ทำความรู้จัก กับ บัวหลวง ไฮยิลด์

ทำความรู้จัก กับ บัวหลวง ไฮยิลด์

ทำความรู้จัก กับ บัวหลวง ไฮยิลด์

โดย…ศรศักดิ์ สร้อยแสงจันทร์

ผู้เชี่ยวชาญด้านการวางแผนทางการเงิน

BF Knowledge Center

กองทุนเปิดบัวหลวงไฮยิลด์ (B-HY) เป็นกองทุนที่มีนโยบายการลงทุนแบบ Feeder Fund คือลงทุนในหน่วยลงทุนกองทุนรวมต่างประเทศชื่อ AXA World Funds US High Yield Bonds USD Fund  (กองทุนหลัก) เฉลี่ยในรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของ NAV  มี AXA Funds Management เป็นผู้จัดการกองทุน ซึ่งมีเป้าหมายในการบริหารกองทุนเพื่อให้รับรายได้ดอกเบี้ยในระดับที่สูงและสม่ำเสมอ โดยลงทุนในตราสารหนี้ประเภท High Yield ของสหรัฐ

AXA Funds Management ซึ่งเป็นผู้จัดการกองทุน มีประสบการณ์ มีทีมงานบริหารกองทุน โดยเฉพาะตราสารหนี้มาหลาย 10 ปี มีฐานการลงทุนอยู่ทั่วโลก

ความน่าสนใจของกองทุนเปิดบัวหลวงไฮยิลด์ มี 2 ประการ

  1. เป็นกองทุนที่ให้ผลตอบแทนที่คาดหวังสูงกว่ากองทุนตราสารทั่วไป เพราะตราสารหนี้ High Yield จ่ายดอกเบี้ยสูง โดยทั่วไปจะอยู่ประมาณ 5-7% บางบริษัทหรือบางรุ่นอาจให้สูง 8-9%
  2. กองทุนจ่ายผลตอบแทนให้นักลงทุนในรูปของการขายคืนหน่วยลงทุนแบบอัตโนมัติเป็นรายไตรมาสโดยไม่เสียภาษี เสมือนลงทุนในหุ้นกู้หรือพันธบัตรที่มีการจ่ายดอกเบี้ยเป็นประจำ

สำหรับความเสี่ยงนั้น ตราสารหนี้ประเภทไฮยิลด์จะมีความเสี่ยงสำคัญที่แตกต่างจากตราสารหนี้ทั่วไปคือ ความเสี่ยงจากการผิดนัดชำระหนี้ โดยบริษัทที่ออกตราสารหนี้ประเภท High Yield จะมีความเสี่ยงทางธุรกิจสูง หรือมีฐานะทางการเงินที่ไม่แข็งแรงมาก ทำให้มีโอกาสที่จะผิดนัดชำระหนี้สูงกว่าปกติ ในยามที่เศรษฐกิจดี บริษัทสามารถสร้างรายได้และกระแสเงินสดเพียงพอจ่ายดอกเบี้ยและเงินต้น หากเศรษฐกิจซบเซาหรือถดถอย รายได้และกระแสเงินสดอาจลดลงจนไม่สามารถจ่ายดอกเบี้ยและเงินต้นได้

ผู้จัดการกองทุนมีวิธีบริหารความเสี่ยงด้านเครดิต ดังนี้

  1. ลงทุนในตราสารหนี้จำนวนมากและหลากหลายเพื่อกระจายความเสี่ยงไม่ให้กระจุกตัวอยู่ในบริษัทหรือธุรกิจใดมากจนเกินไป ในกองทุนจึงมีตราสารหนี้มากกว่า 200 รุ่น จากผู้ออกมากกว่า 150 บริษัท
  2. ใช้ความชำนาญของนักวิเคราะห์/ผู้จัดการกองทุนและกระบวนการคัดเลือกตราสารหนี้ที่เป็นระบบ โดยวิเคราะห์เจาะลึกเข้าไปที่ปัจจัยพื้นฐานบริษัทผู้ออก แนวโน้มของธุรกิจ รายได้และกระแสเงินสด สถานะ/โครงสร้างทางการเงิน และ ความสามารถในการชำระหนี้ พิจารณาร่วมกับภาวะเศรษฐกิจมหภาคและอุตสาหกรรม เพื่อให้ได้ตราสารหนี้ที่มีความเสี่ยงที่เหมาะสมและผลตอบแทนที่คุ้มค่า

