ยอดจองซื้อ SUPEREIF ของกองทุนบัวหลวง เกินกว่ามูลค่าที่จัดสรร ตอกย้ำความเป็นผู้นำด้านจัดการกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน

ยอดจองซื้อ SUPEREIF ของกองทุนบัวหลวง เกินกว่ามูลค่าที่จัดสรร ตอกย้ำความเป็นผู้นำด้านจัดการกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน

ยอดจองไอพีโอของกองทุน SUPEREIF เกินกว่ายอดที่จัดสรร เนื่องจากนักลงทุนให้การตอบรับอย่างล้นหลาม ตอกย้ำความเป็นผู้นำด้านจัดการกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานของกองทุนบัวหลวง 

คุณพีรพงศ์ จิระเสวีจินดา

 

นายพีรพงศ์ จิระเสวีจินดา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม บัวหลวง จำกัด (กองทุนบัวหลวง) เปิดเผยว่า จากการที่กองทุนบัวหลวง ได้เปิดเสนอขายหน่วยลงทุนครั้งแรก (IPO) ของกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโรงไฟฟ้า ซุปเปอร์ เอนเนอร์ยี หรือ SUPEREIF ระหว่างวันที่ 22-31 กรกฎาคมที่ผ่านมา ปรากฎว่า มีลูกค้าให้ความสนใจจองซื้อเข้ามาอย่างล้นหลาม ส่งผลให้มียอดจองซื้อทั้งผู้จองซื้อทั่วไป (นักลงทุนรายย่อย) และผู้จองซื้อพิเศษ (นักลงทุนสถาบัน) เข้ามามากเกินกว่าจำนวนหน่วยลงทุนที่มีจัดสรรไม่เกิน 412 ล้านหน่วย มูลค่า 4,120 ล้านบาท (ไม่รวมส่วนที่บริษัท ซุปเปอร์ เอนเนอร์ยี คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SUPER ลงทุนเองด้วย)

“กองทุนบัวหลวงต้องขอขอบพระคุณทุกท่านที่ให้ความสนใจจองซื้อหน่วยลงทุนของกองทุน SUPEREIF ด้วยกระแสตอบรับยอดจอง IPO ที่ล้นหลาม เป็นการสะท้อนถึงความเชื่อมั่นที่นักลงทุนมีต่อกองทุนบัวหลวงที่ได้สั่งสมประสบการณ์ และความเชี่ยวชาญการจัดการกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน อีกทั้งยังแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของตัวทรัพย์สินที่จะลงทุน” นายพีรพงศ์ กล่าว

ทั้งนี้ เมื่อนับรวมกองทุน SUPEREIF แล้ว กองทุนบัวหลวงจะมีกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานภายใต้การจัดการรวม 4 กองทุน มูลค่าตลาดรวม 134,427 ล้านบาท จากจำนวนกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานในประเทศไทยทั้งหมด 8 กองทุน มูลค่าตลาดรวม 389,925 ล้านบาท

นายพีรพงศ์ กล่าวว่า “หลังจากนี้ กองทุนบัวหลวงจะเร่งดำเนินการจัดสรรหน่วยลงทุนแบบ Small Lot First สำหรับผู้จองซื้อทั่วไป เหมือนการแจกไพ่จำนวนเท่ากันทีละรอบ ซึ่งจะทำให้ผู้ที่จองซื้อน้อยได้สิทธิการได้รับจัดสรรเต็มจำนวนก่อน โดยคาดว่า จะประกาศผลการจัดสรรได้อย่างเร็วที่สุด ภายในวันที่ 2 ส.ค. 2562”

ผู้จองซื้อสามารถตรวจสอบผลการจัดสรรได้ที่สำนักงานของบริษัทจัดการ สำนักงานใหญ่และแต่ละสาขาของผู้จัดการการจัดจำหน่าย ยกเว้นสาขาไมโคร (ในวันทำการเท่านั้น) หรือเว็บไซต์ตามที่กำหนด ได้แก่ www.settrade.com หรือ www.supereif.com จากนั้น กองทุนบัวหลวงจะดำเนินการนำหน่วยลงทุนเข้าจดทะเบียนเพื่อซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ ภายในปลายเดือนสิงหาคมนี้

สำหรับนักลงทุนท่านใดที่ได้รับการจัดสรรหน่วยลงทุนไม่ครบตามจำนวนที่จองซื้อไว้ หรือพลาดโอกาสการจองครั้งนี้ไป และกำลังมองหาการลงทุนที่มีโอกาสให้ผลตอบแทนสม่ำเสมออยู่ กองทุนบัวหลวงยังมีผลิตภัณฑ์กองทุนรวมอีกมากมาย ครอบคลุมความต้องการทุกรูปแบบ เป็นทางเลือกเพื่อช่วยให้นักลงทุนไปถึงเป้าหมายที่วางไว้ได้ ซึ่งนักลงทุนที่สนใจผลิตภัณฑ์กองทุนรวมของกองทุนบัวหลวงสามารถศึกษาข้อมูลกองทุนที่มีอยู่ รวมถึงกองทุนที่กำลังจะออกเร็วๆ นี้ได้จากเว็บไซต์กองทุนบัวหลวง www.bblam.co.th รวมทั้งแอปพลิเคชัน BF Mobile Application

 

ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับกองทุน SUPEREIF

กองทุน SUPEREIF จะลงทุนครั้งแรกในสิทธิรายได้สุทธิที่จะเกิดขึ้นจากการประกอบกิจการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์จำนวน 19 โครงการ กำลังการผลิตรวม 118 เมกะวัตต์ ของ บริษัท 17 อัญญวีร์ โฮลดิ้ง จำกัด (17AYH) และบริษัท เฮลท์ แพลนเน็ท เมเนจเม้นท์ (ประเทศไทย) จำกัด (HPM) โดย บมจ.ซุปเปอร์ เอนเนอร์ยี คอร์เปอเรชั่น หรือ SUPER ถือหุ้น 99.99% ในทั้ง 2 บริษัทนี้ สำหรับระยะเวลาโอนสิทธิรายได้สุทธิจะเริ่มตั้งแต่วันที่กองทุนเข้าลงทุนในทรัพย์สินสำเร็จ จนถึงวันที่ 26 ธ.ค. 2584 หรือประมาณ 22 ปี

สำหรับนโยบายจ่ายเงินปันผลจะจ่ายไม่น้อยกว่าปีละ 2 ครั้ง เว้นแต่ปีปฏิทินแรกและปีปฏิทินสุดท้ายของการลงทุนของกองทุนฯ กองทุนบัวหลวงจะพิจารณาจำนวนครั้งของการจ่ายตามความเหมาะสม โดยคาดว่าอัตราเงินจ่าย (เงินปันผล และเงินคืนทุน) ในรอบระยะเวลาการลงทุน 12 เดือนแรกของ SUPEREIF จะอยู่ที่ประมาณ 7.49% นอกจากนี้ ในกรณีเป็นบุคคลธรรมดาลงทุนในกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน เมื่อได้รับเงินปันผลจะได้รับยกเว้นภาษีหัก ณ ที่จ่าย 10% ใน 10 ปีภาษีแรกนับตั้งแต่วันที่กองทุนจัดตั้งสำเร็จอีกด้วย

ผู้ลงทุนต้องทำความเข้าใจ ลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยง ก่อนตัดสินใจลงทุน

ผลการดำเนินงานในอดีต มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต