กองทุนเปิดบัวหลวงหุ้นเอเชีย (B-ASIA) กองทุนเปิดบัวหลวงหุ้นเอเชียเพื่อการเลี้ยงชีพ (B-ASIARMF)

กองทุนเปิดบัวหลวงหุ้นเอเชีย (B-ASIA) กองทุนเปิดบัวหลวงหุ้นเอเชียเพื่อการเลี้ยงชีพ (B-ASIARMF)

กองทุนหลัก (Master Fund)

ชื่อ:  Invesco Asian Equity Fund ชนิดหน่วยลงทุน Class C (AD) USD

นโยบายการลงทุน: เน้นลงทุนในหุ้นของบริษัทหรือนิติบุคคลอื่นใดที่มีลักษณะ ดังนี้ 1.) จดทะเบียนในประเทศภูมิภาคเอเชีย 2.) จดทะเบียนในประเทศที่อยู่นอกภูมิภาคเอเชียแต่ดำเนินธุรกิจหลักในภูมิภาคเอเชีย 3.) บริษัทโฮลดิ้งที่มีการลงทุนหลักในบริษัทที่จดทะเบียนในประเทศภูมิภาคเอเชีย ทั้งนี้ การลงทุนในแถบภูมิภาคเอเชียดังกล่าวไม่รวมถึงประเทศญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์

วันจดทะเบียน: 10 ก.ย. 2018 (สำหรับ Share Class ใหม่)

ประเทศที่จดทะเบียน: ลักเซมเบิร์ก

สกุลเงิน: USD

เกณฑ์วัดผลการดำเนินงาน (Benchmark): MSCI AC Asia (ex Japan) Index Net TR USD

Morningstar Category: Asia ex Japan Equity

Morningstar Rating: 4 Stars

Bloomberg (A): INVASCAD LX

Fund Size: 0.93 Billion USD (ข้อมูล ณ 30 ก.ย. 2019)

สรุปภาวะตลาดหุ้นเอเชีย 

เหตุการณ์สำคัญที่ส่งผลให้ตลาดหุ้นเอเชียปรับตัวลงในช่วงไตรมาส 3 ได้แก่ การที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐ ประกาศจะปรับคิดภาษีบนสินค้านำเข้าจากจีนเพิ่มเติมในช่วงต้นเดือน ส.ค. รวมถึงความกังวลด้านเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจในภูมิภาค หลังอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวของสหรัฐปรับลดลงต่ำกว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้น (Inverted Yield Curve) หรือแม้กระทั่งตัวเลขทางเศรษฐกิจและภาคการผลิตในภูมิภาคเอเชียเองที่อ่อนแรงลงต่อเนื่อง ทั้งหมดทั้งมวล ส่งผลให้ดัชนี MSCI Asia ex Japan ในไตรมาส 3 ปรับตัวลดลง -3.86% เทียบกับตลาดหุ้นโลกที่เพิ่มขึ้น +0.66%

อย่างไรก็ตาม ภาพตลาดหุ้นนับตั้งแต่เดือน ต.ค. นั้นต่างออกไป ด้วยพัฒนาการที่ดีขึ้นของการเจรจาทางด้านการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน ที่ใกล้จะบรรลุข้อตกลงเฟสแรกร่วมกันได้ รวมถึงการผ่อนคลายของนโยบายการเงินจากธนาคารกลางหลักและธนาคารกลางภายในภูมิภาค โดยเฉพาะ FED ที่ ปีนี้ตัดสินใจปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายมาแล้วถึง 3 ครั้ง ท่ามกลางความเสี่ยงจากพัฒนาการเศรษฐกิจโลกและแรงกดดันเงินเฟ้อที่อ่อนแอ ส่งผลให้ดัชนี MSCI Asia ex Japan ณ สิ้นเดือน ต.ค. ปรับตัวเพิ่มขึ้น +4.55% จากเดือน ก.ย. เป็นการเพิ่มขึ้นในเกือบทุกอุตสาหกรรมนำโดย กลุ่มเฮลธ์แคร์ กลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือย และกลุ่มเทคโนโลยี

ในด้านกระแสเงินทุน ตั้งแต่ช่วงเดือน ก.ย. เห็นการกลับเข้าไปลงทุนในตลาดหุ้นกลุ่มเอเชียเหนือมากขึ้น จากมูลค่าหุ้นของตลาดเอเชียเหนือที่ปรับตัวลงมาค่อนข้างมาก ผนวกกับการกลับเข้าไปลงทุนในหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีในไต้หวันและเกาหลีใต้อีกครั้ง จากความคาดหวังว่าวัฏจักรอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว และผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในอินเดียที่ออกมาดีกว่าที่ตลาดคาดการณ์

สรุปภาพรวมการลงทุนและกลยุทธ์ของกองทุนหลัก

ผลการดำเนินงานกองทุนหลัก ณ สิ้นเดือน ก.ย. 2019 ลดลง -5% (เมื่อคิดเป็นสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ) ตามสถานการณ์ของตลาด และปรับลดลงมากกว่าเกณฑ์มาตรฐานที่ -4.5% โดยผู้จัดการกองทุนยังคงเน้นแสวงหาผลตอบแทนจากบริษัทที่ราคาหุ้นต่ำกว่าระดับที่ควรจะเป็น (Fair Value) และบริษัทที่มีระดับมูลค่าตลาดเหมาะสม โดยเฉพาะบริษัทที่มีสถานะการเงินที่แข็งแกร่งและมีความได้เปรียบในเชิงการแข่งขันในอุตสาหกรรม และเข้าลงทุนในหุ้นที่คาดว่าจะได้ผลตอบแทนรวมมากกว่า 10% ภายในระยะเวลา 3 ปี  โดยที่ชื่นชอบกลุ่มบริษัทที่เกี่ยวข้องกับการบริโภคในประเทศจีนเป็นพิเศษ แต่จะเลือกลงทุนในบริษัทที่ไม่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากสงครามการค้า อนึ่ง ความเคลื่อนไหวของพอร์ตการลงทุนในช่วงที่ผ่านมา เป็นดังนี้

  • กองทุนเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในตลาดหุ้นอินเดีย โดยเห็นโอกาสการลงทุนมากขึ้นในหุ้นขนาดกลาง-เล็กของอินเดีย กองทุนเริ่มเข้าลงทุนในบริษัทผู้ผลิตรถยนต์และบริษัทการเงินที่เน้นปล่อยกู้ให้กับรถยนต์ที่ใช้ในเชิงพาณิชย์ ด้วยการจัดการด้านต้นทุนที่ดีและงบดุลที่แข็งแกร่ง
  • หุ้นกลุ่มสถาบันการเงินยังเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่กองทุนเข้าไปลงทุนมากที่สุด และมีสัดส่วนการลงทุนมากกว่าเกณฑ์มาตรฐาน  แต่เป็นการเลือกลงในบางสถาบันการเงินหรือบริษัทประกันที่ปัจจัยพื้นฐานยังคงแข็งแกร่ง โดยในไตรมาส 3 ราคาหุ้นของกลุ่มสถาบันการเงินได้รับผลกระทบเชิงลบจากสภาวะอัตราดอกเบี้ยขาลงที่จะส่งผลลบต่อความสามารถในการทำกำไร ทั้งนี้ ในไตรมาสที่ผ่านมากองทุนมีการลดสัดส่วนการลงทุนในธนาคารพาณิชย์ของจีน
  • กองทุนมีสัดส่วนการลงทุนในหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีมากเป็นอันดับ 2 และสามารถสร้างผลตอบแทนให้กับกองทุนได้มากที่สุดในช่วงไตรมาส 3 จากการฟื้นตัวของวัฎจักรเซมิคอนดักเตอร์ และอุปสงค์ที่มีต่อผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับ 5G ได้เร่งตัวขึ้น รวมถึง ราคาหุ้นของกลุ่มบริษัทอินเทอร์เน็ตในจีนที่เพิ่มขึ้นโดยเฉพาะ Netease ที่ได้รับประโยชน์จากการขาย Koala ธุรกิจ E-Commerce ซึ่งเป็นหน่วยธุรกิจที่ไม่กำไรไปให้กับ Alibaba ทั้งนี้ กลุ่มบริษัทอินเทอร์เน็ตในจีนยังคงน่าสนใจที่จะเข้าไปลงทุนด้วยความสามารถในการสร้างรายได้และกระแสเงินสดที่ดี
  • กองทุนให้น้ำหนักการลงทุนในตลาดหุ้นเกาหลีใต้มากกว่าเกณฑ์มาตรฐาน (กองทุนหลักมีสัดส่วนการลงทุนในตลาดหุ้นเกาหลีใต้ 20% ซึ่งมากกว่าเกณฑ์มาตรฐาน 6.1%)  โดยมองว่าการฟื้นตัวของวัฏจักรเซมิคอนดักเตอร์จะช่วยทั้งด้านผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน การส่งออก และเศรษฐกิจของประเทศได้ นอกจากนั้น สถานการณ์ของเศรษฐกิจและตลาดหุ้นน่าจะดีขึ้นจากการที่รัฐบาลเริ่มออกมาตรการเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมถึง พัฒนาการทางด้าน Corporate Governance ของบริษัทจดทะเบียน
  • กองทุนให้น้ำหนักการลงทุนในจีนและฮ่องกงน้อยกว่าเกณฑ์มาตรฐาน (Underweight) ด้วยโมเมนตัมทางเศรษฐกิจที่อ่อนแรงลง โดยลดการลงทุนในภาคธนาคารของจีนและภาคอสังหาริมทรัพย์ของฮ่องกง

ผลการดำเนินงานย้อนหลังของกองทุน (ณ วันที่ 30 ก.ย. 2019)

ตัวอย่างของบริษัทที่กองทุนเข้าไปลงทุน (ร้อยละของ NAV ณ วันที่ 30 ก.ย. 2019)

1.) Samsung Electronics Co Ltd (7.57%, เกาหลีใต้)

บริษัทอิเล็กทรอนิกส์ข้ามชาติของเกาหลีใต้ เป็นบริษัทเทคโนโลยีสารสนเทศอันดับสองของโลก ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์หลายรายการ และเป็นผู้ผลิตโทรทัศน์รายใหญ่ที่สุดของโลกตั้งแต่ปี 2006 รวมทั้งเป็นผู้ผลิตโทรศัพท์มือถือรายใหญ่ที่สุดในโลก แซงหน้า Apple inc. ตั้งแต่ปี 2011 กำไรจากการดำเนินงานของบริษัทในช่วงไตรมาส 3 ยังคงลดลง 56% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า แต่เพิ่มขึ้นได้ +18% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า โดยบริษัทยังคงได้รับผลกระทบจากวัฎจักรขาลงของตลาด Memory Chip

อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่ต้นปี 2019 ราคาหุ้นของ Samsung ปรับเพิ่มขึ้น 30% ตาม Sentiment ของตลาดที่ดีขึ้นกว่าในปีก่อนหน้า รวมถึงปัจจัยบวกจากการที่ Huawei ตกเป็นเป้าโจมตีจากสหรัฐ ซึ่งอาจทำให้ผู้บริโภคหันมาซื้อสินค้าของ Samsung เพิ่มขึ้น และอุปสงค์ต่อ Memory Chip ที่ดีขึ้นทำให้บริษัทสามารถผ่องถ่ายสินค้าคงคลังออกไปได้ อีกทั้ง นักลงทุนคาดว่าวัฎจักรของ Memory Chip ได้ผ่านพ้นจุดต่ำสุดไปแล้ว และน่าจะฟื้นตัวได้ตั้งแต่ช่วงปีหน้า นอกจากนั้น การพัฒนาทางด้านนวัตกรรมของ Samsung จะช่วยหนุนการเติบโตเป็นไปอย่างยั่งยืนในอนาคต

2.) Taiwan Semiconductor Co Ltd (5.52%; ไต้หวัน)

บริษัทผลิตชิ้นส่วนเซมิคอนดักเตอร์รายใหญ่ที่สุดของโลก มีฐานการผลิตทั้งในจีน สหรัฐ แคนาดา ญี่ปุ่น อินเดีย และเกาหลีใต้ ราคาหุ้น TSMC ฟื้นตัวขึ้นมาแล้วกว่า 30% นับตั้งแต่ช่วงต้นปี หนุนโดยรายได้ที่ขยายตัวโดยเฉพาะจากจีน แม้ว่าอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์โดยรวมต้องเผชิญกับวัฏจักรขาลงก็ตาม

ทั้งนี้ TSMC เตรียมเริ่มการผลิตชิป 5 นาโนเมตรในช่วงต้นปีหน้า ซึ่งคาดว่าจะเป็นที่ต้องการบริษัทที่พัฒนาเรื่อง Smartphone และ 5G ด้วยความที่ชิป 5 นาโนเมตรมีขนาดเล็กลงแต่มีประสิทธิภาพสูงขึ้น อีกทั้ง ในระยะยาว TSMC ยังคงมีแนวโน้มที่ดีจากอุปสงค์ต่อ High-end Smart Phone ที่ยังขยายตัวได้ รวมถึงการใช้ Memory Chip ในการทำ Machine Learning ของ AI โดยผู้บริหารคาดว่าอัตราการเติบโตของรายได้บริษัทในช่วงปีข้างหน้าจะอยู่ที่ประมาณ 5-10% โดยเฉลี่ยต่อปี

อย่างไรก็ตาม กองทุนยังไม่เพิ่มการลงทุนใน TSMC ในช่วงนี้ด้วยระมัดระวังประเด็นที่ว่าบริษัทอาจตกเป็นเป้าหมายในการกีดกันด้านการค้าจากสหรัฐ ด้วยเหตุเพราะบริษัทเป็นหนึ่งใน Supply Chain ให้กับ Huawei

3.) United Overseas Bank Ltd (3.21%; สิงคโปร์)

ธนาคารที่มีขนาดสินทรัพย์ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 3 ในภูมิภาคอาเซียน โดยให้บริการทางด้านการเงินในรูปแบบที่หลากหลายโดยมีการดำเนินงานในหลากหลายประเทศของเอเชีย ในช่วงไตรมาส 3 UOB ยังสามารถเติบโตได้อย่างแข็งแกร่งโดยเฉพาะรายได้ค่าธรรมเนียมด้วยการขยายตัวของธุรกิจทางด้าน Wealth Management ที่โดดเด่น และการขยายตัวของสินเชื่ออย่างมีเสถียรภาพ แม้ว่าการปล่อยสินเชื่อบ้านจะลดลงในช่วง 2 ไตรมาสที่ผ่านมา

ขณะที่ มีความได้เปรียบที่เหนือคู่แข่ง ได้แก่ เป็นธนาคารที่ได้รับผลกระทบจากการปรับลดของอัตราดอกเบี้ยสหรัฐน้อยที่สุดในบรรดาธนาคารสิงคโปร์ด้วยกัน ด้วยมีสัดส่วนเงินกู้ที่เป็นดอลลาร์สหรัฐน้อยกว่าคู่แข่ง รวมถึง มีการดำเนินธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับและได้รับผลกระทบจากการประท้วงในฮ่องกงเป็นสัดส่วนไม่มาก นอกจากนั้นด้วยอัตราส่วนเงินปันผลตอบแทน (Dividend Yield) ที่ประมาณ 3.9% ทำให้หุ้นของ UOB เป็นที่น่าสนใจ

