กองทุนเปิดบัวหลวงหุ้นเอเชีย (B-ASIA)

กองทุนเปิดบัวหลวงหุ้นเอเชีย (B-ASIA)

กองทุนหลัก (Master Fund)

ชื่อ : Invesco Asain Equity Fund ชนิดหน่วยลงทุน Class C (AD) USD

วัตถุประสงค์การลงทุน : ลงทุนในหุ้นของบริษัทที่จดทะเบียน ดำเนินธุรกิจหลักในประเทศที่อยู่ในภูมิภาคเอเชีย หรือบริษัทโฮลดิ้งที่มีการลงทุนหลักในบริษัทที่จดทะเบียนในประเทศภูมิภาคเอเชีย โดยไม่รวมถึงญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์

วันจดทะเบียน : 10 ก.ย. 2018 (สำหรับ Share Class ใหม่)

ประเทศที่จดทะเบียน : ลักแซมเบิร์ก

สกุลเงิน : USD

เกณฑ์วัดผลการดำเนินงาน (Benchmark) : MSCI AC Asia ex Japan Index

Morningstar Category : Asia ex Japan Equity

Morningstar Rating : 4 Stars

Bloomberg (A) : INVASCAD LX

Fund Size : USD 1.23 Billion (ข้อมูล ณ 31 ม.ค. 2019)

NAV : USD 9.03

Number of holdings : 55

สรุปภาวะตลาดหุ้นเอเชียไม่รวมญี่ปุ่นในช่วงไตรมาส 4 ปี 2018

ตลาดหุ้นเอเชียปิดท้ายปี 2018 ด้วยความผันผวนและปรับลดลงต่อเนื่อง โดยดัชนี MSCI Asia ex-Japan ในไตรมาส 4 ปี 2018 ปรับลดลงกว่า -9% ส่งผลให้ทั้งปี ดัชนีปรับตัวลง -16% โดยที่ตลาดหุ้นในฝั่งเอเชียเหนือให้ผลตอบแทนที่แย่ที่สุด โดยมีหลากหลายปัจจัยที่เข้ามาส่งผลกระทบต่อความกังวล และความเชื่อมั่นของนักลงทุน ไม่ว่าจะเป็นความเสี่ยงในเรื่องสงครามการค้า ความกังวลเรื่องการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน และความกังวลว่าเศรษฐกิจโลกอาจกำลังเข้าสู่ภาวะวิกฤตเศรษฐกิจ แม้ว่าประเด็นที่เข้ามากดดันตลาดในช่วงก่อนหน้าอย่างเช่น การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ FED จะผ่อนคลายลงจากสัญญาณการชะลอจังหวะในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยก็ตาม

สรุปภาพรวมการลงทุนของกองทุนหลัก

ในไตรมาส 4 ปี 2018 ผลการดำเนินงานกองทุนหลักลดลง -6.8% (เมื่อคิดเป็นสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ) ตามสถานการณ์ของตลาด แต่ถือว่าลดลงน้อยกว่าเกณฑ์มาตรฐานที่ลดลงถึง -9.2% โดยมีความเคลื่อนไหวของพอร์ตการลงทุนโดยหลัก ดังนี้

  • การเลือกหุ้นอินเดียสามารถสร้างผลตอบแทนเป็นบวกให้กับกองทุน โดยหุ้นของธนาคาร ICICI เป็นหุ้นที่สร้างผลตอบแทนให้กองทุนได้สูงสุดในช่วงไตรมาส 4 จากการฟื้นตัวของกำไรจากการดำเนินงาน รวมถึงหุ้นของ UPL (ผู้จัดจำหน่ายเคมีภัณฑ์ที่ใช้ทางด้านการเกษตร) ได้ปรับตัวขึ้นมากในช่วงไตรมาสเช่นเดียวกันจากผลประกอบการที่แข็งแกร่ง รวมถึงการเข้าซื้อกิจการของ Arysta (ผู้ผลิตปุ๋ยและเคมีภัณฑ์ในภาคการเกษตร) จะยิ่งช่วยผลักดันให้กำไรของบริษัทเติบโตได้ในระยะกลาง
  • การลดลงของราคาน้ำมันโลกส่งผลกระทบกับผลประกอบการและราคาหุ้นของ CNOC ซึ่งเป็นหุ้นที่ให้ผลตอบแทนติดลบที่สุดของกองทุนในไตรมาสนี้
  • หุ้น Samsung เป็นหุ้นอีกหนึ่งตัวของพอร์ตการลงทุนที่ปรับตัวลดลงที่สุดในไตรมาส เป็นผลพวงจากจากราคา Memory Chip ที่อ่อนแอลงและแนวโน้มอุปสงค์ของ Memory Chip ที่อาจลดลง

กลยุทธ์การลงทุนของกองทุนหลัก

ผู้จัดการกองทุนยังคงเน้นแสวงหาผลตอบแทนจากจากบริษัทที่ราคาหุ้นต่ำกว่าระดับที่ควรจะเป็น (Fair value) และบริษัทที่มีระดับมูลค่าตลาดเหมาะสม แต่มีแนวโน้มผลประกอบการออกมาดีกว่าที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้า โดยที่

  • หุ้นกลุ่มสถาบันการเงินยังเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่กองทุนเข้าไปลงทุนมากที่สุด แต่เป็นการเลือกลงในบางสถาบันการเงินหรือบริษัทประกันที่ปัจจัยพื้นฐานดีขึ้นเท่านั้น เช่น ธนาคารในอินเดีย เป็นต้น
  • ผู้จัดการกองทุนให้น้ำหนักกับหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีในไต้หวันและเกาหลีที่มีระดับเงินสดดี โดยตั้งแต่ช่วงไตรมาส 4 ปี 2018 ผู้จัดการกองทุนได้เพิ่มการลงทุนใน MediaTek จนกระทั่งมีสัดส่วนการลงทุนเป็นลำดับที่ 5 ในพอร์ตการลงทุน
  • กลุ่มบริษัทอินเทอร์เน็ตในจีนยังคงน่าสนใจที่จะเข้าไปลงทุนด้วยความสามารถในการสร้างรายได้และกระแสเงินสดที่ดี โดยผู้จัดการกองทุนอาศัยจังหวะที่ตลาดปรับตัวลงเข้าซื้อหุ้นของ Baidu และ JD.com เพิ่มเติม

อย่างไรก็ตามในช่วงไตรมาสที่ผ่านมา ผู้จัดการกองทุนได้ขายหุ้นบางส่วนที่ราคาปรับขึ้นมา เช่น China Communication Service/ Bank Negara ของ อินโดนีเซีย/China Mobile เป็นต้น

ผลการดำเนินงานย้อนหลังของกองทุน (ณ วันที่ 31 ม.ค. 2019)

สัดส่วนหลักทรัพย์ที่ถือครอง (ร้อยละของ NAV ณ วันที่ 31 ม.ค. 2019)