นอกจากความเสี่ยงด้านเครดิตแล้ว High Yield Bond ยังมีความเสี่ยงด้านความผันผวนของราคาสูงกว่าตราสารหนี้ทั่วไป ในยามที่เศรษฐกิจมีแนวโน้มชะลอตัวหรือถดถอย ธุรกิจมีความไม่แน่นอนสูง นักลงทุนจะพากันขาย High Yield Bond เพราะเกรงว่าจะเกิดการผิดนัดชำระหนี้ ทำให้ราคาลดลง ในกลับกันหากแนวโน้มเศรษฐกิจหรือธุรกิจดีขึ้น ก็จะกลับมาไล่ซื้อจนราคาสูงขึ้น  ราคาของ High Yield Bond จึงมีความผันผวนค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับตราสารหนี้อื่นๆ แต่ยังผันผวนน้อยกว่าหุ้น จึงเป็นความเสี่ยงที่นักลงทุนต้องพิจารณาประกอบการลงทุน

ความเสี่ยงอีกประเภทคือ ความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน เนื่องจากกองทุนบัวหลวง High Yield ไปลงทุนในกองทุนต่างประเทศจึงมีความเสี่ยงจากความผันผวนของค่าเงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ในกรณีที่เงินดอลลาร์แข็งค่าจะทำให้มูลค่าหน่วยลงทุนสูงขึ้น หากเงินดอลลาร์อ่อนค่ามูลค่าหน่วยลงทุนจะลดลง เราจึงมีกองทุนให้เลือก 2 กองทุน คือ

  • กองทุนบัวหลวง (เฮดจ์ 75) ที่มีนโยบายป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนไม่ต่ำกว่า 75% เหมาะสำหรับนักลงทุนที่ไม่อยากรับความเสี่ยงจากค่าเงิน ต้องการผลตอบแทนจากดอกเบี้ยของตราสารหนี้เพียงอย่างเดียว
  • กองทุนบัวหลวง (อันเฮดจ์) ซึ่งไม่ป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน นักลงทุนจึงมีโอกาสได้ผลตอบแทนเพิ่มในกรณีที่เงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่า แต่หากดอลลาร์อ่อนค่าลงผลตอบแทนที่ได้ก็ลดลงด้วย นักลงทุนที่มีความรู้ความเข้าใจ หรือคุ้นเคยกับตลาดเงินตราต่างประเทศเป็นอย่างดี สามารถเลือกลงทุนในกองทุนนี้

สำหรับ กองทุนนี้เหมาะสำหรับนักลงทุนที่เงินลงทุนสูง ไม่ใช่นักลงทุนรายย่อย โดยต้องลงทุนครั้งแรก 510,000 บาท และเป็นผู้ที่มีความเข้าใจเกี่ยวกับตราสารหนี้ High Yield  ต้องรู้จักและยอมรับความเสี่ยงได้ในระดับสูง โดยให้เป็นส่วนหนึ่งของพอร์ตลงทุนซึ่งได้มีการจัดสรรเงินลงทุน (Asset Allocation) ที่เหมาะสมกับเป้าหมายและระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ของนักลงทุน

ระยะเวลาการลงทุนที่เหมาะสมคือ 3 ปีขึ้นไป ทั้งนี้แนะนำให้ลงทุนระยะยาว 5-7 ปี เพราะเป็นหลักทรัพย์ที่มีราคาผันผวนค่อนข้างสูง การลงทุนต่ำกว่า 3 ปีอาจขาดทุนจากมูลค่าหน่วยที่ลดลงตามราคาตราสารหนี้ ในกรณีที่เศรษฐกิจซบเซาหรือถดถอยจนทำให้มีตราสารหนี้ผิดนัดชำระหนี้ อาจต้องใช้เวลาถึง 7 ปีหรือมากกว่า ตามรอบของวัฎจักรทางเศรษฐกิจให้กลับมาฟื้นตัว บริษัทที่ผิดนัดชำระหนี้จึงกลับมามีฐานะดีขึ้นและจ่ายหนี้คืนได้

นักลงทุนที่ลงทุนในกองทุนนี้ควรถือเสมือนว่าลงทุนในหุ้นกู้หรือพันธบัตรที่มีอายุ 3 ปี 5 ปี ซึ่งถือลงทุนระยะยาวเพื่อรับดอกเบี้ยตลอดอายุตราสาร ซึ่งกองทุนก็ให้ผลตอบแทนโดยขายคืนแบบอัตโนมัติคล้ายกับการจ่ายดอกเบี้ยหุ้นกู้ โดยไม่ต้องสนใจกับมูลค่าหน่วยลงทุนที่ขึ้นลงผันผวนตามภาวะตลาด แต่ดีกว่าหุ้นกู้/พันธบัตร ที่ตรงสามารถขายคืนหน่วยลงทุนได้ทันทีหากต้องการใช้เงิน