กองทุนเปิดบัวหลวงอินคัม (B-INCOME)

กองทุนเปิดบัวหลวงอินคัม (B-INCOME)

วัตถุประสงค์การลงทุน

กระจายการลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ ในหลักทรัพย์ดังต่อไปนี้ ตราสารหนี้ และ/หรือ ตราสารกึ่งหนี้กึ่งทุน ตราสารทุน หน่วยลงทุนของกองทุนรวม เช่น กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน หน่วยทรัสตเพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REITs) กองทุนรวมอีทีเอฟ (ETF) เป็นต้น หน่วยลงทุนของกองทุนรวมภายใต้การจัดการของบริษัทจัดการ ในสัดส่วน 60% ของ NAV เงินฝากหรือตราสารเทียบเท่าเงินฝาก ทั้งนี้ กองทุนอาจลงทุนใน Derivatives และ/หรือ Structured Note ในสัดส่วน 0 – 100% ของ NAV และสัดส่วนการลงทุนในต่างประเทศไม่เกิน 79% ของ NAV ซึ่งเหมาะกับนักลงทุนที่คาดหวังให้เงินลงทุนระยะยาวได้ผลตอบแทนที่ดีจากหุ้นและตราสารหนี้ โดยรับความเสี่ยงได้ปานกลางถึงสูง

Bloomberg (A): BINCOME TB

Fund Size: 6,569 ล้านบาท (ข้อมูล ณ วันที่ 16 ส.ค. 2019)

Morningstar Category: Aggressive Allocation

สรุปภาพรวมตลาดตราสารทุนไทยในเดือน ก.ค. – ส.ค. 2019 

ตลาดหุ้นทั่วโลกรวมถึงตลาดหุ้นไทยในช่วงต้นเดือน ก.ค. เดินหน้าปรับตัวขึ้นต่อเนื่องจาก มิ.ย. โดยดัชนี S&P 500 สามารถปรับตัวขึ้นทะลุ 3,000 จุดได้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ขณะที่ SET Index ปรับตัวขึ้นสู่ระดับสูงสุดตั้งแต่ต้นปีที่ 1,740.91 จุด อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ช่วงปลายเดือน ก.ค. ตลาดหุ้นกลับมาปรับตัวลดลงอีกครั้ง ส่วนหนึ่งจากความผิดหวังจากสัญญาณการผ่อนคลายทางการเงินของ FED ที่อาจไม่เป็นไปตามที่ตลาดคาดหวังแม้ว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% แต่กลับระบุว่า การลดดอกเบี้ยในครั้งนี้เป็นเพียงการลดเพื่อจำกัดความเสี่ยงเท่านั้น ไม่ใช่จุดเริ่มต้นของการกลับมาผ่อนคลายนโยบายการเงิน ทำให้
นักลงทุนผิดหวัง ประกอบกับรวมถึง สถานการณ์เรื่องสงครามการค้ากลับมาเป็นประเด็นอีกครั้ง ซึ่งอาจยกระดับไปสู่สงครามด้านเทคโนโลยี และสงครามค่าเงินได้

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ แม้ว่าผลกระทบโดยตรงจากสงครามการค้าจะมีจำกัด แต่ผลกระทบทางอ้อมนั้นยังไม่แน่นอน โดยการส่งออกของไทยยังคงชะลอตัวต่อเนื่อง ในด้านแนวโน้มผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนไทยนั้นถูกกดดันจากราคาน้ำมันที่ลดลง ขณะที่ปัจจัยด้านการเมือง เริ่มกลับมาเป็นปัจจัยบวกให้กับตลาดด้วยการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจวงเงิน 3.16 แสนล้านบาท แต่ยังคงมีผลกระทบกับตลาดหุ้นไม่มากนักเมื่อเทียบกับปัจจัยต่างประเทศ

ผลตอบแทนหุ้นไทยแยกตามรายอุตสาหกรรม

สรุปภาพรวมตลาดตราสารหนี้

กนง. สร้างความประหลาดใจให้ตลาดด้วยการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงเหลือ 1.5% เหตุผลหนึ่งเพื่อเป็นการรักษาส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยไม่ให้เปลี่ยนแปลงจากเดิมมากนัก ป้องกันไม่ให้ไทยตกเป็นเป้าหมายของกระแสเงินทุน อย่างไรก็ตาม หลังการปรับลดอัตราดอกเบี้ย ยังคงเห็นเม็ดเงินของนักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในตลาดพันธบัตรไทยอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในตราสารหนี้ระยะยาว ด้วยมองว่า ตลาดตราสารหนี้ไทยเป็นแหล่งพักเงินลงทุนที่ปลอดภัย ในกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ และการที่ Fitch Rating และ Moody’s ปรับแนวโน้มความน่าเชื่อถือของไทยเป็นเชิงบวก (Positive) ช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน

นอกจากนั้น การแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่องของค่าเงินบาทยังเป็นหนึ่งในแรงจูงใจสำหรับนักลงทุนต่างชาติ ผนวกกับการเข้าซื้อของนักลงทุนสถาบันในประเทศ ซึ่งคาดว่าจะเป็นการเข้าซื้อตราสารหนี้ก่อนที่กฏหมายเรื่องการจัดเก็บภาษีการลงทุนในตราสารหนี้สำหรับกองทุนจะมีผลบังคับใช้ 20 ส.ค. 2019 นี้ ยิ่งเป็นแรงกดดันให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรลดต่ำลง ส่งผลให้ตั้งแต่ช่วงต้นปี อัตราผลตอบแทนพันธบัตรปรับลดลงในทุกช่วงอายุ โดยเฉพาะตราสารหนี้ระยะยาวอายุ 10 ปี เป็นต้นไป

ความเคลื่อนไหวค่าเงินบาท

ค่าเงินบาทเดินหน้าแข็งค่าอย่างต่อเนื่องและแข็งค่าที่สุดในภูมิภาคเอเชียนับตั้งแต่ช่วงต้นปี โดยแข็งค่าไปแล้วมากกว่า 5.7% จากการแสวงหาผลตอบแทนของนักลงทุน (Search for yield) ประกอบกับสถานะสินทรัพย์ปลอดภัยในภูมิภาค (Regional Safe Haven) ของค่าเงินบาท ด้วยเสถียรภาพด้านต่างประเทศที่แข็งแกร่ง ทำให้นักลงทุนมีความเชื่อมั่นต่อการถือครองสินทรัพย์ไทย แม้ว่า ธปท. จะออกมาตรการเพื่อช่วยบรรเทาการแข็งค่าของค่าเงินบาท เช่น การปรับลดปริมาณการออกพันธบัตรระยะสั้น การปรับลดวงเงินถือครองสกุลเงินบาทที่นักลงทุนต่างชาติ (Non-Resident) เปิดไว้กับสถาบันการเงินในประเทศ หรือแม้กระทั่งปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง
แต่ค่าเงินบาทก็ยังไม่สามารถอ่อนค่าขึ้นผ่านแนวต้านที่ 31 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐไปได้

กลยุทธ์การลงทุน

ผลการดำเนินงานของกองทุนตั้งแต่ต้นปี 2019 ปรับตัวขึ้นได้เป็นอย่างดีและสามารถสร้างผลตอบแทนชนะเกณฑ์มาตรฐาน โดยได้รับแรงหนุนจากทุกประเภทสินทรัพย์ โดยสินทรัพย์ประเภทกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ (มีสัดส่วนการลงทุนประมาณ 24.3%) ให้ผลตอบแทนสูงสุดแก่กองทุน ด้วยดัชนี SETPREIT และดัชนี FTSE ST REIT ที่ปรับขึ้นมาถึงเกือบ 20% ตั้งแต่ช่วงต้นปี ซึ่งนับว่าเป็นผลการดำเนินที่ดีในช่วงที่ผ่านมาจาก Asset Allocation อย่างแท้จริง ซึ่งแม้ว่าผลการดำเนินงานจะปรับขึ้นมาได้ดี แต่กองทุนยังคงสามารถรักษาระดับความผันผวนให้ไม่สูงจนเกินไป ด้วยลักษณะของตราสารและบริษัทที่ลงทุน