มุมมองจากผู้จัดการกองทุนหลัก Invesco Asian Equity Fund

Invesco คาดว่า ตลาดหุ้นเอเชียในช่วงต่อจากนี้จะยังคงเผชิญกับความผันผวน ด้วยความเสี่ยงทางด้านสงครามการค้าที่ยังคงไม่จบสิ้น และประเด็นดังกล่าวจะเข้ามากระทบกับทิศทางของตลาดเป็นระยะๆ อย่างไรก็ตามการที่ตลาดเกิดความผันผวนนั้นได้สร้างโอกาสสำหรับการเข้าลงทุน โดยเฉพาะในหุ้นของบริษัทที่มีพื้นฐานแข็งแกร่งที่มูลค่าหุ้นต้องถูกลดทอนลงตาม Sentiment ของตลาด โดยผู้จัดการกองทุนชื่นชอบกลุ่มบริษัทที่เกี่ยวข้องกับการบริโภคในประเทศจีน ซึ่งยังมีโอกาสในการเติบโตได้อีกมากโดยเฉพาะจากการบริโภคของกลุ่มเมืองรองที่เริ่มจะตีตื้นกลุ่มเมืองหลัก จากการเติบโตของรายได้และการขยายตัวของสังคมเมือง (Urbanization) ออกไปยังเมืองรองต่างๆ

ทั้งนี้ มูลค่าของตลาดหุ้นเอเชียนั้นมีความน่าสนใจลดลงเมื่อเทียบกับเมื่อช่วงต้นปีจากดัชนีที่ปรับเพิ่มขึ้นมามากกว่า 7% อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณามูลค่าหุ้นจากราคาหุ้นต่อมูลค่าทางบัญชี (Price to Book Value) ของตลาดเอเชียที่ 1.6 เท่า และมูลค่าหุ้นเมื่อวัดจาก Price to Earning Ratio ที่ 14.1เท่า ถือว่ายังคงอยู่ในระดับต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในอดีตและต่ำกว่าตลาดหุ้นโลก โดยนักวิเคราะห์คาดการณ์การเติบโตของอัตรากำไรต่อหุ้นของบริษัทจดทะเบียนในภูมิภาคเอเชียในปีนี้ที่ระดับ 2.2% จากต้นปีที่คาดไว้ที่ 7.3% ทำให้การลงทุนเป็นไปแบบระมัดระวัง

ส่วนมุมมองในปีหน้า Invesco มองว่าการเติบโตของอัตรากำไรต่อหุ้นจะอยู่ที่ราว 10% โดยได้แรงหนุนจากวัฏจักรของเซมิคอนดักเตอร์ที่ฟื้นตัวทำให้ตลาดหุ้นเกาหลีฟื้นตัวและกลุ่มอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องมีความสามารถในการทำกำไรได้ดีขึ้นเมื่อเทียบกับปีนี้

อย่างไรก็ตาม แม้เศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียจะแนวโน้มไม่สดใสเท่าที่ควร แต่ยังคงเชื่อว่าในช่วงเวลาต่อจากนี้ไปภูมิภาคเอเชียจะเป็นภูมิภาคที่ช่วยขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจโลกด้วยปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแกร่งทั้งในระดับประเทศและระดับธุรกิจ

ผู้จัดการกองทุนเชื่อว่าบริษัทจดทะเบียนในภูมิภาคเอเชียมีแนวโน้มที่จะมีงบดุลที่แข็งแกร่ง และสามารถสร้างกระแสเงินสดได้จากการระมัดระวังในการใช้เงินทุน อีกทั้ง Invesco เชื่อว่าเอเชียจะเป็นหนึ่งในภูมิภาคที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจได้ดีในช่วงทศวรรษข้างหน้า หนุนโดยการบริโภคจากการเพิ่มขึ้นของรายได้ ประกอบกับการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมภายในภูมิภาคจะสร้างโอกาสทางด้านการลงทุนให้แก่นักลงทุนได้