กองทุนรวมคนไทยใจดี (BKIND)

กองทุนรวมคนไทยใจดี (BKIND)

BBLAM’s 2019 INVESTMENT THEMES

รุ่งเรืองด้วยโครงสร้างพื้นฐาน บนสายพานของโลจิสติกส์

ภาพรวมตลาดหุ้น

ตลาดการเงินโลกผันผวนในเดือน ส.ค. โดยตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวลงในช่วงต้นเดือนจากความผิดหวังที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ ไม่ได้ส่งสัญญาณการลดดอกเบี้ยแบบต่อเนื่อง และความกังวลต่อการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจโลก ที่สะท้อนผ่านตัวเลขเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ ที่ออกมาอ่อนแอลง เช่น ภาคการผลิตของจีนโตต่ำสุดในรอบ 17 ปี จีดีพีไตรมาสสองของเยอรมนี หดตัวลง 0.1% ซึ่งมีความเสี่ยงที่จะเกิด Technical Recession เป็นต้น ความกังวลดังกล่าวสะท้อนผ่านภาวะ Inverted Yield Curve ของตลาดพันธบัตรสหรัฐฯ และการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำ

ด้านสงครามการค้านั้น ยกระดับความรุนแรงขึ้นจากการที่ทรัมป์เดินหน้าขึ้นภาษีบนสินค้านำเข้าจากจีน แม้ว่าจะมีการเลื่อนการขึ้นภาษีบางส่วนจากเดือน ก.ย. ไปเป็นเดือน ธ.ค. และจีนตอบโต้ด้วยการขึ้นภาษีนำเข้ากับสินค้าสหรัฐฯ กว่า 5,000 รายการ เช่นเดียวกัน สงครามการค้าที่ดำเนินไปนั้น ในด้านหนึ่งทำให้เศรษฐกิจสหรัฐเริ่มที่จะส่งสัญญาณชะลอลงบ้าง เช่น ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิต อยู่ที่ 50.3 ต่ำสุดในรอบ 10 ปี เป็นต้น และอาจเริ่มส่งผลต่อคะแนนเสียงมากขึ้นต่อการเลือกตั้งประธานาธิบดีของทรัมป์ในปีหน้า ทำให้ทรัมป์มีท่าทีที่พร้อมเจรจามากขึ้น

สำหรับตลาดหุ้นไทย ปรับตัวลดลงก่อนที่จะฟื้นตัวในครึ่งเดือนหลัง ปิดติดลบ 3.3% โดยเป็นแรงซื้อสุทธิจากนักลงทุนสถาบัน 3.6 หมื่นล้านบาท ขณะที่นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 5.4 หมื่นล้านบาทในเดือนเดียว หลังจากซื้อติดต่อกัน 4 เดือน ทำให้รวมตั้งแต่ต้นปีเหลือยอดซื้อสุทธิ 6.4 พันล้านบาท โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่เผชิญเงินทุนต่างชาติไหลออกในเดือนนี้ ได้แก่ อสังหาริมทรัพย์ สื่อสาร วัสดุก่อสร้าง ธนาคาร และปิโตรเคมี ตามลำดับ ส่วนกลุ่มที่เงินทุนไหลเข้า ได้แก่ อาหาร ขนส่ง และท่องเที่ยว ทั้งนี้ ตลาดหุ้นไทยเผชิญกับการปรับน้ำหนักหุ้นในดัชนี MSCI Emerging Market (Rebalance) โดยเพิ่มดัชนี China A-Share และซาอุดิอาระเบีย คิดเป็นสัดส่วน 1.38% และ 0.7% ในดัชนี MSCI ตามลำดับ ทำให้สัดส่วนตลาดหุ้นไทยลดลงเล็กน้อย

ด้านผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนไตรมาสสองที่ประกาศออกมา หดตัวลง 16% yoy สาเหตุจากรายได้และกำไรที่ลดลง รวมถึงการรับรู้ค่าใช้จ่ายผลประโยชน์พนักงานซึ่งถือเป็นค่าใช้จ่ายครั้งเดียว ขณะที่จีดีพีไตรมาสสองของไทยโตเพียง 2.3% ทำให้สภาพัฒน์ปรับประมาณการจีดีพีปีนี้ลงเป็น 2.7-3.2% จากเดิมที่ 3.3-3.8%