  1. Samsung Electronics Co Ltd (8.3%, เกาหลีใต้) บริษัท อิเล็กทรอนิกส์ข้ามชาติของเกาหลีใต้ เป็นบริษัทเทคโนโลยีสารสนเทศอันดับสองของโลก
    ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์หลายรายการ และเป็นผู้ผลิตโทรทัศน์รายใหญ่ที่สุดของโลกตั้งแต่ปี 2006 รวมทั้งเป็นผู้ผลิตโทรศัพท์มือถือรายใหญ่ที่สุดในโลก แซงหน้า Apple inc. ตั้งแต่ปี 2011 ราคาหุ้นยังคงปรับลดลง ด้วยความกังวลของนักลงทุนเกี่ยวกับธุรกิจ Semiconductor ซึ่งมีสัดส่วนกว่า 70% ของกำไรจากการดำเนินงานของบริษัท จะถูกกระทบจากเรื่องการกีดกันทางการค้า อย่างไรก็ตามการพัฒนาทางด้านนวัตกรรมของ Samsung จะช่วยหนุนการเติบโตเป็นไปอย่างยั่งยืนในอนาคต
  2. Taiwan Semiconductor Co Ltd (5.1%; ไต้หวัน) บริษัทผลิตชิ้นส่วนเซมิคอนดักเตอร์รายใหญ่ที่สุดของโลก มีฐานการผลิตทั้งในจีน สหรัฐฯ แคนาดา ญี่ปุ่น อินเดีย และเกาหลีใต้ ราคาหุ้นของ TSMC ในช่วงที่ผ่านมาได้รับผลกระทบจาก Sentiment ของตลาดเรื่องสงครามการค้า รวมถึงปัญหาด้านการผลิตของ TSMC เอง อนึ่ง ในระยะสั้นอาจได้รับผลกระทบจากภาวะอุปทานส่วนเกินในตลาดและการลดกำลังผลิตของ iPhone ทั้งนี้ ในระยะยาว TSMC ยังคงมีแนวโน้มที่ดีจากอุปสงค์ต่อ High-end Smart Phone ที่ยังขยายตัวได้ รวมถึงการใช้ Memory Chip ในการทำ Machine Learning ของ AI
  3. Tencent Holding Ltd (5.0%; จีน) บริษัทให้บริการเกมส์ออนไลน์ มีบริษัทลูกชื่อ Tencent Technology (Shenzhen) Co., Ltd. ซึ่งถือสิทธิบัตรเกี่ยวกับโปรแกรม Instant Messaging (โปรแกรมแชท) และเกมส์ออนไลน์ ปัจจุบัน Tencent เป็นเจ้าของแพลตฟอร์มสังคมออนไลน์ขนาดใหญ่ ติดอันดับโลกถึง 3 ตัวด้วยกัน ได้แก่ Tencent QQ Tencent Qzone และ WeChat มียอดผู้ใช้งาน (Active User) เกิน 500 ล้านคนทั่วโลก ปัจจุบัน Tencent ติด 1 ใน 5 บริษัทเทคโนโลยีที่ใหญ่ที่สุดในโลก การที่หน่วยงานกำกับดูแลสื่อของจีนได้ออกใบอนุญาตให้กับเกมส์ในประเทศเพิ่มอีกเป็นรอบที่ 3 หลังจากได้หยุดออกใบอนุญาตมาร่วมหนึ่งปี นับเป็นสัญญาณที่ดีต่อธุรกิจเกมส์ของจีน ทั้งนี้คาดว่าธุรกิจของ Tencent จะเจริญเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง จากจุดแข็งทางด้านแพลตฟอร์มความบันเทิงและโซเชียล เน็ตเวิร์ค รวมถึงการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของประชากรจีนที่เร่งตัวขึ้นและมีการขยายตลาดไปยังต่างประเทศ
  4. AIA Group Ltd (3.3%; ฮ่องกง) กลุ่มประกันชีวิตอิสระมีสาขาครอบคลุม 18 ประเทศในเอเชียแปซิฟก ผลประกอบการยังคงได้แรงหนุนการเติบโตของเบี้ยประกันที่ดี นอกจากนั้น ล่าสุด AIA ได้รับใบอนุญาตจากทางการจีนให้ประกอบธุรกิจในเมืองเทียนจินและเหอเป่ยได้ และคาดว่าจะได้รับใบอนุญาตในเมืองที่เหลือ ซึ่งจะช่วยหนุนการเติบโตของเบี้ยประกัน โดยคาดการณ์ว่าแนวโน้มของ AIA จะขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะในตลาดจีน อินเดียและอาเซียนที่รายได้ของประชากรเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้ความต้องการทางด้านการจัดการทางการเงินเร่งตัวขึ้นตามไปด้วย
  5. MediaTek Inc (3.0%; ไต้หวัน) บริษัทสัญชาติไต้หวัน ผู้ผลิตชิ้นส่วนเซมิคอนดักเตอร์สำหรับการสื่อสารแบบไร้สายและดิจิทัล มัลติมีเดีย รวมถึงเป็นผู้ผลิตมือถือสมาร์ทโฟนระดับกลางยี่ห้อ Helio โดยผู้จัดการกองทุนเชื่อว่าในปี 2019 นี้ ธุรกิจของ MediaTek จะขยายตัวได้ดีจากการเพิ่มความหลากหลายของผลิตภัณฑ์และธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ Smart Device ยังคงมีแนวโน้มการเติบโตที่ดี อีกทั้ง ในระยะยาว MediaTek คาดว่า จะได้รับประโยชน์จากความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์ที่เป็น Internet of thing เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

ปัจจัยบวกและลบต่อตลาดหุ้นเชียไม่รวมญี่ปุ่นในระยะถัดไป

(+) MSCI Emerging Market เพิ่มสัดส่วนในการคำนวนหุ้นจีน A-Shares Large Cap เข้าเป็นส่วนหนึ่งของดัชนีจาก 5% เป็น 20% ในเดือน พ.ค. และ ส.ค. 2019 นอกจากนั้น หุ้นจีน A-Shares Mid-Small Cap จะเพิ่มสัดส่วนในดัชนีเป็น 20% ในเดือน พ.ค. 2020

(+) โครงการเชื่อมโยงระหว่างตลาดหุ้นจีนและฮ่องกง (Shanghai HK และ Shenzhen HK Stock Connect) ช่วยพัดพากระแสเงินลงทุนต่างชาติเข้าตลาดจีน Mainland

(+) ราคาน้ำมันดิบที่ลดลงช่วยผ่อนคลายแรงกดดันของบัญชีดุลการค้าในประเทศที่นำเข้าน้ำมันในระดับสูง เช่น อินเดีย

(+/-) การเจรจาด้านการกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐและจีนที่ยังคงไม่ได้ข้อสรุป ซึ่งล่าสุดประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศเลื่อนเส้นตายการปรับขึ้นภาษีศุลกากรจากสินค้านำเข้ามูลค่า 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ จาก 10% เป็น 25% ซึ่งแรกเริ่มกำหนดไว้วันที่ 1 มี.ค. 2019 ซึ่งความคืบหน้าของการเจรจาช่วยกระตุ้น Sentiment ตลาดได้ อย่างไรก็ตาม หากการเจรจายืดเยื้อไปมากหรือผลการเจรจาไม่เป็นไปดังคาดการณ์ ก็จะเป็นความเสี่ยงที่สำคัญต่อเศรษฐกิจและตลาดการเงินของภูมิภาคเอเชีย

(+/-) การเลือกตั้งในอินเดีย อินโดนีเซีย และไทย เริ่มตั้งแต่ช่วงปลายไตรมาส 1 ไปจนถึง ไตรมาส 2

(-) หากพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปีสูงขึ้นอาจส่งผลให้กระแสเงินไหลออกจากตลาดเกิดใหม่ (EM) รวมถึงเอเชีย

(-) สัญญาณการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจจีน ซึ่งมิได้ส่งผลต่อจีนเท่านั้นแต่ยังส่งผลต่อประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคโดยเฉพาะประเทศที่เป็นห่วงโซ่อุปทานของการผลิตและการบริโภคในจีน อย่างไรก็ตามทางการจีนได้ออกมาตรการทั้งภาคการเงินและการคลังเพื่อช่วยพยุงเศรษฐกิจ ตั้งแต่ช่วงปีที่ผ่านมา

มุมมองจากผู้จัดการกองทุนหลัก Invesco Asian Equity Fund

ปี 2018 นับเป็นปีแห่งความยากลำบาก สำหรับตลาดหุ้นเอเชีย อย่างไรก็ตาม บางประเด็นที่น่ากังวลในปีที่ผ่านมาเริ่มคลี่คลายลงในปีนี้ เช่น การออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของทางการจีนคาดว่าจะเริ่มเห็นผลและจะช่วยบรรเทาภาวะการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของจีนได้ หรือแม้กระทั่งการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ FED ที่เคยเป็นประเด็นกังวลหลักในปี 2018 ก็เริ่มผ่อนคลายลงจากท่าทีของ FED ที่ส่งสัญญาณไม่เร่งรัดการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย มีเพียงประเด็นด้านสงครามการค้าเท่านั้นที่ดูจะยังคงสร้างความกังวลให้กับตลาดได้ต่อไป แม้ว่าการเจรจาจะดูมีความคืบหน้าแต่ว่ายังคงไม่เห็นข้อสรุปของการเจรจา ซึ่ง Invesco มองว่าเป็นเพียงการยืดเวลาความผันผวนออกไปเท่านั้นเอง และด้วยประเด็นดังกล่าวจะส่งผลต่อเนื่องต่อภาคธุรกิจที่อาจตัดสินใจชะลอการลงทุนได้

ทั้งนี้ แม้ภูมิภาคเอเชียจะยังคงต้องเผชิญกับความท้าทาย ทว่า Invesco คาดว่า การขยายตัวของเศรษฐกิจเอเชียยังคงอยู่ในระดับแข็งแกร่งแม้ว่าจะแผ่วลงมาบ้าง โดยในปี 2019 Invesco คาดว่าอัตราการขยายตัวทาง GDP ของภูมิภาคเอเชียจะอยู่ที่ 5.9% แต่เมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่อื่นๆ แล้ว เอเชียนับว่าเป็นภูมิภาคที่มีปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแกร่ง สามารถรองรับแรงเสียดทานได้ดี อย่างไรก็ตาม Invesco ได้ปรับลดคาดการณ์ อัตรากำไรต่อหุ้นของบริษัทจดทะเบียนในภูมิภาคเอเชียในปีนี้ลงสู่ 7.5% (จากเดิมที่ 11%) อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว ตลาดหุ้นเอเชียซื้อขายอยู่ในระดับที่น่าสนใจมากกว่าด้วย Forward P/E 12 เดือน ที่ 11.1 เท่า โดยปัจจัยเร่ง (Catalyst) ต่อตลาดหุ้นเอเชียในปี 2019 ของ Invesco มี 3 ประเด็นหลักด้วยกัน ได้แก่

  • Invesco เชื่อว่าตลาดหุ้นเอเชียจะน่าสนใจและและดึงดูดนักลงทุนจากทั่วโลกได้อีกครั้งในปี 2019 นี้
  • คาดว่าจะเห็นการออกโยบายเพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจจากบรรดารัฐบาลของแต่ละประเทศ
  • บริษัทในภูมิภาคเอเชียจะมองหาโอกาสในการขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศ

อีกทั้ง Invesco เชื่อว่าเอเชียจะเป็นหนึ่งในภูมิภาคที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจได้ดีในช่วงทศวรรษข้างหน้า หนุนโดยการบริโภคจากการเพิ่มขึ้นของรายได้ ประกอบกับการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมภายในภูมิภาคจะสร้างโอกาสทางด้านการลงทุนให้แก่นักลงทุนได้