กองทุนเปิดบีเฟล็กซ์ (B-FLEX)  และ กองทุนเปิดบีแอ็คทีฟ (B-ACTIVE)

กองทุนเปิดบีเฟล็กซ์ (B-FLEX) และ กองทุนเปิดบีแอ็คทีฟ (B-ACTIVE)

กองทุนเปิดบีเฟล็กซ์ (B-FLEX)

กองทุนเปิดบีแอ็คทีฟ (B-ACTIVE)

วัตถุประสงค์การลงทุน

กระจายการลงทุนในตราสารแห่งทุน ตราสารกึ่งหนี้กึ่งทุน ตราสารหนี้และหรือเงินฝาก รวมทั้งหลักทรัพย์และทรัพย์สินอื่นๆตั้งแต่ร้อยละ 0 ถึงร้อยละ 100 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ

Bloomberg (A): BFLEX TB / BACTIVE TB

Fund Size: B-FLEX:  1,431 ล้านบาท / B-ACTIVE 395.5 ล้านบาท (ข้อมูล ณ วันที่ 31 พ.ค. 2019)

Morningstar Category:   B-FLEX:  Conservative Allocation /  B-ACTIVE: Aggressive Allocation

สรุปภาพรวมตลาดตราสารทุนไทย ม.ค. – พ.ค. 2019

ตลาดหุ้นไทยเปิดปี 2019 ด้วยความสดใส ตามตลาดหุ้นอื่นๆในภูมิภาค ขับเคลื่อนด้วยความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่ปรับตัวดีขึ้นจากตัวเลขทางเศรษฐกิจที่ขยายตัวได้ดี ประกอบกับจากการเจรจาทางการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีนมีทิศทางที่ดีขึ้น ซึ่งนักลงทุนคาดว่าจะทั้งสองประเทศจะสามารถบรรลุข้อตกลงทางการค้ากันได้ ในขณะที่ปัจจัยด้านการดำเนินนโยบายรัดกุมของธนาคารกลางขนาดใหญ่ เช่น FED, ECB ที่เป็นหนึ่งความเสี่ยงหลักในช่วงปีที่แล้ว ผ่อนคลายลงเช่นเดียวกัน ส่งผลให้นักลงทุนมีความหวังว่าสภาพคล่องจากทางธนาคารกลางจะยังคงสนับสนุนตลาดการเงินต่อไป

อย่างไรก็ตาม ตลาดเผชิญกับความผันผวนอีกครั้งในช่วงต้นเดือน พ.ค. โดยหลักมาจากความเสี่ยงด้านสงครามการค้าที่เร่งตัวขึ้นและมีแนวโน้มที่จะยืดเยื้อ ซึ่งนับว่าผิดจากคาดการณ์ของตลาดก่อนหน้าที่คาดว่าทั้งสองประเทศจะหาข้อสรุปทางด้านการค้าจากการเจรจาได้ ทำให้ตลาดการเงินทั่วโลกปรับตัวลงค่อนข้างแรงในช่วงเดือน พ.ค. รวมถึง SET Index ที่ปรับตัวลง -3.18% สำหรับปัจจัยภายในประเทศ แม้ว่าผลกระทบโดยตรงจากสงครามการค้าจะมีจำกัด แต่ผลกระทบทางอ้อมนั้นยังไม่แน่นอน โดยการภาคการส่งออกของไทยยังคงชะลอตัวต่อเนื่อง ในด้านแนวโน้มผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนไทยนั้นถูกกดดันจากราคาน้ำมันที่ลดลง ขณะที่ปัจจัยด้านการเมือง เริ่มกลับมาเป็นปัจัยบวกให้กับตลาดด้วยแนวโน้มการจัดตั้งรัฐบาลที่ชัดเจนขึ้น แต่ยังคงมีผลกระทบกับตลาดหุ้นไม่มากนักเมื่อเทียบกับปัจจัยต่างประเทศ

สรุปภาพรวมตลาดตราสารหนี้ในช่วงที่ผ่านมาของปี 2019

นักลงทุนเริ่มมีความคาดหวังว่า FED จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงเพื่อรับมือกับภาวะเศรฐกิจสหรัฐฯที่อาจชะลอตัวลงจากผลกระทบของสงครามการค้า ประกอบกับการเร่งตัวขึ้นของอุปสงค์ต่อสินทรัพย์ปลอดภัย ส่งให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐปรับตัวลดลงสู่ระดับต่ำสุดตั้งแต่ปี 2017 นำไปสู่การที่ส่วนต่างของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรไทยและสหรัฐช่วงอายุ 10 ปี กลับมาเป็นบวกอีกครั้ง (ประมาณ 0.3%) แต่ยังคงไม่เพียงพอที่จะดึงดูดนักลงทุนต่างชาติได้ โดยนับตั้งแตต้นปี นักลงทุนต่างชาติยังคงมีสถานะขายสุทธิในตลาดพันธบัตรไทยกว่า 19,000 ล้านบาท ในด้านของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยปรับลดลงเช่นกัน โดยตั้งแต่ต้นปี 2019 อัตราผลตอบแทนพันธบัตรของไทยตั้งแต่อายุคงเหลือ 3 ปีขึ้นไปปรับลดลง  โดยความเคลื่อนไหวของตลาดตราสารหนี้ในประเทศในช่วงแรกของปีส่วนมากมาจากนักลงทุนสถาบันภายในประเทศ ซึ่งคาดว่าจะเป็นการเข้าซื้อตราสารหนี้ก่อนที่กฏหมายเรื่องการจัดเก็บภาษีการลงทุนในตราสารหนี้สำหรับกองทุนจะมีผลบังคับใช้ในช่วงเดือน ส.ค. 2019 นี้

กลยุทธ์การลงทุน

ผลการดำเนินงานของกองทุนในช่วงเดือน ม.ค. – เม.ย.   2019 กลับมาปรับตัวขึ้นโดยได้รับผลบวกจากสภาวะตลาดสินทรัพย์เสี่ยงที่ปรับตัวดีขึ้น รวมถึงอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวที่ปรับลดลงต่อเนื่องส่งผลบอกว่าราคาตราสารหนี้ระยะยาวที่อยู่ในพอร์ตการลงทุน ขณะเดียวกัน อัตราผลตอบแทนตราสารหนี้ระยะสั้นที่ปรับขึ้นมาทำให้กองทุนสามารถนำเงินไปลงทุนใหม่ได้อัตราผลตอบแทนที่เพิ่มขึ้น

ในด้านของตราสารทุน ผู้จัดการกองทุนมีการลดระดับความเสี่ยงของพอร์ตการลงทุนด้วยการเพิ่มสัดส่วนการถือเงินสดจากขายหุ้นบางบริษัทที่คาดว่าถึงระดับเต็มมูลค่าแล้วออกมาบางส่วน เช่น บริษัทในกลุ่มวัสดุก่อสร้าง และธนาคารพาณิชย์บางแห่ง เป็นต้น ทั้งนี้ ผู้จัดการกองทุนยังคงเน้นการลงทุนในหุ้นของบริษัทคุณภาพที่มีรูปแบบธุรกิจที่เข้มแข็ง มีศักยภาพเติบโตต่อเนื่อง มีฐานะการเงิน แข็งแกร่ง มีกระแสเงินสดสูง โดยมุ่งเน้นไปยังหุ้นที่อิงกับนโยบายภาครัฐและการบริโภคภายในประเทศเพื่อลดทอนผลกระทบจากความผันผวนภายนอกประเทศ เช่น กลุ่มค้าปลีก กลุ่มโรงไฟฟ้า กลุ่มธนาคาร กลุ่มนิคมอุตสาหกรรม เป็นต้น

สำหรับตราสารหนี้ยังคงเป็นสินทรัพย์หลักที่มีคุณค่าสำหรับพอร์ตการลงทุน โดยผู้จัดการกองทุนยังคงมุ่งหวังผลตอบแทนระยะสั้นถึงกลางให้สูงกว่าดัชนีชี้วัดโดยเน้นการลงทุนทั้งในตราสารภาครัฐและเอกชนที่ให้ผลตอบแทนสอดคล้องและเหมาะสมกับความเสี่ยง ในส่วนของหุ้นกู้ภาคเอกชน ผู้จัดการกองทุนยังคงเลือกที่ผู้ออกมีฐานะทางการเงินมั่นคงที่ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือระดับ A- ขึ้นไป รวมถึงได้ Credit spread ที่น่าจูงใจเหมาะสมกับระดับความเสี่ยง โดยเน้นการลงทุนในหุ้นกู้ที่มีอายุไม่เกิน 5 ปี

