Economic Review ครึ่งปีหลัง 2019 – เศรษฐกิจไทย

Economic Review ครึ่งปีหลัง 2019 – เศรษฐกิจไทย

BF Economic Research

  • ภาพรวมเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมา

เศรษฐกิจไทยในช่วงที่ผ่านมาได้รับแรงส่งจากการบริโภคภายในประเทศเป็นหลัก ซึ่งหนุนจากยอดขายรถยนต์ที่ทำ New High ทุกเดือน (ยอดขายรถยนต์ YTD อยู่ที่ 4.37 แสนคันทำลายสถิติยอดขายรถยนต์ในช่วงเดียวกันในรอบหลายปี) มีส่วนช่วยหนุน GDP ในไตรมาส 1/2019 (2.8% YoY vs prev 3.6% YoY) ค่อนข้างมาก ส่วนการบริโภครายสินค้าอื่นๆ นั้น ไม่มีรูปแบบการขยายตัวที่ชัดเจน ซ้ำยังเห็นการหดตัวของการใช้จ่ายสินค้าไม่คงทนในบางเดือน เป็นการสะท้อนถึงการแตกแยกของการใช้จ่ายของคนไทย กล่าวคือกลุ่มคนรายได้สูงมีอำนาจการซื้อมากขึ้นแต่คนรายได้ต่ำกลับลดการบริโภค ด้านการลงทุนภายในประเทศนั้น เราพบการลงทุนในภาคเอกชนที่ชะลอลงและการลงทุนภาครัฐหดตัว แสดงให้เห็นว่านักลงทุนรอความชัดเจนด้านการเมือง ส่วนการส่งออกของประเทศไทย ตั้งแต่ปลายปี 2018 ถึงเดือน พ.ค. ได้หดตัวต่อเนื่องในเกือบทุกรายสินค้าสำคัญอันเป็นผลจากฐานสูงปีก่อนและผลจากสงครามการค้าส่งผลให้การส่งออกไปจีนหดตัวในหลายรายการ เช่น ยางและผลิตภัณฑ์จากยาง, เคมีภัณฑ์, ยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์

ยอดขายรถยนต์ไทยทำสถิติสูงสุดทุกเดือน (คัน)

  • ทิศทางเศรษฐกิจปี 2019 ความเสี่ยงและแนวทางด้านนโยบาย

เศรษฐกิจไทยในภาพรวมมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าปีก่อนจากการส่งออกสินค้า (ซึ่งได้รับผลกระทบจากภาวะตึงเครียดทางการค้าและฐานสูง ขณะที่วัฏจักรสินค้าอิเล็กทรอนิกส์อยู่ในช่วงขาลง) และการลงทุน (จากการลงทุนภาครัฐที่มีแนวโน้มชะลอตัว) ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวในช่วงที่ผ่านมาอยู่ในลักษณะ Sideway-down ทั้งจากสภาพมลพิษในประเทศและจากภาพเศรษฐกิจที่ชะลอลงทั่วโลก

ด้านอุปสงค์ในประเทศ การบริโภคภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัวได้ผ่านการซื้อรถยนต์ แต่ยังได้รับแรงกดดันจากหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง และการจ้างงานโดยรวมที่เริ่มทรงตัวและมีสัญญาณการชะลอลงของการจ้างงานในภาคการก่อสร้างและภาคการผลิตเพื่อส่งออก การลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัวชะลอลง ในปี 2019 นี้จึงน่าจะเป็นปีที่เศรษฐกิจไทยขยายตัวเกาะค่าเฉลี่ยที่ 3.6% โดยมี Downside ที่ 3.3%

