มุมมองตลาดตราสารหนี้ เดือนพฤศจิกายน

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยในเดือนพฤศจิกายนปรับเพิ่มขึ้น 0.02%-0.10%   โดยมีปัจจัยหลักมาจาก  1) การประมูลพันธบัตรรัฐบาลไทยอายุ 5 ปีด้วยวงเงินที่สูงถึง 40,000 ล้านบาท   สูงกว่าค่าเฉลี่ยที่ 10,000 -15,000 ล้านบาท    ทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรในช่วงอายุดังกล่าวปรับตัวสูงขึ้นในช่วงการประมูล     2)  เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 3/2560 ขยายตัว 4.3% สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ และสภาพัฒน์ฯยังได้ปรับเพิ่มคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ขึ้นเป็น 3.9%    3) ร่างกฎหมายปฏิรูปภาษีของสหรัฐฯได้ผ่านการเห็นชอบจากสภาฯผู้แทนและผ่านไปสู่การพิจารณาของวุฒิสภา    ทำให้ตลาดกลับมาให้ความคาดหวังต่อนโยบายปฏิรูปภาษีที่อาจผ่านการพิจารณาจากสภาฯภายในปีนี้และจะกลายเป็นปัจจัยช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐฯในปีหน้า

ช่วงกลางเดือนธันวาคมมีการประชุมธนาคารกลางหลักของโลก 3 แห่งคือ ธนาคารกลางสหรัฐฯ(FED)    ธนาคารกลางยุโรป(ECB) และธนาคารกลางอังกฤษ(BOE)      ซึ่งผลการประชุมเป็นไปตามที่ตลาดคาดการณ์ไว้    โดย ECB และ BOE มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายและคงมาตรการผ่อนคลายทางการเงินไว้ที่ระดับเดิม     ขณะที่ FED ประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% สู่ระดับ 1.25% – 1.50% ตามที่ตลาดคาดการณ์ไว้ล่วงหน้า    ทำให้ตลาดไม่ได้ตอบสนองต่อผลการประชุมดังกล่าวแต่อย่างใด        อย่างไรก็ตาม    FED ได้ปรับประมาณการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปี 2561 เพิ่มขึ้นเป็น 2.5% จากเดิม 2.1%   พร้อมคงคาดการณ์การขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปี 2561 อีก 3 ครั้งสู่ระดับ 2.00% – 2.25%   แตกต่างจากที่ตลาดคาดไว้ว่า FED จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพียง 1-2 ครั้งเท่านั้น

แนวโน้มตราสารหนี้ไทยในปี 2561    อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยระยะสั้นโดยเฉพาะตราสารอายุต่ำกว่า 1 ปีจะอยู่ในระดับใกล้เคียงกับอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.50% ต่อไป       ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวจะยังเคลื่อนไหวผันผวนในกรอบ    โดยมีปัจจัยเสี่ยงคือ  การอนุมัตินโยบายปฏิรูปภาษีของสหรัฐฯ  และการดำเนินนโยบายทางการเงินของธนาคารกลางยุโรปในครึ่งหลังของปี 2561  ที่อาจปรับลดวงเงิน QE ลงอีกหรืออาจประกาศยกเลิกการทำ QE  หลังเศรษฐกิจยุโรปปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา