เปิดแนวคิด “คุณวรวรรณ ธาราภูมิ” กับการลงทุนของคนในแต่ละเจนเนอเรชั่น

เปิดแนวคิด “คุณวรวรรณ ธาราภูมิ” กับการลงทุนของคนในแต่ละเจนเนอเรชั่น

(คลิกที่ภาพเพื่อรับชม)

คุณวรวรรณ ธาราภูมิ ประธานกรรมการบริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม (บลจ.) บัวหลวง หรือ กองทุนบัวหลวง

  • เจนเนอเรชั่นมีผลอย่างไรต่อการตัดสินใจเลือกลงทุน?

จริงๆ เจนเนอเรชั่นไม่ได้มีผลเกี่ยวกับเรื่องการลงทุนเท่านั้น แต่เกี่ยวกับพฤติกรรมการใช้เงิน การออมเงินด้วย โดยแต่ละเจนเนอเรชั่นก็ต่างกัน อย่างคนในยุคของพี่ ยุค “เบบี้ (บูมเมอร์)” คือ เราเกิดมา อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ทำให้เราต้องมีความพยายามทำงานหนัก อดทนสูง มีความจงรักภักดีต่อแบรนด์ ต่อคน ต่อองค์กร แต่พอรุ่นหลังเรา คือรุ่นเจนเอ็กซ์ สิ่งแวดล้อมเริ่มเปลี่ยน มีความทันสมัยเข้ามา ก็ต้องการอิสระบ้างในตัวเขาแต่ยังทำงานหนักอยู่ แล้วพอมาเจนวาย ที่มีหนี้เยอะที่สุดในเวลานี้ เขาเกิดท่ามกลางอินเทอร์เน็ต มีเรื่องเทคโนโลยีเข้ามา พฤติกรรมการใช้โซเชียล เน็ตเวิร์ค ทำให้เขาไม่เหมือนกับคนรุ่นอื่นๆ

ดังนั้นถ้าพูดถึงการออมและการลงทุน เบบี้บูมเมอร์ ถ้าตามทฤษฎีส่วนใหญ่เบบี้บูมเมอร์ก็จะระวังความเสี่ยงเพราะกลัวเงินหาย แต่ไม่ใช่ทุกคน อย่างเช่นพี่ ถ้านับตามปีเกิดก็จะเป็นเจนเบบี้ แต่ถ้านับตามความประพฤติ ก็จะเป็นเจนแซด กล้าจะลงทุน กล้าจะเสี่ยง อายุ 64 ปีแล้วยังมีพอร์ตโฟลิโอที่เป็นกองทุนหุ้นครึ่งหนึ่ง ช่วงปี 2010 เคยถอย เพราะตั้งใจจะรีบาลานซ์จัดพอร์ตใหม่ แต่ตอนนี้คือครึ่งหนึ่ง เพราะคิดว่าเรามีการแบ่งเงินส่วนหนึ่งเอาไว้แล้วสำหรับ 7 ปีข้างหน้าที่ไม่ได้ลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง ซึ่งเราสามารถใช้เงินก้อนนี้ได้ ส่วนเงินก้อนที่ 7 ปีข้างหน้าไม่ได้ใช้ ก็สามารถลงทุนสินทรัพย์เสี่ยงได้

  • แผนการลงทุนก่อนพี่ตู่เข้ามาอยู่ในวงการการเงินเริ่มจากอะไร และการลงทุนอยู่ในหัวใจตั้งแต่แรกเริ่มเลยหรือไม่?

สมัยก่อนไม่เคยเลย ทำงานมา ได้เงินมาก็ใช้หมด ไม่ค่อยจะเก็บเท่าไหร่ แต่ก็ยังดีที่เริ่มมีการผ่อนซื้อสินทรัพย์ที่เป็นบ้านและที่ดิน โดยสมัยนั้นยังไม่มีตลาดหุ้นเลย  ส่วนสมัยที่เริ่มสนใจการลงทุนอย่างแท้จริงคือเมื่ออายุ 40 ปีแล้ว เพราะเริ่มมีลูก เริ่มคิดว่า ไม่ได้แล้ว ถ้าเราเสียชีวิตไปก่อนเขาจะอยู่อย่างไร จึงเริ่มคิดถึงตรงนี้ ซึ่งโชคดีที่ว่าเราได้เข้ามาทำงานในบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม (บลจ.) ครั้งแรก ทำให้เราเรียนรู้ แสวงหาความรู้เพิ่มเติม ทำให้เรารู้ว่าการลงทุนมีความสำคัญอย่างไร  พอไปๆ มาๆ วิธีการทำธุรกิจของเรา เราไม่ได้คิดว่า จะให้ บลจ.ของเราขึ้นมาเป็นอันดับหนึ่งด้านการขายได้เยอะๆ แต่ต้องทำให้ลูกค้าเข้าใจและลงทุนเป็น ทำให้ลูกค้ามีวินัยทางการเงิน สิ่งนี้สำคัญ

