เหตุผลยอดฮิต ที่ไม่คิดลงทุน

เหตุผลยอดฮิต ที่ไม่คิดลงทุน

โดย  พริ้มพัชร จิรบวรพงศา AFPTTM

ผู้เชี่ยวชาญด้านการวางแผนทางการเงิน

BF Knowledge Center

ปัจจุบันประเทศไทยมีวัยทำงานที่มีรายได้ประมาณ 40 ล้านคน โดยเมื่อนำมาเปรียบเทียบกับจำนวนบัญชีกองทุนรวมที่มีอยู่ประมาณ 5 ล้านบัญชี เท่ากับว่ามีสัดส่วนผู้ลงทุนในกองทุนรวมเพียง 12.50% เท่านั้น

หากพิจารณาโดยผิวเผิน อาจคิดว่าคนส่วนใหญ่ไม่สนใจการลงทุน แต่เราไม่อาจสรุปเช่นนั้นได้ เพราะรูปแบบการลงทุนไม่ได้จำกัดอยู่แค่กองทุนรวม หุ้นรายตัว หรือประกันชีวิต บางคนอาจเลือกลงทุนในสลากออมสิน สลากกินไม่แบ่งของรัฐบาล หรือธุรกิจแผงหมูปิ้งก็ได้

“ชีวิตคือการลงทุน” ประโยคนี้เคยเป็นสโลแกนหนึ่งของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งต้องการสื่อสารให้ทราบว่า การลงทุนเป็นเรื่องใกล้ตัวและอยู่ในทุกวินาทีของชีวิต

ยกตัวอย่างง่ายๆ  “การทำงาน” ก็เป็นการลงทุนรูปแบบหนึ่ง ลงทุนแรงกาย ลงทุนแรงใจ ลงทุนค่าพาหนะ ฯลฯ นำมาซึ่งเงินเดือนทุกสิ้นเดือน เงินเดือนนี้เองคือ “ผลตอบแทน” งานดี-เงินดี ก็รู้สึกว่าผลตอบแทนที่คุ้มค่า เป็นต้น

การลงทุนจึงเป็นเรื่องใกล้ตัวที่อยู่ในชีวิตของทุกคน สำหรับมนุษย์เงินเดือน  เชื่อว่าหลายคนต้องรู้จัก “กองทุนรวม” จากการบอกเล่าปากต่อปากว่า มีกองทุนประเภทหนึ่งที่สามารถลดหย่อนภาษีได้ จากประสบการณ์ที่ได้พูดคุยพบว่า หลายคนสนใจลงทุน แต่! ไม่ลงทุน  ด้วยเหตุผลยอดฮิต ดังนี้

ไม่มีความรู้ ไม่รู้จะเริ่มต้นยังไง? 

ข้อแนะนำ : อยากรู้ต้องหาคำตอบ  เพราะความรู้วิ่งมาหาเราเองไม่ได้ ปัจจุบันแหล่งความรู้มีมากมาย แบบที่ไม่เสียเงินก็มีให้ใช้บริการอยู่มาก โดยอาจเริ่มต้นจากค้นหาใน Google เลือกพิจารณาจากแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้ เช่น ตลาดหลักทรัพย์ฯ  Facebook Bualuang Fund  หรือบางคนไม่ชอบอ่านเองก็อาจเข้าร่วมกิจกรรมสัมมนาก็ได้

ภาระเยอะมากให้ลงทุนคงไม่ไหว 

ข้อแนะนำ : ภาระในที่นี้คือ “ภาระทางการเงิน” ภาษาแบบกันเองก็คือ ค่าใช้จ่ายเยอะมาก แค่พอใช้จ่ายยังยาก จะเอาเงินที่ไหนไปลงทุน (เอามือตบบ่าเบาๆ) ก่อนอื่นขอให้ทำบัญชีรายรับ รายจ่าย เพื่อแยกค่าใช้จ่ายจำเป็นและไม่จำเป็นออกจากกัน ค่าใช้จ่ายจำเป็น เช่น ค่าเลี้ยงดูพ่อแม่ ค่าเทอมลูก ค่าอาหาร ฯลฯ ส่วนค่าใช้จ่ายไม่จำเป็นคือ ความบันเทิงต่างๆ หากลดได้แล้วมีเงินเหลือก็ลองนำเงินส่วนนั้นมาจัดสรรเป็นเงินลงทุน แต่หากทั้งหมดคือ ค่าใช้จ่ายจำเป็น (โดยเฉพาะหนี้สิน) ก็แนะนำให้จัดการหนี้สินให้หมดก่อนจะดีกว่า

กลัวลงทุนแล้วขาดทุน ไม่อยากเสี่ยง

ข้อแนะนำ : เราอาจเคยได้ยินคำว่า “การลงทุนคือความเสี่ยง”  แต่ “การไม่ลงทุนเลยก็มีความเสี่ยง”  เพราะสิ่งที่กัดกร่อนมูลค่าเงินลงไปทุกวันคือ เงินเฟ้อ ดังนั้น หากต้องการรักษามูลค่าเงินเพื่อรักษาความมั่งคั่งในกระเป๋าก็จำเป็นต้องรู้จักการลงทุน  อย่างน้อยก็ให้ได้รับผลตอบแทนเท่ากับเงินเฟ้อ (ปัจจุบันเฉลี่ยย้อนหลัง 10 ปี อยู่ที่ประมาณ 3%) ในฐานะผู้ให้คำแนะนำการลงทุน อยากให้มุมมองว่า การลงทุนมีความเสี่ยงก็จริง แต่หากเราลงทุนด้วยความรู้ ความเข้าใจ ก็สามารถใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างผลตอบแทนที่ดีได้

ตลาดผันผวน ถือเงินสดดีกว่าไหม? 

ข้อแนะนำ : ถ้าถามว่าดีกว่าไหม?  ขอตอบว่า “ไม่ทราบ”  แม้คำตอบดูกวนไปนิด แต่คือความจริง เพราะผู้แนะนำการลงทุนทุกคนไม่ใช่ผู้ทำนายอนาคต แต่อยากให้มองคำว่า “ผันผวน” ในสองมุมมอง เพื่อพิจารณาดูว่า เราจะบริหารจัดการมันอย่างไร?

คำว่าผันผวนในมุมลบคือ ขึ้นลงคาดการณ์ไม่ได้  หากซื้อขาขึ้น-ขายขาลงคงขาดทุน   คำว่าผันผวนในมุมบวกคือ ขึ้นลงคาดการณ์ไม่ได้ แต่หากมีความรู้อาจพอคาดเดาแนวโน้มได้ (ใช้คำว่าอาจ) หากซื้อขาลง-ขายขาขึ้นคงกำไรน่าดู

เมื่อพิจารณาจากทั้งสองมุมมองนี้  ลองถามตัวเองดูว่าเราเห็นการลงทุนในมุมไหน?  มองในมุมลบ แนะนำให้ถือเงินสด  มองในมุมบวกแนะนำให้ถือโอกาสทำกำไร