อินเดียคลอดร่างกฎเกณฑ์ใหม่สกัดต่างชาติรุกตลาดอี-คอมเมิร์ซในประเทศ

อินเดียคลอดร่างกฎเกณฑ์ใหม่สกัดต่างชาติรุกตลาดอี-คอมเมิร์ซในประเทศ

ซีเอ็นบีซี รายงานว่า อินเดียร่างนโยบายใหม่ออกมารองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมอี-คอมเมิร์ซ โดยเน้นปกป้องบริษัทในประเทศ และเข้มงวดขึ้นกับบริษัทต่างชาติที่จะมาดำเนินการในประเทศ ซึ่งเป็นการดำเนินงานไปในทิศทางเดียวกับที่จีนประสบความสำเร็จในการผลักดันไป่ตู้ อาลีบาบา และเทนเซ็นต์ ให้เป็นบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ระดับโลก ด้วยการวางกฎเกณฑ์ที่เข้มงวดกับบริษัทเทคโนโลยีต่างชาติที่จะเข้ามาดำเนินการภายในประเทศ

สำหรับร่างกฎเกณฑ์ใหม่ เปิดเผยออกมาเมื่อวันเสาร์ที่ 23 ก.พ. ที่ผ่านมา โดยเรียกร้องให้การจัดเก็บข้อมูลจะต้องอยู่ภายในประเทศเท่านั้น และการติดตั้งศูนย์ข้อมูลรวมถึงเซิร์ฟเวอร์ก็ต้องอยู่ภายในประเทศเช่นกัน ซึ่งการร่างกฎเกณฑ์นี้ไม่ได้ทำเพื่อกระตุ้นให้การปฏิบัติการด้านประมวลผลอยู่ในอินเดียเท่านั้น แต่ยังมุ่งหวังให้เกิดการจ้างงานในท้องถิ่นด้วย โดยบริษัทต่างชาติ จะมีเวลา 3 ปีเตรียมตัว หรือสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่ต้องการเพื่อให้เป็นไปตามกฎเกณฑ์ที่วางไว้ ซึ่งก็จะส่งผลกระทบต่อต้นทุนการดำเนินงานอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

จากข้อมูลในร่างกฎเกณฑ์ที่ออกมา ระบุว่า ข้อมูลของอินเดียจะถูกใช้เพื่อพัฒนาประเทศ คนอินเดียและบริษัทในอินเดียจะต้องได้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่มาจากการสร้างรายได้ด้านข้อมูล นอกจากนี้ในกฎเกณฑ์ใหม่ที่ร่าง ยังระบุอีกว่า บริษัทอี-คอมเมิร์ซต่างชาติต้องเข้ามาลงทะเบียนธุรกิจในอินเดียเพื่อให้ยังขายสินค้าในอินเดียต่อได้ โดยในหน้า 41 ของร่างกฎเกณฑ์หยิบยกประเด็นเรื่องการขายสินค้าลอกเลียนแบบและการคุ้มครองผู้บริโภคขึ้นมาด้วย ซึ่งบริษัทต่างๆ จะต้องส่งความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างกฎเกณฑ์ที่อกมากลับไปให้ฝ่ายนโยบายทราบภายในวันที่ 9 มี.ค. นี้

ตลาดอี-คอมเมิร์ซในอินเดียนั้น ยังอยู่ในขั้นตั้งไข่เมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมค้าปลีกโดยรวม โดยคาดการณ์ว่า ตลาดจะมีมูลค่า 200,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2026 จากที่เคยมีมูลค่าต่ำกว่า 39,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐเมื่อปี 2017 เป็นผลจากคนมีรายได้เพิ่มขึ้นและการเติบโตของผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ต ที่ผ่านมาตลาดอี-คอมเมิร์ซในอินเดีย มีการลงทุนหลัก 5,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มาจากอเมซอน และ 16,000 ล้านบาทจากวอลมาร์ท เป็นการลงทุนผ่านผู้เล่นในประเทศอย่าง Flipkart แต่เมื่อเดือน ธ.ค. อินเดียออกกฎเกณฑ์ใหม่เกี่ยวกับการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (เอฟดีไอ) ในกลุ่มอี-คอมเมิร์ซ ซึ่งทำให้ อเมซอนและวอลมาร์ท ที่เป็นเจ้าของ Flipkart ต้องปรับโครงสร้างการดำเนินธุรกิจเพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมาย