตภัณฑ์ รวมถึงสืบค้นข้อมูลออนไลน์ เนื่องจากผู้บริโภคชาวจีนมีรูปแบบการใช้ชีวิตที่เร่งรีบ งานยุ่งรัดตัว อีกทั้งการสั่งการด้วยเสียงพูดยังเข้ามามีบทบาทสำคัญช่วยให้คนจีนใช้เวลาว่างในการหาความบันเทิง เช่น ใช้เสียงสั่งเพื่อค้นหาเรื่องราวความบันเทิงที่สนใจอยู่ อยากจะฟังเพลงก็แค่ใช้เสียงสั่งการให้อุปกรณ์ช่วยเปิดเพลงให้ฟัง เป็นต้น

ด้วยความนิยมที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่หลายบริษัทในจีนต่างให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบสั่งการด้วยเสียงพูดเพื่อรองรับความต้องการ และพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป

ขณะที่งานเสวนา “17th Annual dbAccess China Conference” จัดโดยดอยซ์แบงก์ ที่เมืองเซินเจิ้น สาธารณรัฐประชาชนจีน ระหว่างวันที่ 14-18 ม.ค. ที่ผ่านมา ได้พูดคุยถึงภาวะเศรษฐกิจ และความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่จะเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจจีน ซึ่งในงานมีบริษัทสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีหลายแห่งเข้าร่วม พร้อมนำผลิตภัณฑ์และบริการมาจัดแสดงเป็นจำนวนมาก สร้างสีสัน และดึงดูดความสนใจของผู้ร่วมงานได้เป็นอย่างดี

อย่างเช่น Rokid บริษัทสตาร์ทอัพปัญญาประดิษฐ์ (AI) ชั้นนำในจีน ที่เชี่ยวชาญเรื่องผลิตภัณฑ์ที่สั่งการด้วยเสียง รวมถึงระบบจดจำใบหน้าและเสียง (Face and Voice Recognition) ที่มาร่วมออกบูธในงานนี้ด้วย โดยตัวแทนของบริษัทได้เล่าถึงความก้าวหน้าของเทคโนโลยีเสียงให้ทีมงานของกองทุนบัวหลวงฟังว่า ผู้ประกอบการในจีนต่างตื่นตัวพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการเพื่อรองรับความต้องการของลูกค้าที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันมีอุปกรณ์หลายประเภท ทั้งแว่นตา นาฬิกา หรือแม้กระทั้งเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ใช้งานระบบอัจฉริยะ นำเทคโนโลยีสั่งงานด้วยเสียง และระบบจดจำใบหน้าและเสียง รวมถึง AI มาใช้กับอุปกรณ์อัจฉริยะ

Rokid ได้นำ Rokid Glass หรือแว่นตาที่มีระบบ AI และ AR (Augmented Reality) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่สภาพแวดล้อมจริงกับวัตถุเสมือน รวมถึงระบบจดจำใบหน้าและเสียง มาจัดแสดงในงานนี้ด้วย

ความอัจฉริยะของแว่นตารุ่นนี้ คือ สามารถประเมินและบอกได้ว่าใบหน้าของบุคคลที่อยู่ข้างหน้าคือใคร ชื่ออะไร เป็นบุคคลที่เคยพบเจอแล้วหรือไม่ รวมไปถึงสั่งการด้วยเสียงเพื่อให้แสดงเส้นทางการเดินทางให้ผู้ใช้ได้อย่างแม่นยำ แถมยังเป็นผู้ช่วยแปลภาษาให้อีกด้วย ทำให้ได้รับความสนใจจากผู้ร่วมงานอย่างดี

นอกจากนี้ยังมี Mobvoi บริษัท AI ชั้นนำที่อยู่ภายใต้การสนับสนุนของ Google และ Volkswagen ก็มาร่วมงานนี้เช่นกัน โดยนำ นาฬิกาอัจฉริยะ “TicWatch” ที่มาพร้อมการสั่งงานด้วยเสียง เรียกว่าทำงานได้ทัดเทียม Google Assistant บนสมาร์ทโฟนของเรา จึงถือเป็นการเพิ่มความสะดวกในการใช้งานสมาร์ทวอทช์ได้ ขณะที่การป้อนข้อความต่างๆ เช่น ตอบแชท ทำได้โดยพิมพ์ด้วยคีย์บอร์ดบนหน้าจอ หรือจะสั่งพิมพ์ด้วยเสียงก็ได้เช่นกัน

ทั้งนี้ Mobvoi ยังนำเทคโนโลยีสกรีนควบคุมอัจฉริยะที่มีลักษณะคล้ายกระจกมองหลังของรถยนต์ ชื่อว่า “Ticmirror” มาจัดแสดงด้วย

อุปกรณ์นี้ทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยอัจฉริยะที่สามารถติดตัวคุณไปได้ทุกที่ เพียงสั่งการด้วยเสียงก็สามารถตอบสนองความต้องการของผู้ใช้ได้อย่างดี สามารถนำทางและแสดงแผนที่บนหน้าจอ พร้อมตอบโต้กับผู้ใช้งานได้ทันที และยังรองรับการเชื่อมต่อกับแอปพลิเคชันต่างๆ ได้ด้วย โดย Mobvoi คาดว่าภายใน 2 ปีจากนี้ เทคโนโลยี Ticmirror จะถูกนำไปติดตั้งไว้ในรถยนต์ Volkswagen ที่ออกขายในประเทศจีนทุกคัน เพื่ออำนวยความสะดวกระดับพรีเมียมให้ลูกค้า

นี่เป็นเพียงบางส่วนของเทคโนโลยีที่นำมาพูดถึงในงานเสวนานี้ ยังมีเรื่องราวเกี่ยวกับเทคโนโลยีที่น่าสนใจอีกมากที่กำลังเป็นที่นิยมในจีน ซึ่งเราจะนำมาเสนอให้ได้ติดตามกันอีกในครั้งต่อไปผ่าน BF Mobile Application