สำหรับประเด็นด้านเงินเฟ้อนั้น อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยทั้งปีมีแนวโน้มทรงตัวใกล้ 1.0% ซึ่งยืนอยู่ต่ำกว่ากรอบล่างของเป้าหมายเงินเฟ้อที่ 1.5%-4.0% อันเป็นผลเชิงโครงสร้าง อาทิ ผลกระทบจากการขยายตัวของธุรกิจ e-Commerce การแข่งขันด้านราคาที่สูงขึ้น รวมถึงพัฒนาการของเทคโนโลยีที่ทำให้ต้นทุนการผลิตลดลง ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นได้ช้ากว่าในอดีต ซึ่งประเด็นด้านเงินเฟ้อไม่น่าจะเป็นประเด็นที่สำคัญที่จะทำให้ ธปท. ปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย แต่จะเป็นประเด็นเรื่องเสถียรภาพทางการเงินมากกว่าที่ทำให้ ธปท. ได้ตัดสินใจปรับดอกเบี้ยนโยบายขึ้นดังในปี 2018 สำหรับปี 2019 นี้เรามองว่า “เสถียรภาพทางการเงิน” อาจจะมีความสำคัญน้อยกว่า ความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจโลกและปัจจัยในประเทศยังสูงในระยะข้างหน้า จึงทำให้เรามองว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยน่าคงไว้ที่ 1.75%

ด้านนโยบายการคลัง จากข้อมูลล่าสุดในเดือนมิ.ย. รัฐบาลชุดเดิมได้กำหนดวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 (FY2020) อยู่ที่ 3.2 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณก่อน 6.7% เป็นการขาดดุลทางการคลัง -4.5 แสนล้านบาท ดังแสดงตามแผนภูมิด้านล่าง โดยสำนักงบประมาณจะเสนอรายละเอียดงบประมาณดังกล่าวต่อ ครม.ชุดใหม่ต่อไป  ส่วนช่วงเวลาของการเริ่มใช้งบประมาณ สำหรับปีงบประมาณ 2563 (FY2020) จะเป็นเมื่อไรนั้นก็ขึ้นอยู่กับกรอบเวลาของการพิจารณาของสภาฯ ซึ่งหากพิจารณาไม่ทัน ก็จะใช้ “กฎหมายว่าด้วยงบประมาณรายจ่ายในปีงบประมาณนั้นไปพลางก่อน” เพื่อผ่านวงเงินงบประมาณที่เป็นค่าใช้จ่ายผูกพัน หรือเงินเดือนประจำไปก่อน มีผลให้งบลงทุนใหม่อาจจะยังไม่ได้รับการอนุมัติจนกว่า พ.ร.บ.งบประมาณปี 2563 (FY2020)  จะแล้วเสร็จ ซึ่งเบื้องต้นคาดว่า พ.ร.บ.งบประมาณฯน่าจะแล้วเสร็จและมีผลบังคับใช้ต้นปี 2563 (2021) เป็นต้นไป

งบประมาณคลัง (ล้านบาท)

สำหรับปัจจัยเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้าได้แก่ 1) ผลกระทบจากสงครามการค้า, 2) ความล่าช้าจากแผนการเบิกจ่ายการลงทุนภาครัฐในโครงสร้างพื้นฐาน อาจทำให้ภาคเอกชนปรับแผนชะลอการลงทุนตามด้วย, 3) มาตรการ Macro และ Micro Prudential ที่ธปท. จะทยอยออกมาเพื่อรักษาเสถียรภาพทางการเงินอาจจะกระทบกับกลุ่มธุรกิจสำคัญ เช่น ลีสซิ่ง อสังหาริมทรัพย์และภาคธนาคาร และ 4) ภาวะภัยแล้งที่ยาวนานกว่าทุกปีจะกระทบต่อปริมาณการผลิตพืชผลเกษตรและรายได้เกษตรกร

BBLAM’s View ปัจจัยที่ควรจับตามองในช่วงครึ่งหลังของปี ได้แก่ ความชัดเจนด้านนโยบายของรัฐบาล และทิศทางดอกเบี้ยนโยบายของธปท. ภายหลังจากที่ธนาคารกลางหลายแห่งในเอเชียได้ปรับดอกเบี้ยนโยบายลง