  • สิ่งนี้ทำให้เราบุกตลาด ลงพื้นที่ไปให้ความรู้ในต่างจังหวัดมากใช่หรือไม่?

สำหรับ บลจ.บัวหลวงมีการลงพื้นที่ให้ความรู้มาก แต่สำหรับตัวพี่เองไปน้อย โดยแต่ก่อนเริ่มใช้วิธีเขียนบทความเพราะแพร่หลายได้มากกว่า เพราะคนบางทีไม่ใช่ว่าอยู่เฉยๆ แล้วจะให้เราไปหา หรือเดี๋ยวนี้จัดสัมมนาแล้วไม่ใช่จะวิ่งมาดู เพราะมีดู on demand เมื่อไหร่ก็ได้ แต่เขียนนั้น คนยังอ่านมากใช้ได้อยู่ เวลานี้ก็เริ่มเขียนเกี่ยวกับเรื่องทำให้คนรู้จักจัดการเงินตัวเองเป็น

  • อะไรจะทำให้คนก้าวเข้ามาสู่การลงทุนในกองทุนรวมได้?

การให้ความรู้ผสมผสานกันหลายๆ องค์กรด้านการลงทุน รวมถึงเรื่องของอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำ ทำให้คนต้องแสวงหาอย่างอื่นลงทุน ถ้าเป็นสมัยก่อนปิด 56 ไฟแนนซ์ สมัยนั้นตั๋วสัญญาใช้เงิน (P/N) ใบสุดท้าย 50% แต่ปัจจุบัน 1-2% อย่างมากแล้วแต่ความเสี่ยง ซึ่งคนอยู่ไม่ไหว บวกกับเงินเฟ้อต่างๆ อาจจะออกมาเพียงนิดเดียวต่ำกว่า 1% หรือ 1% แต่ของไม่ได้แพงขึ้นแค่ 1%

อย่าไปมองว่าเงินเฟ้อต่ำนิดเดียว ให้เทียบว่า ค่าของเงินมีแต่จะลดลงไป เดิมเงิน 1,000 บาทอาจจะซื้อของได้เต็มตะกร้า แต่อีก 5 ปีข้างหน้าเงิน 1,000 บาทซื้อของครึ่งตะกร้าอาจไม่ได้เลย ดังนั้นจึงต้องลงทุนเพื่อจะทำให้ค่าของเงินยังคงอยู่แล้วเพิ่มมูลค่า ขณะที่เราเป็นคนทำงาน ไม่ว่าจะเป็นลูกจ้างหรือเจ้าของกิจการ ต้องให้เงินส่วนหนึ่งที่เราเก็บสะสมทำงานไปด้วย ไม่เช่นนั้นไม่ทัน

  • อยากให้ฝากถึงนักลงทุนรุ่นใหม่ในการวางแผนการเงิน?

สำหรับนักลงทุนรุ่นใหม่ ซึ่งเป็นรุ่นลูกรุ่นหลาน ไม่ว่าจะเป็น เจนวายปลายๆ หรือ เจนแซด ประเภทเพิ่งจบมหาวิทยาลัย ต้องอย่าลืมว่า เมื่อทำงานแล้วต้องรู้จักเก็บเงินทุกๆ เดือน อย่าใช้เพลิน อย่าชอปปิงเพลิน ต้องรู้จักเก็บออมและลงทุนให้เป็น และเงินส่วนหนึ่งตั้งแต่วันแรกที่เก็บออม ให้ออมไว้ใช้ในวัยเกษียณ เมื่อเลิกทำงานแล้วในวัยชรา อย่ามองว่าวัยของลูกๆ หลานๆ ยังน้อยอยู่ อย่าได้คิดว่าวันหนึ่งจะไม่แก่ หรืออีกนาน คุณเริ่มต้นวันนี้ คุณไปถึงเป้าหมายก่อนเพื่อนคุณที่ยังไม่ยอมเริ่มแล้ว