10 ปีกว่าผ่านไปถนนอาเซียนยาวขึ้นแค่ไหน?

10 ปีกว่าผ่านไปถนนอาเซียนยาวขึ้นแค่ไหน?

By…จารุพันธ์ จิระรัชนิรมย์

อาเซียนเป็นหนึ่งในภูมิภาคที่เศรษฐกิจเติบโตสูง มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่อเนื่อง จึงไม่น่าแปลกใจที่ประชาคมโลกจะสนใจภูมิภาคนี้มาก โดยเฉพาะการเข้ามาลงทุนคว้าโอกาสธุรกิจ

การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในอาเซียนจะมีมากเพียงใด วันนี้เรามีคำตอบที่จะทำให้ทุกคนเห็นภาพชัดขึ้น ผ่านเรื่องราวของถนนอาเซียน

สำนักงานเลขาธิการอาเซียน ณ กรุงจาการ์ตา ได้รวบรวมข้อมูลการพัฒนาด้านการขนส่ง การท่องเที่ยว และการสื่อสารในภูมิภาคอาเซียนไว้ ผ่านรายงาน ASEAN Key Figures 2018 โดยชี้ว่า การพัฒนาด้านการขนส่ง การท่องเที่ยว และการสื่อสารในภูมิภาคนี้ล้วนเกี่ยวข้องกับการเชื่อมโยงภายในภูมิภาค โดยผู้คนและสถานที่ต่างเชื่อมโยงกันด้วยระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งที่จับต้องได้ รวมถึงการท่องเที่ยว และการใช้ดิิจิทัลเพิ่มขึ้น

ความยาวของถนนและจำนวนยานพาหนะโดยรวมในอาเซียนนั้น เป็นตัวเลขที่ทำให้เห็นภาพได้ชัดขึ้นว่าอาเซียนพัฒนาไปถึงไหนแล้ว โดยความยาวถนนของทั้งอาเซียนในปี 2017 อยู่ที่ 1.8 ล้านกิโลเมตร เพิ่มขึ้น 48.1% เมื่อเทียบกับปี 2006 หรือ 11 ปีก่อน

ประเทศที่มีถนนระยะทางยาวที่สุดในอาเซียน คือ อินโดนีเซีย ถนนความยาวรวม 539,415 กิโลเมตร ตามด้วย เวียดนาม 370,664 กิโลเมตร ไทย 284,729 กิโลเมาตร มาเลเซีย 237,022 กิโลเมตร และเมียนมา 164,377 กิโลเมตร ส่วนประเทศอื่นๆ ในอาเซียนล้วนมีถนนความยาวรวมต่ำกว่า 60,000 กิโลเมตรทั้งสิ้น

ปัจจัยที่ทำให้ประเทศมีความยาวถนนมากหรือน้อย ไม่ได้สัมพันธ์กับการพัฒนาเศรษฐกิจเป็นหลัก แต่ส่วนสำคัญมาจากขนาดพื้นที่ในประเทศ

เมื่อดูภาพรวมประเทศในอาเซียนมีความยาวถนนเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 63,417 กิโลเมตรต่อปี ระหว่างปี 2006-2017 ซึ่งอินโดนีเซียและมาเลเซียมีความยาวถนนเพิ่มขึ้นสูงสุด คือมากกว่าค่าเฉลี่ยของอาเซียน 16,000 กิโลเมตรต่อปี ตามด้วยเวียดนาม ที่มีความยาวถนนเพิ่มขึ้นมากกว่าค่าเฉลี่ยอาเซียน 11,000 กิโลเมตรต่อปี

ถัดมาที่ จำนวนยานพาหนะที่จดทะเบียน ที่เติบโตรวดเร็วเช่นกันทั่วทั้งอาเซียน โดยมีถึง 220 ล้านคันในปี 2017 เพิ่มขึ้น 167.8% เมื่อเทียบกับปี 2005 หรือเพิ่ม 8.6% ต่อปี

การเพิ่มขึ้นของจำนวนยานพาหนะนั้น เมียนมา ครองแชมป์ขยายตัวสูงสุด 17.5% ต่อปี ระหว่างปี 2005-2017 ตามด้วยกัมพูชา เพิ่มขึ้น 14.3% ต่อปี ลาว เพิ่มขึ้น 12.2% ต่อปี และอินโดนีเซีย เพิ่มขึ้น 10.9% ต่อปี

ขณะที่ อินโดนีเซีย จัดเป็นประเทศที่มีจำนวนยานพาหนะจดทะเบียนสูงที่สุดในภูมิภาค มีส่วนสำคัญมาจากจำนวนประชากรของประเทศที่มีมาก โดยมียานพาหนะจดทะเบียนถึง 130 ล้านคัน คิดเป็นเกือบ 60% ของยานพาหนะจดทะเบียนทั้งหมดในอาเซียน

เมื่อลองพิจารณาสัดส่วนการใช้ยานพาหนะทั้งหมดต่อประชากร 1,000 คนในประเทศ จะพบวา บรูไน มีสัดส่วนการใช้งานที่สูง อยู่ที่ 971 คันต่อ 1,000 คน มาเลเซีย 897 คันต่อ 1,000 คน และไทย 548 คันต่อ 1,000 คน

อินโดนีเซีย ตามมาเป็นอันดับ 4 อยู่ที่ 499 คันต่อ 1,000 คน ลาว 293 คันต่อ 1,000 คน สิงคโปร์ 171 คันต่อ 1,000 คน เมียนมา 127 คันต่อ 1,000 คน ขณะที่กัมพูชา ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม ต่างก็มีอัตราการใช้ยานพาหนะต่ำกว่า 100 คันต่อ 1,000 คน ในปี 2017

นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของตัวเลขที่ทำให้เห็นการเติบโตของโครงสร้างพื้นฐานในอาเซียน ในโอกาสต่อไป เราจะไปเสาะหาเกร็ดความรู้อื่นๆ ที่น่าสนใจเกี่ยวกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในอาเซียนมานำเสนออีก ส่วนจะเป็นอะไรนั้น ต้องรอติดตาม