ในด้านของตราสารทุน ผู้จัดการกองทุนเน้นลงทุนในหุ้นที่ 1) มีประวัติการจ่ายเงินปันผลอย่างสม่ำเสมอ 2) มีอัตราส่วนเงินปันผลตอบแทน (Dividend yield) ในระดับสูง 3) มองเห็นแนวโน้มการเจริญเติบโตของธุรกิจและเงินปันผล มีรูปแบบธุรกิจที่เข้มแข็ง มีศักยภาพเติบโตต่อเนื่อง มีฐานะการเงินแข็งแกร่ง มีกระแสเงินสดสูง โดยมุ่งเน้นไปยังหุ้นที่อิงกับการบริโภคภายในประเทศเพื่อลดทอนผลกระทบจากความผันผวนภายนอกประเทศ

ทั้งนี้ ในช่วงที่ผ่านมาที่ตลาดหุ้นปรับตัวเพิ่มขึ้น ผู้จัดการกองทุนมีการลดระดับความเสี่ยงของพอร์ต โดยขายหุ้นบางบริษัทที่คาดว่าถึงระดับเต็มมูลค่าแล้ว รวมถึงบางบริษัทที่ Dividend Yield ลดลงออกมาบางส่วน และถือครองเงินสดมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ผู้จัดการกองทุนใช้จังหวะซื้อกลับหรือเพิ่มสัดส่วนบางบริษัทที่ราคาหุ้นปรับตัวลงจนทำให้ Dividend Yield กลับมาอยู่ในระดับที่น่าสนใจ เช่น กลุ่มธนาคาร กลุ่มพาณิชย์ และกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น ขณะที่ลงทุนใน PF/REITs/IFF เกือบเต็มอัตราส่วน (25%) เนื่องจากมี Dividend Yield ในระดับสูง และได้รับประโยชน์จากภาวะอัตราดอกเบี้ยขาลง ส่งผลให้ Dividend Yield ของตราสารทุนในพอร์ตอยู่ที่ระดับประมาณ 5%

สำหรับตราสารหนี้ ยังคงเป็นสินทรัพย์หลักที่มีคุณค่าสำหรับพอร์ตการลงทุน ด้วยสัดส่วนการลงทุนประมาณ 46% ของพอร์ตการลงทุน (ไม่รวมเงินฝาก) โดยผู้จัดการกองทุนยังคงมุ่งหวังผลตอบแทนระยะสั้นถึงกลางให้สูงกว่าดัชนีชี้วัด โดยเน้นการลงทุนทั้งในตราสารภาครัฐและเอกชนที่ให้ผลตอบแทนสอดคล้องและเหมาะสมกับความเสี่ยง ด้วยอายุเฉลี่ยของตราสารที่ประมาณ 1 ปี ทั้งนี้ในช่วงที่ผ่านมาผู้จัดการกองทุนปรับลดความเสี่ยงในพอร์ตตราสารหนี้ด้วยการขายทำกำไรตราสารหนี้ต่างประเทศออกไปบางส่วนและมาเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลแทน

สำหรับในส่วนของหุ้นกู้ภาคเอกชน ผู้จัดการกองทุนยังคงเลือกที่ผู้ออกมีฐานะทางการเงินมั่นคงที่ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือระดับ A- ขึ้นไป รวมถึงได้ Credit spread ที่น่าจูงใจ เหมาะสมกับระดับความเสี่ยง โดยเน้นการลงทุนในหุ้นกู้ที่มีอายุไม่เกิน 5 ปี

นอกจากนั้น ผู้จัดการกองทุนยังได้แบ่งสัดส่วนการลงทุนไปยังตราสารหนี้ต่างประเทศประมาณ 8% ทั้งในส่วนของตราสารหนี้ทั่วโลกทั้งระดับ Investment Grade และ High Yield Bond เพื่อเพิ่มโอกาสในการสร้างผลตอบแทนแก่กองทุน โดยให้น้ำหนักกับตราสารหนี้ในเอเชีย เนื่องจากมีผลตอบแทนที่น่าสนใจ ขณะที่ความผันผวนอยู่ในระดับไม่สูงมาก โดยที่ผ่านมาตลาดตราสารหนี้ในเอเชียยังคงแข็งแกร่ง แม้ว่าจะเกิดสถานการณ์ความไม่แน่นอนทางด้านสงครามการค้า โดยได้รับปัจจัยบวกจากความคาดหวังต่อการดำเนินนโยบายแบบผ่อนคลายของธนาคารกลางในภูมิภาค การผ่อนคลายนโยบายทางด้านสินเชื่อและนโยบายการคลังของจีน รวมถึงค่าเงินในเอเชียที่ยังมีแนวโน้มแข็งค่าเมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์

