ต่างชาติเลี่ยงผลกระทบการกีดกันการค้าสหรัฐฯ-จีน เล็งเวียดนามเป็นฐานการผลิตใหม่

ต่างชาติเลี่ยงผลกระทบการกีดกันการค้าสหรัฐฯ-จีน เล็งเวียดนามเป็นฐานการผลิตใหม่

BF Economic Research

แม้ปัญหาการกีดกันทางการค้าจะเป็นประเด็นท้าทายต่อเศรษฐกิจโลก แต่เป็นโอกาสกับประเทศในแถบอาเซียนบางส่วนโดยเฉพาะเวียดนาม

GDP ของเวียดนามในไตรมาสแรกของปี 2019 เติบโตถึง 6.8% YoY สะท้อนว่าผลกระทบจากนโยบายการกีดกันทางการค้าต่อเวียดนามนั้นไม่รุนแรงนัก และมากไปกว่านั้น เวียดนามอาจกลายเป็นประเทศที่ได้รับประโยชน์จากประเด็นนี้

ในช่วงครึ่งหลังของปี 2018 ที่ผ่านมา นิคมอุตสาหกรรม ท่าเทียบเรือ และโรงไฟฟ้าต่างได้อานิสงส์จากการย้ายฐานผลิตเข้ามาในเวียดนามของนักลงทุนต่างชาติที่เพิ่มขึ้น ในระยะข้างหน้าเรามองว่า ธุรกิจที่มีแนวโน้มจะย้ายฐานการผลิตมาเวียดนามมากขึ้น คือ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์

ปัญหาการกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ยังเป็นประเด็นที่ต่อเนื่องมาจนถึงปีนี้ โดยเราเริ่มเห็นผลกระทบที่ชัดเจนมากขึ้นจากตัวเลขเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวตามการส่งออก อย่างไรก็ตาม สำหรับบางประเทศอย่างเวียดนาม เรากลับพบว่า เศรษฐกิจยังคงมีโมเมนตัมการเติบโตที่โดดเด่นโดย GDP ของเวียดนามในไตรมาสแรกของปี 2019 ขยายตัวถึง 6.8% YoY สูงกว่าที่ตลาดคาดการณ์ แม้ว่าจะชะลอลงจากไตรมาสที่ผ่านมาที่ขยายตัว 7.1% YoY โดยได้รับแรงหนุนจากการเติบโตของภาคอุตสาหกรรมการผลิต และภาคการก่อสร้าง ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าเวียดนามได้รับผลกระทบจากนโยบายการกีดกันทางการค้าไม่มากนัก และยิ่งไปกว่านั้น เวียดนามอาจจะกลายเป็นประเทศที่ได้รับประโยชน์จากประเด็นนี้

การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ โดยเฉพาะจากจีนขยายตัวโดดเด่น

การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment: FDI) ของเวียดนามในไตรมาสแรกของปี 2019 เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยสถิติยอดลงทะเบียนขอลงทุน (FDI Registration) เพิ่มขึ้นถึง 86.2% YoY ขณะที่ ยอดการลงทุนจริง (FDI disbursement) ก็มีทิศทางขยายตัวได้ดีเช่นกันที่ 6.2% YoY แตะ 4.12 พันล้านดอลลาร์ฯ โดยเฉพาะ FDI จากจีนที่ขยายตัวอย่างโดดเด่นเป็นอันดับหนึ่งที่ 46 % YoY ในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2019 มากกว่าประเทศอื่นๆ ที่มี FDI สะสมในเวียดนามมากที่สุด 3 อันดับแรกอย่างเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และสิงคโปร์ แสดงให้เห็นภาพการเคลื่อนย้ายฐานการผลิตของจีนมายังเวียดนามได้เป็นอย่างดี

ทั้งนี้ ด้วยจุดเด่นที่เป็นประเทศที่กำลังพัฒนา และมีกำลังแรงงานถึง 55 ล้านคน ส่งผลให้ในระยะ 7 ปี ที่ผ่านมา นักลงทุนต่างชาติมีการยื่นขอลงทุนโดยตรงในเวียดนามมากขึ้นเกือบ 2 เท่า ขณะที่ เม็ดเงินลงทุนจริงขยายตัวเฉลี่ยกว่า 10.7% ต่อปี ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในอุตสาหกรรมการผลิต โดยเกาหลีใต้เป็นประเทศที่มีการลงทุนสะสมสูงสุด จากการใช้เวียดนามเป็นฐานการผลิตโทรศัพท์มือถือ เครื่องใช้ไฟฟ้า และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ เพื่อการส่งออก

จากการเข้ามาอย่างต่อเนื่องของนักลงทุนต่างชาติเพื่อใช้เวียดนามเป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออกนั้น ส่งผลให้โครงสร้างการส่งออกของเวียดนามเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมที่ส่งออกสินค้าเกษตรเป็นหลัก กลายเป็นการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมมากขึ้น จนกระทั่งได้พลิกสถานะดุลการค้าของเวียดนามจากขาดดุลทางการค้า มาเป็นเกินดุลการค้าในปัจจุบัน

 

ส่งออกเวียดนามไปยังสหรัฐฯ 2 เดือนแรกปี 2019 โต 36% YoY

แม้ประเด็นความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯและจีนได้เริ่มก่อตัวขึ้น จะส่งผลกระทบต่อการส่งออกในหลายประเทศ แต่การส่งออกของเวียดนามกลับขยายตัวได้ โดยเฉพาะการส่งออกไปสหรัฐฯ ที่ขยายตัว 14.2% ในปี 2018 เร่งขึ้นจากปี 2017 ที่ 8.2% และเหนือการส่งออกรวมเล็กน้อยที่ขยายตัว 13.8%

หากแต่ประเด็นที่น่าสนใจคือ การส่งออกของเวียดนามในสินค้าหมวดที่สหรัฐฯ เรียกเก็บภาษีจากจีน อย่างเครื่องจักรกลและอุปกรณ์ เหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กก็ขยายตัวอย่างมีนัยสำคัญ อีกทั้งยังคงเห็นภาพการขยายตัวที่ต่อเนื่องมายังปัจจุบัน โดย 2 เดือนแรกของปี 2019 การส่งออกของเวียดนามไปยังสหรัฐฯ ขยายตัวสูงถึง 36.0% YoY อาจเป็นไปได้ว่า สหรัฐฯ หันไปนำเข้าสินค้าจากเวียดนามมากขึ้น ทดแทนการนำเข้าจากจีนที่มีต้นทุนสูงขึ้นจากการเพิ่มภาษีนำเข้า

นอกจากนี้ ผลจากการยกเลิกมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (Anti-Dumping) ของสหรัฐฯ ในสินค้าประเภทกุ้งจากเวียดนาม ทำให้อัตราภาษีนำเข้าลดลงเหลือ 0% จากเดิมที่ 4.58% โดยจะมีผลตั้งแต่เดือนกันยายน 2562 เป็นต้นไป เราคาดว่า การส่งออกโดยรวมของเวียดนามในไตรมาส 4 เป็นต้นไป น่าจะได้รับปัจจัยหนุนจากการส่งออกหมวดผลิตสัตว์น้ำมากขึ้น

แล้วธุรกิจใดในเวียดนามที่จะได้อานิสงส์?

ในความเป็นจริง นับตั้งแต่ก่อนที่จะมีประเด็นการกีดกันทางการค้านั้น ธุรกิจต่างชาติ โดยเฉพาะจีนก็ได้มีการย้ายฐานการผลิตมาที่เวียดนามอยู่แล้ว โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเป็นหลัก อาทิ อุตสาหกรรมการผลิตเครื่องนุ่งห่ม และรองเท้า เป็นต้น อันเนื่องมาจากค่าแรงงานในจีนที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ดังนั้น การย้ายฐานการผลิตมายังเวียดนาม ซึ่งมีค่าแรงขั้นต่ำถูกเมื่อเทียบกับประเทศ จึงเป็นการลดต้นทุนการผลิตอย่างมีนัยสำคัญ

ทั้งนี้ หลังจากที่นโยบายกีดกันทางการค้าเริ่มเห็นผลกระทบชัดเจนขึ้น เราพบว่า ในช่วงครึ่งหลังของปี 2018 นิคมอุตสาหกรรม ท่าเทียบเรือ และโรงไฟฟ้าต่างได้อานิสงส์จากการย้ายฐานการผลิตมายังเวียดนาม

เริ่มจากอัตราการเช่าพื้นที่ (Occupancy rate) ในนิคมอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดทั้งในกรุงฮานอย และโฮจิมินห์ ในขณะที่ ธุรกิจท่าเทียบเรือก็คึกคักมากขึ้น จากปริมาณการขนถ่ายตู้สินค้าที่เพิ่มขึ้นตามการขยายตัวของการนำเข้าและการส่งออก โดยเฉพาะท่าเทียบเรือเมืองไฮฟองทางตอนเหนือของเวียดนาม ซึ่งอยู่ใกล้โรงงานผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่สำคัญ นอกจากนี้ ด้วยกิจกรรมการผลิตในประเทศที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ความต้องการใช้ไฟฟ้าเพื่อการผลิตเพิ่มขึ้นตามไปด้วย

ในระยะข้างหน้า ธุรกิจที่เรามองว่ามีแนวโน้มจะย้ายฐานการผลิตมาเวียดนามมากขึ้น คือ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เนื่องจากเป็นกลุ่มสินค้าที่สหรัฐฯ ได้ปรับขึ้นภาษีไปแล้วก่อนหน้านี้ และปัจจุบันเวียดนามเองก็เป็นฐานการผลิตสำคัญของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์อยู่แล้ว โดยเฉพาะบริษัทจากเกาหลี อย่างซัมซุง และแอลจี อย่างไรก็ดี การผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ในเวียดนามนั้นส่วนใหญ่จะเป็นการผลิตที่ไม่ได้ใช้เทคโนโลยีสูง และใช้แรงงานเป็นหลัก ซึ่งจะได้ประโยชน์จากค่าแรงที่ต่ำ

โดยสรุป
สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน แม้ว่าจะยังคงเป็นประเด็นที่ฉุดรั้งเศรษฐกิจโดยรวมของโลก แต่ก็ส่งผลบวกต่อโอกาสในการส่งออกให้กับประเทศในแถบอาเซียนซึ่งมีภูมิศาสตร์ใกล้ชิดกับจีน โดยเฉพาะเวียดนามที่มีประชากรวัยทำงานค่อนข้างมาก และมีต้นทุนแรงงานที่ต่ำอีกทั้ง มีอัตราในการเติบโตทางเศรษฐกิจย้อนหลัง 5 ปีสูงเป็นอันดับที่ 5 ของโลก โดยพัฒนาการทางเศรษฐกิจของเวียดนามที่ต่อเนื่องจะช่วยดึงดูดเม็ดเงินการลงทุน ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงห่วงโซ่การผลิตโลกที่กำลังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในขณะนี้