เศรษฐกิจสิงคโปร์ไตรมาส 3 ยังไม่ถึงขั้นถดถอย ลุ้นกลับมาฟื้นตัวจากนี้ถึงปี 2020

เศรษฐกิจสิงคโปร์ไตรมาส 3 ยังไม่ถึงขั้นถดถอย ลุ้นกลับมาฟื้นตัวจากนี้ถึงปี 2020

BF Asean Corner

สิงคโปร์เพิ่งจะประกาศตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ออกมา โดยตัวเลขการเติบโตของเศรษฐกิจเมื่อเทียบไตรมาสที่ 3 ปีนี้ กับไตรมาสที่ 3 ปี 2018 เติบโต 0.1% ถือว่าดีกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ว่า ในไตรมาส 3 เศรษฐกิจสิงคโปร์จะเผชิญกับภาวะถดถอยทางเทคนิค

เมื่อไปดูตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาสที่ 3 เทียบกับไตรมาสที่ 2 จะเติบโตอยู่ที่ 0.6% จากที่ไตรมาส 2 เทียบกับไตรมาสแรก หดตัวไป 2.7% ก็ทำให้ตลาดรู้สึกคลายความกังวลใจที่มีต่อเศรษฐกิจสิงคโปร์ เนื่องจากยังไม่ได้เกิดภาวะถดถอยอย่างเช่นที่เคยคาดการณ์

หากย้อนไปดูตัวเลขครึ่งปีแรกของปีนี้ เทียบกับครึ่งปีแรกของปีที่ผ่านมาที่ขยายตัว 4.4% จะพบว่า เศรษฐกิจสิงคโปร์ชะลอตัวลงค่อนข้างมาก อันเป็นผลมาจากผลกระทบของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน ประกอบกับสิงคโปร์พึ่งพิงการส่งออกเป็นหลัก เมื่อเศรษฐกิจโลกชะลอตัว การค้าโลกชะลอตัว จึงได้รับผลกระทบมากที่สุด

อย่างไรก็ดี เมื่อดูรายอุตสาหกรรม จะพบว่า กลุ่มอุตสาหกรรมที่ฉุดรั้งจีดีพีของสิงคโปร์ไว้จะเกี่ยวข้องกับการส่งออก ซึ่งภาคอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบมากที่สุด โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ที่รับผลกระทบจากวงจรธุรกิจอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์โลกซึ่งชะลอตัวอยู่แล้ว และยังมีผลพวงจากสงครามการค้าที่ทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัวมากระทบซ้ำอีก ด้วยเหตุนี้เศรษฐกิจสิงคโปร์จึงชะลอตัวตามไปด้วย

สำหรับความคืบหน้าสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีนนั้น แม้สหรัฐจะมีการยกเลิกขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีน ที่เคยเก็บ 25% เป็น 30% ไป ช่วยให้ตลาดคลายความกังวลระดับหนึ่งแล้ว แต่ก็ยังต้องจับตาเดือน ธ.ค. นี้อีกครั้งที่จะมีการเจรจากันรอบใหม่ เนื่องจากสหรัฐก็ยังไม่ได้ยกเลิกการปรับขึ้นภาษีสินค้าที่จะทำในรอบเดือน ธ.ค.

ด้านนโยบายที่สิงคโปร์ใช้เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจนั้น ในช่วงที่ผ่านมา มีการประชุมธนาคารกลางสิงคโปร์ และได้ปรับนโยบายการเงิน โดยหันมาใช้นโยบายผ่อนคลายเป็นครั้งแรกในรอบ 3 ปีครึ่ง โดยสิงคโปร์นั้นเป็นประเทศที่พึ่งพาการส่งออกเป็นหลัก รูปแบบการใช้นโยบายการเงินของสิงคโปร์ จึงไม่ใช่การปรับขึ้นหรือลดอัตราดอกเบี้ย แต่เป็นการไปปรับอัตราแลกเปลี่ยน ให้มีค่าความชันมากขึ้นหรือน้อยลงแทน ซึ่งในการใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายนั้น สิงคโปร์ก็จะทำให้ค่าความชันของอัตราแลกเปลี่ยนน้อยลง กล่าวคือ ปรับให้อัตราแลกเปลี่ยนอ่อนค่าลงได้มากขึ้นนั่นเอง

ทั้งนี้ หากมองอนาคตของเศรษฐกิจสิงคโปร์ กองทุนบัวหลวงมองว่า การที่เศรษฐกิจของสิงคโปร์ในไตรมาส 2 และไตรมาส 3 เติบโตชะลอลงมาอยู่ที่ 0.1% น่าจะเป็นจุดต่ำสุดแล้ว ดังนั้นจึงอาจมีแนวโน้มกลับมาฟื้นตัวได้ในช่วงไตรมาส 4 นี้ จนถึงปี 2020 โดยคาดว่า เศรษฐกิจสิงคโปร์ปี 2020 น่าจะขยายตัวได้ 1.5-1.6% เนื่องจากประเด็นสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน น่าจะมีพัฒนาการที่ดีขึ้นในปีหน้า