17 เป้าหมาย มุ่งสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน  (Sustainable Development Goals–SDGs)

17 เป้าหมาย มุ่งสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน  (Sustainable Development Goals–SDGs)

by…วนาลี ตรีสัมพันธ์

Fund Management 

แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560-2564) ได้หยิบยก 17 เป้าหมาย เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนมาเป็นประเด็นสำคัญในการวางทิศทางการดำเนินงาน โดยมุ่งหวังให้ทุกภาคส่วนได้ร่วมสร้างสังคมที่เป็นสุข ลดความเหลื่อมล้ำ ขจัดปัญหาความยากจน ส่งเสริมการเป็นเศรษฐกิจสีเขียว ตลอดจนมีการผลิตและบริโภคที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

หลังจากเป้าหมายเดิมซึ่งมุ่งเสริมสร้างมาตรฐานชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน (Millennium Development Goals – MDGs) สิ้นสุดลงเมื่อปี 2015 องค์การสหประชาชาติได้กำหนดเป้าหมายใหม่ที่ต้องการบรรลุในอีก 15 ปีข้างหน้า (2016-2030) จำนวน 17 ข้อ และ 179 จุดมุ่งหมาย เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals –SDGs) สร้างความสมดุลให้เกิดขึ้นในด้านสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม ภายใต้แนวคิด “no one should be left behind “ โดยเป้าหมายทั้ง 17 ข้อนั้น ประกอบไปด้วย

  1. ขจัดความยากจนทุกรูปแบบทุกสถานที่
  2. ขจัดความหิวโหย บรรลุความมั่นคงทางอาหาร ส่งเสริมเกษตรกรรมอย่างยั่งยืน
  3. รับรองการมีสุขภาพ และความเป็นอยู่ที่ดีของทุกคนในทุกช่วงอายุ
  4. รับรองการศึกษาที่เท่าเทียมและทั่วถึง ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตแก่ทุกคน
  5. บรรลุความเท่าเทียมทางเพศ พัฒนาบทบาทสตรีและเด็กผู้หญิง
  6. รับรองการมีน้ำใช้ การจัดการน้ำและสุขาภิบาลที่ยั่งยืน
  7. รับรองการมีพลังงานที่ทุกคนเข้าถึงได้ เชื่อถือได้ ยั่งยืนทันสมัย
  8. ส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ต่อเนื่องครอบคลุมและยั่งยืน การจ้างงานที่มีคุณค่า
  9. พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่พร้อมรับการเปลี่ยนแปลง ส่งเสริมการปรับตัวให้เป็นอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืนและทั่วถึง และสนับสนุนนวัตกรรม
  10. ลดความเหลื่อมล้ำทั้งภายในและระหว่างประเทศ
  11. ทำให้เมืองและการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์มีความปลอดภัยทั่วถึง พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาอย่างยั่งยืน
  12. รับรองแผนการบริโภค และการผลิตที่ยั่งยืน
  13. ดำเนินมาตรการเร่งด่วนเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผลกระทบ
  14. อนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากมหาสมุทรและทรัพยากรทางทะเลเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน
  15. ปกป้อง ฟื้นฟู และส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากระบบนิเวศทางบกอย่างยั่งยืน
  16. ส่งเสริมสังคมสงบสุข ยุติธรรม ไม่แบ่งแยก เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน
  17. สร้างพลังแห่งการเป็นหุ้นส่วน ความร่วมมือระดับสากลต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

นอกจากนี้ยังจัดหมวดหมู่การพัฒนาออกเป็น 5P และ 1D เพื่อให้ง่ายต่อการนำไปปฏิบัติ คือ

  1. Planet ปกป้องทรัพยากรธรรมชาติ ภูมิอากาศ รวมไปถึงโลก เพื่อคนรุ่นหลัง
  2. People แก้ปัญหาความหิวโหยและยากจนทุกรูปแบบ ตลอดจนส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศและเชื้อชาติ
  3. Prosperity สร้างความมั่งคั่ง และชีวิตความเป็นอยู่ที่สงบสุข
  4. Peace สร้างสันติภาพในสังคมโลก
  5. Partnership ส่งเสริมให้ทุกประเทศและประชาชนทุกคนมีส่วนร่วมในการพัฒนา
  6. Dignity รักษาไว้ซึ่งเกียรติและการเคารพซึ่งกันและกัน

ในวันที่ 6 กันยายน 2562 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมประกาศเตรียมเสนอกฎหมายการงดใช้พลาสติกให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา โดยจะเริ่มนำร่องกับกลุ่มผู้ประกอบการค้าปลีกค้าส่ง และร้านสะดวกซื้อจำนวน 43 บริษัทเครือใหญ่ในประเทศไทย อาทิ ห้างเซ็นทรัลฯ เดอะมอลล์ บิ๊กซี เซเว่นอีเลฟเว่น โลตัส เป็นต้น ด้วยการเลิกแจกถุงพลาสติกให้ลูกค้า 100% ที่มาซื้อของตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 เป็นต้นไป  และตั้งเป้าเลิกใช้ทั่วไทยใน 1 มกราคม 2564 เพื่อลดปริมาณขยะพลาสติกที่ทำร้ายสัตว์และสิ่งแวดล้อม ตามข้อมูลล่าสุดจากรายงานของโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) และสถาบันทรัพยากรโลก (WRI) พบว่า มีจำนวน 127 ประเทศทั่วโลก จาก 192 ประเทศที่ทำการสำรวจ มีกฎหมายควบคุมการใช้ การผลิต การขาย และการกำจัดถุงพลาสติก (ข้อมูลนี้นับถึงเดือนกรกฎาคม 2018)

นอกจากการตื่นตัวในระดับประเทศแล้ว ในภาคเอกชนเองนั้นก็ตระหนักถึงความสำคัญและได้รับแนวคิดข้างต้นเหล่านั้นมาใช้เป็นแผนที่นำทางในการบริหารองค์กรด้วยเช่นกัน  ยกตัวอย่างเช่น ธนาคารกรุงเทพ ได้นำเป้าหมาย 12 จาก 17 ข้อข้างต้นมาปรับใช้ในการกำหนดแนวทางการดำเนินธุรกิจ เช่น สนับสนุนทางการเงินแก่ธุรกิจพลังงานทดแทนและโครงการระบบรถไฟฟ้า จัดสอนหลักสูตรพื้นฐานการประกอบธุรกิจให้แก่นักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย รวมไปถึงจัดซื้อวัสดุและอุปกรณ์ที่ได้รับฉลากรับรองว่าเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อีกหนึ่งตัวอย่างก็คือ บริษัทปูนซิเมนต์ไทย ซึ่งวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการใช้พลังงานทดแทนโดยใช้แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนเป็นกลยุทธ์หลัก นำพลังงานเหลือทิ้งในกระบวนการผลิตกลับมาใช้เป็นประโยชน์ ติดตั้งระบบบำบัดน้ำเทคโนโลยีสูงเพื่อนำน้ำกลับมาใช้งาน ทั้งใช้ภายในโรงงานและส่งมอบให้ชุมชนภายนอก ตลอดจนพัฒนาสินค้าและบริการที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

ข้างต้นเป็นเพียงตัวอย่างส่วนน้อยที่ยกอ้างขึ้นมา ยังมีอีกหลายบริษัทได้นำและกำลังพิจารณาจะนำเป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนเหล่านี้มาเป็นแผนที่นำทางการดำเนินธุรกิจ เพราะนอกจากจะช่วยสร้างผลตอบแทนที่ยั่งยืนแล้ว ยังช่วยลดความเสี่ยงด้านการเงิน การเสียชื่อเสียง ช่วยส่งเสริมสังคมให้ดำรงอยู่และเติบโต สุดท้ายแล้วก็จะนำมาซึ่งความยั่งยืนที่จะเกิดขึ้นแก่บริษัทเอง

ในส่วนของแต่ละบุคคลนั้น แม้เราจะไม่ปรับตัว แต่ผู้ประกอบการรอบข้างรวมถึงสังคมจะบังคับให้เราต้องปรับตัวเอง ต่อไปเราคงต้องพกถุงผ้าไปซื้อของถ้าไม่อยากเสียเงินซื้อถุงพลาสติก ใช้แปรงสีฟันที่ด้ามจับทำจากไม้ไผ่ หรือใส่เสื้อผ้าที่ทำมาจากขวดพลาสติกรีไซเคิลนั่นเอง