(ซีรีส์ ตอนที่ 1) กองทุน BKIND กับภารกิจ “การลงทุนเพื่อสังคม”

(ซีรีส์ ตอนที่ 1) กองทุน BKIND กับภารกิจ “การลงทุนเพื่อสังคม”

หากพูดถึงการลงทุนแล้ว จุดประสงค์หลักของผู้ลงทุน ก็คือ แสวงหาผลตอบแทนที่คุ้มค่า แต่คงจะดีมากกว่า ถ้าการลงทุนนั้นได้ กลับคืนสิ่งดีๆ สู่สังคมไปพร้อมๆ กับการสร้างผลตอบแทน ซึ่งบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม บัวหลวง จำกัด (กองทุนบัวหลวง) เป็นผู้ริเริ่มของประเทศไทยที่นำแนวคิด “การลงทุนเพื่อสังคม” มาใช้ในการจัดตั้ง “กองทุนรวม คนไทยใจดี” หรือ กองทุน BKIND นับตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมา

ตลอดระยะเวลาเกือบ 5 ปี กองทุน BKIND สนับสนุนโครงการทำดีเพื่อสังคมไปแล้ว รวม 46 โครงการ เม็ดเงินรวมทั้งสิ้น 36.94 ล้านบาท (ณ สิ้นปี 2561) โดยโครงการสนับสนุนเพื่อสังคม แบ่งเป็น 3 ระดับ กล่าวคือ ระดับแรก ต้องการความช่วยเหลือแบบเร่งด่วน ระดับที่สอง คือ โครงการที่สามารถขยายผล และต่อยอดให้เกิดประโยชน์ในอนาคตได้ สำหรับระดับสุดท้าย คือ สนับสนุนให้โครงการนั้นๆ สามารถพัฒนาก้าวขึ้นมาเป็นต้นแบบให้กับโครงการอื่นๆ ได้

สำหรับความคืบหน้าโครงการที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณไปแล้ว ระหว่างเดือนมิ.ย. 2560 – ธ.ค. 2561 จำนวน 5 โครงการ ประกอบด้วย 1.) โครงการพัฒนาศักยภาพและรูปแบบโหนดการจ้างงานคนพิการในระดับพื้นที่ 2.) โครงการพัฒนาหลักสูตรและระบบการแนะแนวอาชีพสำหรับนักเรียนที่มุ่งเน้นการคิดวิเคราะห์เพื่อค้นพบตัวเอง 3.) โครงการสายไฟใจดี 4.) โครงการขนส่งมวลชนที่ทุกคนออกแบบได้ และ 5.) โครงการพัฒนาต่อยอดระบบยากับคุณเพื่อประชาชน โดยรายละเอียดของแต่ละโครงการ เราจะนำมาเสนอให้ติดตามกันอีกในครั้งต่อไปผ่าน BF Mobile Application และช่องทางสื่อออนไลน์ของกองทุนบัวหลวง

อนึ่ง นโยบายการลงทุนของกองทุน BKIND เน้นลงทุนในกิจการที่มีปัจจัยพื้นฐานดี อีกทั้งจะต้องเป็นกิจการที่ให้ความสำคัญและมีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อสังคม 4 ด้าน ได้แก่ สิ่งแวดล้อม (Environment) สังคม (Social) บรรษัทภิบาล (Good Governance) และต่อต้านคอร์รัปชัน (Anti-Corruption) ตามเกณฑ์การคัดกรอง ESGC ของ กองทุนบัวหลวง โดยให้ความช่วยเหลือสังคม ด้วยการนำค่าธรรมเนียมการจัดการกองทุน (40% ของค่าธรรมเนียมการจัดการ หรือเทียบเท่า 0.8% ของมูลค่าเงินกองทุน) ตอบแทนคืนสู่สังคม ซึ่งในฐานะผู้ถือหน่วยลงทุนกองทุนนี้ ก็เหมือนได้มีส่วนร่วมในการช่วยเหลือสังคม หรือทำดีได้ในทุกๆ วัน