มุมมองต่อการลงทุนของทีมผู้จัดการกองทุน

ผู้จัดการกองทุนยังคงมีมุมมองที่ค่อนข้างระมัดระวังต่อการลงทุน ด้วยเชื่อว่าเป็นการลงทุนในช่วง Late Cycle ซึ่งเป็นช่วงที่ราคาหุ้นสามารถขึ้นได้อย่างจำกัด หรือแม้กระทั่งดัชนีอาจเกิดการปรับฐานอีกครั้งในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ แม้ว่าตลาดจะมีปัจจัยหนุนจากสภาพคล่องที่อยู่ในระดับสูง แต่ทว่าประเด็นเรื่องสงครามการค้า เทคโนโลยี และค่าเงิน ระหว่างสหรัฐฯ กับจีนจะยังคงเป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อเนื่องกับเศรษฐกิจและตลาดการเงินในอนาคต โดยเชื่อว่าจะยังไม่คลี่คลายในระยะสั้น

อย่างไรก็ตาม ผู้จัดการกองทุนเชื่อว่าโอกาสในการลงทุนยังคงมีอยู่ แต่ต้องอาศัยความพิถีพิถันในการคัดเลือกบริษัทและการหาจังหวะเข้าลงทุน โดยเน้นการลงทุนในบริษัทที่มีความเกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจภายในประเทศ หรือได้รับผลกระทบจากปัจจัยต่างประเทศในระดับที่จำกัด รวมถึงยังคงมองว่าการลงทุนในกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์หรือกองทรัสต์มีความน่าสนใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่ตลาดผันผวน แม้ว่าระดับราคาจะปรับขึ้นมาพอสมควร แต่ความน่าสนใจในการลงทุนยังคงมีอยู่จาก Yield Spread เหนืออัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลประมาณ 3% และความผันผวนที่ต่ำกว่าหุ้น โดยจะเลือกลงทุนในกองทุนที่มีรายรับสม่ำเสมอ เช่น สำนักงาน
โครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับนิคมอุตสาหกรรมที่นอกจากรายรับที่สม่ำเสมอแล้วยังอาจได้รับประโยชน์จากการย้ายฐานการผลิตมาจากประเทศจีน เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาด้านสงครามการค้า

สำหรับตลาดตราสารหนี้ ผู้จัดการกองทุนมองว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรของไทยในปีนี้จะยังลดลง เป็นไปตามแนวโน้มของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐ ทิศทางของนโยบายการเงินและอัตราดอกเบี้ยของประเทศอื่นในภูมิภาค ซึ่งหากเศรษฐกิจมีทิศทางชะลอตัวลงหรือธนาคารกลางอื่นๆ ออกมาปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง ก็อาจส่งผลให้ ธปท. ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงได้อีก ส่งแรงกดดันต่ออัตราผลอตอบแทนของพันธบัตรในตลาด อย่างไรก็ตาม คาดว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวน่าจะปรับลดลงได้อีกไม่มาก ด้วยความที่ตลาดซึมซับปัจจัยการลดอัตราดอกเบี้ยของ FED มามากแล้ว ทำให้มูลค่าของพันธบัตรระยะยาวยังไม่อยู่ในระดับที่น่าสนใจ
ดังนั้น ผู้จัดการกองทุนจึงจะยังไม่รีบเร่งเพิ่มอายุตราสาร โดยยังคง Duration ของพอร์ตไว้ที่ช่วง 1 – 3 ปี

ผลการดำเนินงานของกองทุน (ข้อมูล ณ วันที่ 31 ก.ค. 2019)

ประกาศรับซื้อหน่วยลงทุนอัตโนมัติของกองทุนเปิดบัวหลวงอินคัม