ตลาดหุ้นไทยในช่วงที่เหลือของปีนี้ยังคงต้องติดตามพัฒนาการของเหตุการณ์ต่างๆ รวมถึงนโยบายของธนาคารกลางหลักๆ และของประเทศไทยที่ผ่อนคลายมากขึ้นเพื่อรองรับสภาพกับเศรษฐกิจ โดยภาพรวมยังคงมีความผันผวนอยู่ เราเชื่อว่าจะเป็นจังหวะที่เป็นโอกาสสำหรับการลงทุนในหุ้นที่ดีในระดับราคาเหมาะสม หรือ “Stay Invested”

ปัจจัยทั้งบวก/ลบต่อกองทุน

(+)  คณะรัฐมนตรีอนุมัติ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ 3.16 แสนล้านบาท เพื่อสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ที่ 3% โดยมาตรการประกอบด้วย 3 กลุ่ม

  1. เงินช่วยเหลือค่าครองชีพผู้มีรายได้น้อยและผู้สูงอายุ ผ่านบัตรสวัสดิการรัฐเพิ่มอีก 2 เดือน รวมถึงการพักชำระหนี้ของกองทุนหมู่บ้าน
  2. มาตรการช่วยเหลือเกษตรกร โดยช่วยลดดอกเบี้ยรวมถึงการขยายเวลาชำระหนี้ให้เกษตกรรายย่อย มาตราการปล่อยสินเชื่อและโครงการช่วยเหลือเงินต้นทุนเกษตรกรที่ปลูกข้าวนาปี
  3. มาตรการกระตุ้นการอุปโภคบริโภคภายในประเทศ โดยสนับสนุนผ่านเงินช่วยเหลือการท่องเที่ยวภายในประเทศ การลดภาษีใช้จ่ายซื้อเครื่องจักร สนับสนุน SMEs ผ่านการให้สินเชื่อกองทุนและสถาบันการเงินของรัฐ รวมถึงการปล่อยสินเชื่อบ้าน

(+)  ครม.เห็นชอบการขยายเวลายกเว้นค่าธรรมเนียมการขอตรวจลงตราเพื่อเข้าประเทศ (visa on arrivals) 2,000 บาทต่อราย ไปจนถึง เม.ย. 2563 (จากเดิมที่สิ้นสุด ต.ค. 2562) โดยมีจีนและอินเดียรวมอยู่ในกลุ่มนี้ด้วย เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวไทย ถึงแม้ว่า การอ่อนค่าของเงินหยวนในช่วงที่ผ่านมาเป็นปัจจัยกดดันให้นักท่องเที่ยวจีนมีแนวโน้มลดลง แต่มีตัวเลขนักท่องเที่ยวชาวยุโรปและอินเดียเพิ่มขึ้น

(+/-) ปัจจัยจากภายนอกประเทศ เช่น สถานการณ์การค้าระหว่างจีนกับสหรัฐ ความไม่สงบทางการเมืองของฮ่องกง และ การเมืองในกลุ่มประเทศยุโรป เป็นต้น

กลยุทธ์การลงทุนของกองทุน

กองทุนรวมคนไทยใจดี เน้นลงทุนในบริษัทที่มีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อสังคมใน 4 ด้าน คือ ด้านสิ่งแวดล้อม (Environment)  สังคม (Social) ธรรมาภิบาล (Good Governance) และ การต่อต้านคอร์รัปชั่น (Anti-Corruption)  ข้อมูล ณ 31 ก.ค. 2562  กองทุนรวมคนไทยใจดีได้ผลตอบแทนย้อนหลัง  3 เดือนที่ 2.79% ในขณะที่ผลตอบแทนย้อนหลัง 6 เดือนอยู่ที่ 6.08% แต่ผลตอบแทนตั้งแต่ต้นปี 12.18%  โดยผู้จัดการกองทุนยังคงเน้นการลงทุนในหุ้นที่พึ่งพิงการบริโภคในประเทศเป็นหลัก (Domestic Play) และมีมุมมองบวกต่อหมวดธุรกิจดังต่อไปนี้

