ลดหย่อนภาษีด้วยกองทุน RMF ตอนที่ 1

ลดหย่อนภาษีด้วยกองทุน RMF ตอนที่ 1

ลดหย่อนภาษีด้วยกองทุน RMF ตอนที่ 1

โดย  พริ้มพัชร จิรบวรพงศา AFPTTM

ผู้เชี่ยวชาญด้านการวางแผนทางการเงิน

BF Knowledge Center

ปัจจุบันการลดหย่อนภาษีสามารถทำได้ผ่านเครื่องมือการลงทุนที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนประกันชีวิต การลงทุนซื้อบ้าน การลงทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ รวมถึงการลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (Retirement Mutual Fund : RMF) ซึ่งหลายคนคงเคยได้ยินชื่อกองทุน RMF กันมาบ้าง แต่ยังไม่ตัดสินใจลงทุน เพราะทราบมาว่าเมื่อลงทุนแล้วต้องถือครองนานจนถึงอายุ 55 ปีบริบูรณ์ ถึงจะขายคืนหน่วยลงทุนได้

ด้วยเงื่อนไขการลงทุนที่ต้องถือครองนานจนถึงอายุ 55 ปีบริบูรณ์ ทำให้นักลงทุนลังเลที่จะลงทุนในกองทุนรวม RMF  แต่อีกมุมหนึ่งก็อยากแนะนำนักลงทุนว่า ในชีวิตของเราทุกคนล้วนที่เป้าหมายที่แตกต่างกันไป แต่เป้าหมายสำคัญที่ทุกคนควรต้องมีคือ “เกษียณสุข” โดยเป็นเป้าหมายใหญ่ที่ใช้เงินค่อนข้างมาก จึงจำเป็นต้องวางแผนตั้งแต่เนิ่นๆ และมีวินัยในการออม/ลงทุนที่เข้มข้น ซึ่งสอดคล้องกับเงื่อนไขการลงทุนกองทุนรวม RMF ที่ไม่ให้ขายคืนก่อนอายุ 55 ปีบริบูรณ์ เพื่อให้ตรงกับเป้าหมายที่แท้จริงคือ ลงทุนเพื่อเก็บไว้กินใช้ยามเกษียณ

การลงทุนในกองทุนรวม RMF จึงเป็นการลงทุนที่น่าสนใจ เพราะนอกจากจะมีโอกาสได้รับผลตอบแทนจากลงทุนแล้ว ยังได้สิทธิในการลดหย่อนภาษีด้วย โดยข้อดีของกองทุน RMF คือ มีนโยบายการลงทุนให้เลือกหลากหลาย สามารถเลือกให้เหมาะกับความเสี่ยง ระยะเวลาลงทุน สามารถนำมาจัดพอร์ตลงทุนให้เหมาะสมได้ แต่สำหรับนักลงทุนที่ชอบเงินปันผลต้องบอกว่า กองทุน RMF ทุกกองทุนไม่จ่ายเงินปันผล  เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายคือสะสมเงินลงทุนต่อเนื่อง

สำหรับนักลงทุนที่มีข้อสงสัยว่า กองทุนรวม RMF นี้  เมื่อเริ่มต้นลงทุนแล้ว ต้องลงทุนต่อเนื่องไม่หยุด ยาวๆ ไปจนถึง 55 ปี  และต้องลงทุนเท่ากันทุกปีเหมือนส่งเบี้ยประกันหรือเปล่า? ในส่วนนี้อยากอธิบายให้เข้าใจง่ายๆ ด้วยหลักการ 55-5-5 

55 หมายถึงต้องลงทุนต่อเนื่องไปเรื่อยๆ จนถึงอายุ 55 ปีบริบูรณ์ ความจริงคือ ลงทุนแบบปีเว้นปีได้ แต่ข้ามเว้น 2 ปีติดต่อกันจะทำให้ผิดเงื่อนไข ดังนั้น ในการลงทุนจึงแนะนำให้ผู้ลงทุนใช้บริการลงทุนอัตโนมัติ เรียกว่า การลงทุนแบบ Dollar Cost Averaging : DCA (บาง บลจ.ก็อาจมีชื่อเรียกแตกต่างกันไป) โดยขั้นต่ำในการลงทุนของ RMF คือ 3% ของเงินได้พึงประเมินหรือ 5,000 บาท “ต่อปี” ซึ่งถ้าใช้บริการ DCA ขั้นต่ำของหลายๆ ที่คือ 500 บาท เท่ากับปีหนึ่ง 12 เดือน x 500 บาทต่อเดือน  รวมเป็น 6,000 บาทต่อปี  ซึ่งเกินขั้นต่ำที่กำหนด

ส่วนคำถามที่ว่า เหมือนส่งเบี้ยประกันไหม? ที่ต้องจ่ายเท่ากันทุกปี!!! ตอบไปแล้วครึ่งหนึ่งคือ ซื้อปีเว้นปีได้แต่ไม่แนะนำ ส่วนต้องเท่ากันทุกปีไหม? คำตอบคือ “ไม่ต้อง” แต่ขอให้ขั้นต่ำไม่น้อยกว่า 3% ของเงินได้พึงประเมินหรือ 500,000 บาท  และสูงสุดไม่เกิน 15% ของเงินได้พึงประเมิน

5 ที่สองคือ ลงทุนอย่างน้อย 5 ปีลงทุน คำว่าปีลงทุนคือ (การลงทุนในปีนั้นๆ จะลงทุนครั้งเดียวหรือหลายครั้งในปีนั้น ก็นับว่าเป็น 1 ปีลงทุน) กรณีนี้สำหรับผู้ลงทุนที่ลงทุนตอนอายุมากแล้ว เช่น เริ่มต้นลงทุน RMF ครั้งแรกตอน พ.ศ. 2560 ผู้ลงทุนมีอายุ 53 ปี  จากนั้นซื้อต่อเนื่องไป พ.ศ. 2561 อายุ 54 ปี และ พ.ศ.2562 อายุ 55 ปีตามลำดับ แบบนี้คือถูกเงื่อนไขแรกคือ ลงทุนจนตัวเองอายุ 55 ปีบริบูรณ์ แต่ผิดเงื่อนไข 5 ปีลงทุน เพราะลงทุนแค่ปี 2560 2561 และ 2562 คือ 3 ปีเท่านั้น ดังนั้น กรณีนี้มีหน้าที่ต้องลงทุนต่อในปี 2563 และ 2564 ต่อไป (เว้นไม่ลงทุนปีไหน ก็ไม่นับปีลงทุนให้)

5 สุดท้ายคือ 5 ปีถือครองนับแบบวันชนวัน โดยนับจากการลงทุนใน RMF ครั้งแรก เช่น ซื้อกองทุน RMF ครั้งแรก วันที่ 2 กันยายน 2562 วันที่ 2 กันยายน 2563 ปีหน้าก็นับเป็นปีถือครองที่ 1