การหาค่าใช้จ่ายเพื่อการดำรงชีพหลังเกษียณ

ค่าใช้จ่ายในการดำรงชีพหลังเกษียณคือตัวเลขสำคัญที่ควรหาออกมาให้ได้สำหรับการวางแผนการเงินเพื่อวัยเกษียณ เนื่องจากเป็นตัวเลขที่บ่งบอกว่า ในที่สุดแล้วการมีชีวิตอยู่หลังเกษียณของเราจะเป็นอย่างไร มีค่าใช้จ่ายเท่าไร รวมถึงเป็นตัวเลขเป้าหมายใหญ่ว่าเราจะต้องเก็บเงินให้ได้อย่างน้อยเท่าไรในวันที่จะเกษียณอายุเพื่อใช้ในการดำรงชีพ
 
เริ่มต้นง่ายๆ สมมุตินาย ก มีเป้าหมายเกษียณที่อายุ 60 ปี และมีอายุขัยเฉลี่ยของญาติผู้ใหญ่ในครอบครัวที่เสียชีวิตในวัยชรา คือ 80ปี ดังนั้นเป้าหมายระยะเวลาการดำรงชีวิตหลังเกษียณของนาย ก เมื่อพิจารณาแบบเผื่อพัฒนาการทางการแพทย์ที่ทำให้คนอายุยืนยาวขึ้นอีก 5 ปี  ก็คือนาย ก จะวางแผนโดยจะต้องเตรียมเงินไว้ใช้หลังเกษียณอีก 25 ปี ดังนั้น ยอดเงินเพื่อการดำรงชีพหลังเกษียณของนาย ก ที่ควรต้องมีไว้ ณ วันเกษียณก็คือ ค่าใช้จ่ายต่อเดือน x 12 เดือน x 25 ปี ไม่นับค่าใช้จ่ายอื่นที่ต้องเตรียม เช่น ค่ารักษาพยาบาล ค่าใช้จ่ายสำหรับผู้อยู่ใต้อุปการะ หรือภาระหนี้สินที่ยังคงเหลืออยู่ เป็นต้น
 
ขั้นตอนต่อไปคือ แล้วจะหาค่าใช้จ่ายต่อเดือนได้อย่างไร
 
ค่าใช้จ่ายต่อเดือนหลังเกษียณเป็นการคำนวณสำหรับอนาคต จึงไม่มีหนทางที่จะได้ตัวเลขที่แน่นอน แต่สามารถประมาณการได้ และควรอยู่บนพื้นฐานของเหตุและผล
การหาตัวเลขอนาคตนี้ทำได้หลายวิธี แต่วิธีที่ดูน่าจะเหมาะสมที่สุดก็คือ “การประมาณจากค่าใช้จ่ายปัจจุบันในวันเกษียณ” เพราะสะท้อนถึงค่าใช้จ่ายตามวิถีชีวิตจริงที่เกิดขึ้นของแต่ละคน 
 
โดยเชื่อว่าในชีวิตก่อนเกษียณและหลังเกษียณ แต่ละคนก็ยังคงมีวิถีชีวิตใกล้เคียงของเดิม ซึ่งอาจจะตัดหรือลดค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการทำงานออกไป เช่นค่าเดินทาง ค่าอาหารในย่านธุรกิจ ค่าใช้จ่ายทางสังคมบางอย่าง แล้วคิดคำนวณด้วยเงินเฟ้อ จากอายุปัจจุบัน ไปจนถึงอายุเกษียณ ถ้านาย ก มีอายุปัจจุบัน 40 ปี มีค่าใช้จ่ายรายเดือนอยู่ที่ 20,000 บาท มีค่าใช้จ่ายที่คาดว่าไม่ได้ใช้หลังเกษียณประมาณ 10% เหลือค่าใช้จ่ายต่อเดือนหากเกษียณในวันนี้อยู่ที่ 18,000 บาทหรือปีละ 216,000 บาท 
 
สมมุติอัตราเงินเฟ้อ 3% คิดคร่าวๆ ณ วันที่นาย ก มีอายุ 60ปี ในอีก 20 ปีข้างหน้า นาย ก จะต้องมีเงินสำหรับใช้จ่ายเดือนละประมาณ 32,500 บาท หรือปีละ 390,000 บาท เพื่อให้มีอำนาจซื้อเท่ากับการใช้จ่ายปัจจุบันที่เดือนละ 18,000 บาท  หรือควรมีเงินสำหรับการดำรงชีพสำหรับ 25 ปีหลังเกษียณเท่ากับ 390,000 x 25 ปี เท่ากับ 9.75 ล้านบาท
 
วิธีนี้เหมาะสำหรับผู้ที่มีข้อมูลรายละเอียดการใช้จ่ายในปัจจุบัน และมีรูปแบบการใช้จ่ายที่ไม่หวือหวามากนักในแต่ละเดือน เพราะหากเป็นผู้ที่มีค่าใช้จ่ายไม่แน่นอน หรือไม่เคยบันทึกค่าใช้จ่ายของตนเองไว้ การประมาณการค่าใช้จ่ายในวันเกษียณย่อมมีโอกาสผิดพลาดสูง
 
นอกจากนี้ค่าใช้จ่ายเพื่อการดำรงชีพก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งของค่าใช้จ่ายหลังเกษียณเท่านั้นนอกจากยอดเงินก้อนนี้แล้ว ต้องพิจารณาภาระหรือค่าใช้จ่ายอื่นที่อาจเกิดขึ้นหลังเกษียณไว้ด้วยเช่น เป็นข้าราชการมาทั้งชีวิต อยู่บ้านพักของราชการ โดยไม่มีบ้านของตนเอง ในวันที่เกษียณ ก็ต้องมีค่าใช้จ่ายประเภทค่าเช่าบ้านเพิ่มเติม เป็นต้น