มุมมองต่อการลงทุนของทีมผู้จัดการกองทุน

ผู้จัดการกองทุนยังคงมีมุมมองที่ค่อนข้างระมัดระวังต่อการลงทุนในปีนี้ ด้วยเป็นการลงทุนที่กำลังจะเข้าสู่ช่วง Late Cycle ซึ่งเป็นช่วงที่ราคาหุ้นสามารถขึ้นได้อย่างจำกัด หรือแม้กระทั่งดัชนีอาจเกิดการปรับฐานอีกครั้งในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ โดยปัจจัยที่จะเข้ามามีผลกระทบกับ Sentiment ของตลาดหุ้นในช่วงครึ่งหลังของปีจะมาจากต่างประเทศเป็นหลัก โดยเฉพาะในเรื่องสงครามการค้าที่ยังไม่ชัดเจนว่าจบลงในรูปแบบใดและยาวนานยืดเยื้อเพียงใด อนึ่ง แม้ว่ามูลค่าของตลาดหุ้นไทยในปัจจุบันที่ P/E ระดับประมาณ 15 เท่าจะต่ำว่าค่าเฉลี่ยในอดีต ทว่าเมื่อเทียบกับอัตราการเติบโตของผลกำไรบริษัทที่คาดว่าจะอ่อนแรงลง ทำให้ระดับ P/E ที่ปัจจุบันนี้อาจยังไม่ต่ำพอที่จะดึงดูดนักลงทุนระยะยาว อย่างไรก็ตาม ผู้จัดการกองทุนเชื่อว่าโอกาสในการลงทุนยังคงมีอยู่ แต่ต้องอาศัยความพิถีพิถันในการคัดเลือกบริษัทและการหาจังหวะเข้าลงทุน โดยเน้นการลงทุนในบริษัทที่มีความเกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจภายในประเทศ หรือได้รับผลกระทบจากปัจจัยต่างประเทศในระดับที่จำกัด

สำหรับตลาดตราสารหนี้ ผู้จัดการกองทุนมองว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรของไทยในปีนี้จะยังลดลง เป็นไปตามแนวโน้มของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐ รวมถึงแรงกดดันด้านเงินเฟ้อของไทยยังจำกัดทำให้มีความเป็นไปได้ที่ ธปท. จะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อไปอย่างน้อยจนถึงไตรมาส 3 ของปีนี้ โดยคาดว่าเส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทย (Yield Curve) จะเป็นไปแบบ Bullish Flattening (เส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวลดลงในสัดส่วนที่มากกว่าการลดลงของอัตราพันธบัตรระยะสั้น) แต่การลดลงของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรจะเป็นไปอย่างจำกัด ด้วยอัตราผลตอบแทนในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมาปรับลดมาค่อนข้างมากแล้ว

เกณฑ์มาตรฐาน B-FLEX: ผลตอบแทนเฉลี่ยระหว่าง 50% ของ SET TRI, 25% ของ ThaiBMA Government Bond Index อายุ 1-3 ปี และ 25% ของดอกเบี้ย เงินฝากประจํา 1 ปี วงเงิน 1 ล้านบาท เฉลี่ย ธ.กรุงเทพ  ธ.กสิกรไทย ธ.ไทยพาณิชย์

เกณฑ์มาตรฐาน B-ACTIVE: ผลตอบแทนเฉลี่ยระหว่าง 50% ของ SET TRI, 25% ของ ThaiBMA Government Bond Index และ 25% ของดอกเบี้ยเงินฝากประจํา 1 ปี วงเงิน 1 ล้านบาท เฉลี่ย ธ.กรุงเทพ ธ.กสิกรไทย ธ.ไทยพาณิชย์