กลุ่มสาธารณูปโภค : เนื่องจากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานนับเป็นนโยบายหลักที่รัฐบาลเร่งผลักดันอยู่ในขณะนี้ เพื่อรองรับการพัฒนาเศรษฐกิจและการลงทุนจากนักลงทุนต่างชาติ ซึ่งหนึ่งในปัจจัยสำคัญก็คือ การมีระบบสาธารณูปโภคที่ดี โดยเฉพาะธุรกิจไฟฟ้า ส่งผลให้ภาครัฐอยู่ระหว่างการจัดทำแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าฉบับใหม่ ซึ่งคาดว่าจะมีการเปิดให้ลงทุนเพื่อสร้างโรงไฟฟ้าขึ้นมาอีกจำนวนมากในอนาคต รวมถึงการนำเข้า LNG และการส่งเสริมให้เกิดการใช้พลังงานหมุนเวียนมากขึ้น เพื่อรองรับความต้องการและเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น EV Battery ระบบ Smart grid ส่งผลให้ธุรกิจโรงไฟฟ้ายังมีแนวโน้มเติบโตได้อย่างต่อเนื่องเพื่อรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้น

กลุ่มอาหาร :  ผู้จัดการกองทุนมองว่ากลุ่มเนื้อสัตว์ได้ส่งสัญญาณผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว จากแรงกดดันของภาวะอุปทานส่วนเกิน ซึ่งปัจจัยต่างๆ เริ่มคลี่คลายไปในทางที่ดี ทั้งอุปทานที่ปรับตัวลดลงสู่ระดับที่เหมาะสม และการส่งออกที่มีแนวโน้มดีขึ้น ทำให้ภาวะอุปสงค์และอุปทานเริ่มกลับเข้าสู่ดุลยภาพ ส่งผลให้ราคาเนื้อสัตว์มีแนวโน้มที่จะปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อไปในปี 2562 ในส่วนของราคาทูน่าก็มีความผันผวนน้อยลง ทำให้การบริหารต้นทุนทำได้ดีขึ้น

กลุ่มพาณิชย์ : กลุ่มนี้ยังคงเติบโตดีจาก การเปิดสาขาใหม่ กำลังซื้อที่ฟื้นตัวต่อเนื่องดีขึ้น รวมถึง มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่อผู้มีรายได้น้อยของรัฐ นอกจากนี้ในระยะกลางถึงยาว การขยายตัวของชุมชนเมืองจะยังคงเป็นปัจจัยหนุนการเติบโตของกลุ่มธุรกิจพาณิชย์

ผลการดำเนินงานของกองทุน ณ 31 กรกฏาคม 2562

 

ตัวอย่างโครงการที่กองทุนให้การสนับสนุนและรายละเอียดของโครงการ

“โครงการสายไฟใจดี” เป็นโครงการเพื่อให้การตัดแต่งกิ่งต้นไม้ในแนวสายไฟอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ ซึ่งจะทำให้ต้นไม้แข็งแรง และสวยงาม เติบโตต่อไปได้ด้วยดี ไม่เป็นอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินในบริเวณรอบ และในไตรมาสที่ผ่านมา กลุ่ม Big Trees ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบโครงการได้มีกิจกรรมการอบรม  “กิจกรรมการอบรมเชิงปฎิบัติการตัดแต่งต้นไม้ (รุกขกรรมขั้นต้น) รุ่นที่ 8”  ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต  ชมภาพการอบรม และ คลิปวีดีโอ ได้จากลิงค์ด้านล่าง

https://www.facebook.com/1638346583117249/posts/2402278760057357?s=100005787221425&sfns=mo

และ

https://m.youtube.com/watch?v=zvOgawCpWVQ&feature=youtu.be#fauxfullscreen